xs
xsm
sm
md
lg

เซรามิกรูพรุนหยอดน้ำมันตะไคร้ไล่ "ไรผึ้ง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซรามิกรูพรุนสำหรับบรรจุน้ำมันตะไคร้ถูกพัฒนาขึ้นด้วยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
แก้ปัญหา "ไรผึ้ง" คุกคามรังผึ้งพันธุ์ด้วย "เซราพอร์" เซรามิกรูพรุนประสิทธิภาพสูงควบคุมการระเหยน้ำมันตะไคร้หอม ภูมิปัญญานักวิจัยไทย หลังเกษตรกรประสบปัญหาไรบุกจนต้องใช้สารเคมี ทำน้ำผึ้งปนเปื้อนจนยุโรปไม่รับซื้อ

ดร.กิติพงษ์ คงพินิจบรรจง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือผลิตน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งส่งออกไปขายยังต่างประเทศถึงปีละเกือบหมื่นตัน แต่ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป เพราะมีการตรวจพบปริมาณสารเคมีปนเปื้อนในปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน

ที่เป็นเช่นนั้น ดร.กิติพงษ์ ระบุว่า เป็นเพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการระบาดของ "ไรวารัว" หรือ "ไรผึ้ง" ตามภาษาชาวบ้าน ที่มักกัดกินตัวผึ้ง และทำลายตัวอ่อนผึ้งจนทำให้รังผึ้งพันธุ์และผึ้งในรังอ่อนแอจนผลิตน้ำผึ้งได้ไม่เท่าที่ควร และที่ร้ายไปกว่านั้นคือไรชนิดนี้ยังนำเชื้อรามาสู่รังทำให้ตัวอ่อนที่อยู่ในรังผึ้งมีโอกาสเน่าตายยกรัง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจำเป็นต้องนำสารเคมีกำจัดไรมาใช้ เพราเป็นวิธีที่ให้ผลชะงัดมากกว่าวิธีอื่น

"ไรวารัวเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของผึ้งพันธุ์ ตัวมันจะเล็กๆประมาณครึ่งหนึ่งของมดแต่จะมีสีแดงสังเกตง่าย ถ้าชาวบ้านเขาเจอก็จะเทยาฆ่าแมลงใส่ฝาขวดน้ำหรือถ้วยเล็กๆ แล้ววางเข้าไปในลังเลี้ยงผึ้งให้ยามันค่อยๆ ระเหยจนไรหนีไป ซึ่งได้ผลดีแต่ปัญหาคือน้ำผึ้งมีการปนเปื้อน จนพักหลังยุโรปตีกลับเลย เราจึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีไล่ไรใหม่ๆ แบบที่ไม่ใช้สารเคมีมาช่วยชาวบ้าน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ "เซราพอร์" เซรามิกชนิดใหม่ที่ใช้คู่กับน้ำมันตะไคร้เพื่อกำจัดไรผึ้ง ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)" ดร.กิติพงษ์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เซรามิกรูพรุนสำหรับกำจัดไรผึ้ง เป็นเซรามิกชนิดพิเศษ ที่พัฒนาขึ้นใหม่ให้มีคุณสมบัติดีกว่าเซรามิกทั่วไป ตรงที่มีความพรุนมาก ทำให้สามารถเก็บกักและควบคุมการระเหยของของเหลวได้นานขึ้นกว่าเดิม 1-2 เท่า เช่น จากฝาแบบเดิมที่สามารถกักน้ำมันตะไคร้หอมได้เพียง 3-7 วัน แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเซรามิกจะสามารถปล่อยน้ำมันตะไคร้ได้นานถึง 1-2 สัปดาห์ต่อการเติมน้ำมันตะไคร้ 1 ครั้ง ช่วยเกษตรกรประหยัดและไล่ผึ้งได้ 100% โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

"ถ้าเราเฉือนดูข้างในเราจะเห็นโครงสร้างเหมือนหลอดเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด นั่นเป็นจุดเด่นของเซรามิกตัวนี้ เพราะการมีรูพรุนจะทำให้การระเหยของสารช้าลง ชาวบ้านก็ไม่ต้องเสียเงินเติมสารมากๆ เพราะราคาก็ถูกต้นทุนอยู่ที่ชิ้นละ 10 บาท หนึ่งลังเลี้ยงก็ใช้เพียงแค่ 3-4 ก้อนตามความเหมาะสม เวลาใช้ก็แค่หยอดน้ำมันตะไคร้ลงไปจนเต็ม เมื่อระเหยหมดก็เห็นง่ายเพราะจะเปลี่ยนจากสีเหลืองกลับไปเป็นสีขาว แถมยังรีไซเคิลได้เพียงแค่นำกลับมาเผาอีกครั้ง ส่วนอายุการใช้งานก็ใช้ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะทำตกแตก"

ด้าน ดร.อุไรวรรณ อินต๊ะถา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เหตุที่ต้องใช้น้ำมันตะไคร้คู่กับเซรามิกเพราะเป็นกลิ่นสมุนไพรที่วิจัยแล้วว่าไล่ไรได้ดีที่สุด โดยไล่ได้อย่างสมบูรณ์ 100% จากการทดสอบประสิทธิภาพกับสมุนไพรอีกหลายๆ ชนิด เช่น มะกรูด, อบเชย หรือกระเพรา และที่สำคัญกลิ่นฉุนของตะไคร้ยังไล่ต่อที่เป็นศัตรูของผึ้งได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้มีเกษตรกรบางส่วนใน จ.เชียงใหม่ มาขอรับผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้และได้ประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจจนไม่ต้องใช้สารเคมีไล่ไรเหมือนที่ผ่านมา

"สำหรับตัวเซรามิกเราค่อนข้างพอใจแล้ว ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและรูปลักษณ์ แต่ถ้าสามารถลดต้นทุนได้มากกว่านี้ก็จะช่วยชาวบ้านได้อีก ส่วนตัวน้ำมันตะไคร้หอมมันช่วยไล่ไรได้ก็จริง แต่ปัญหาสำคัญคือตอนนี้เรายังต้องใช้ของนำเข้า ซึ่งมีราคาแพงมาก ตกลิตรละหลักพัน เพราะในประเทศยังไม่มีใครสกัดน้ำมันตะไคร้ที่ไม่ใช่น้ำมันตะไคร้หอม ที่มีความบริสุทธิ์ 100% ในลักษณะนี้ออกจำหน่าย หากเป็นไปได้เราก็อาจจะดำเนินการในส่วนนี้ด้วย" ดร.อุไรวรรณกล่าว
ใช้วางในลังเลี้ยงผึ้ง ลังละ 3-4 อัน
เซรามิกรูพรุนมาพร้อมกับน้ำมันตะไคร้สกัด
เซรามิกถูกบรรจุไว้ในถ้วยกระเบื้องทรงกระบอกอีกครั้งเพื่อกันการหกของน้ำมันตะไคร้ และเมื่อเวลาบรรจุน้ำมันจะมีสีเหลืองชัดเจนทำให้ง่ายต่อการสังเกต
ใช้วางในลังเลี้ยงผึ้ง ลังละ 3-4 อัน
กลิ่นน้ำมันตะไคร้เป็นกลิ่นที่ผึ้งชอบ และยังมีความฉุนช่วยไล่ต่อที่เป็นศัตรูของผึ้งได้ในตัว
ไรวารัว มีสีแดงขนาดเล็ก มักแฝงอยู่ตามรังผึ้ง เป็นศัตรูอันดับ 1 ของผึ้ง
ดร.กิติพงษ์ คงพินิจบรรจง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่









กำลังโหลดความคิดเห็น