xs
xsm
sm
md
lg

แปลงแท็บเล็ตครูแม่ฮ่องสอนเป็นกล้องจุลทรรศน์ด้วย "เลนส์มิวอาย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อนุรักษ์ ยะมงคล กับแท็บเล็ตของเขาที่เปลี่ยนเป็นกล้องจุลทรรศน์ได้ด้วยชุดเลนส์มิวอาย
ขณะที่เลนส์กล้องจุลทรรศน์ของโรงเรียนขึ้นราจนเหลือใช้งานไม่กี่ตัว "เลนส์มิวอาย" ผลพวงจากของเล่นในแล็บวิจัยไทยได้แปลงร่างแท็บเล็ตของครูคนหนึ่งจากโรงเรียนแม่ฮ่องสอนให้กลายเป็นกล้องจุลทรรศน์ที่บันทึกภาพตัวอย่างสิ่งที่ศึกษาได้


แม้จะเป็นครูฟิสิกส์แต่ อนุรักษ์ ยะมงคล จากโรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีนักเรียนทั้งหมด 360 คน ต้องสอนวิทยาศาสตร์ทั่วไปให้แก่นักเรียน ม.ต้นด้วย ซึ่งทำให้เขาได้เห็นปัญหาถึงความไม่พร้อมของอุปกรณ์การเรียนวิทยาศาสตร์ เนื่องจากขาดการสนับสนุนทั้งอุปกรณ์และงบประมาณ

ส่วนอุปกรณ์สำหรับสอนระดับพื้นฐานอย่างกล้องจุลทรรศน์จำนวนมากของโรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ใช้งานไม่ได้เนื่องจากเลนส์ขึ้นรา เหลือใช้งานได้เพียง 3-4 ตัว

อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่มีราคาแพง 10,000-20,000 บาท เป็นเหตุให้อนุรักษ์แก้ปัญหาด้วยการดึงการทดลองจากยูทิวบ์มาให้นักเรียนดู ซึ่งมีข้อเสียที่ทำให้เด็กขาดประสบการณ์ตรง แต่ก็ดีกว่าสอนโดยใช้ "แล็บแห้ง" ที่เด็กมองไม่เห็นภาพ

โอกาสหนึ่งที่เข้ามาทดแทนการขาดแคลนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของโรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์คือการเป็นหนึ่งในโรงเรียนของโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ จึงได้รับมอบชุดอุปกรณ์พร้อมเลนส์มิวอาย อุปกรณ์ที่ช่วยเปลี่ยนแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัล จากการสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการบัวหลวงเพื่อมิวอาย

สำหรับเลนส์มิวอายเป็นผลงานของทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ หน่วยวิจัยอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยชุดเลนส์ที่มอบให้โรงเรียนประกอบด้วยเลนส์ 3 ขนาด ได้แก่ กำลังขยาย 25 เท่า 50 เท่า และ 100 เท่า พร้อมฐานรองรับวัตถุแบบประกอบด้วยตัวเอง

อนุรักษ์พร้อมด้วยครูวิทยาศาสตร์ทั่วไปและครูคอมพิวเตอร์ได้รับคัดเลือกจากโรงเรียนเข้าอบรมการใช้งานเลนส์มิวอาย พร้อมๆ กับตัวแทนครูจาก 12 โรงเรียนในโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ จากการใช้งานเลนส์มิวอายเขาเห็นข้อดีกว่าการใช้กล้องจุลทรรศน์ธรรมดาตรงที่บันทึกภาพและคลิปได้ทันที ไม่ต้องวาดภาพบันทึกสิ่งที่เห็น แม้เทียบความละเอียดจะไม่เท่ากล้องจุลทรรศน์ แต่ก็ให้รายละเอียดเพียงพอสำหรับการศึกษาในเบื้องต้น

ด้าน นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายกลาง ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า การสนับสนุนโครงการนี้เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และจุดประกายให้นักธุรกิจเห็นช่องทางการผลิตเพื่อจำหน่ายแก่โรงเรียนที่อื่นๆ สนใจ หรือเพื่อการประยุกต์ใช้ในวงการอื่น เช่น การส่องพระเครื่อง การส่องเพชร

นอกจากนี้โรงเรียนอื่นที่สนใจชุดเลนส์มิวอายสามารถลงทะเบียนและดาวน์โหลดแบบฟอร์มสมัครเข้าโครงการได้ที่เว็บไซต์ http://fic.nectec.or.th หรือ แฟนเพจเฟซบุ๊ก MuEye โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่โรงเรียนที่ระบมอบชุดเลนส์ต้องส่งผลงานภาพถ่ายจากเลนส์เข้าประกวดในโครงการภายใต้หัวข้อ "ชีวิตเล็กๆ ผ่านมิวอาย ตอนสิ่งมีชีวิตในน้ำ"
ครูแม่ฮ่องสอนทดสอบการใช้เลนส์มิวอาย
ตัวแทนครูจากโรงเรียนในแม่ฮ่องสอนทดสอบใช้เลนส์มิวอา
ภาพสาหร่ายหางกระจอกมองผ่านเลนส์มิวอาย
ฐานรองวัตถุ และกล่องบรรจุเลนส์มิวอายที่สามารถประกบบนเลนส์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้
วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น