ปิดโซเชียล วางโทรศัพท์ จับไฟฉาย แล้วสวมวิญญาณนักปักษีมือใหม่ลุยสวนจตุจักร .. สัมผัสประสบการณ์ชมนกกลางเมืองยามค่ำคืนกับกิจกรรม Bird night watch โดยสมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทย ส่วนจะเจอนกกลางคืนชนิดใด ? จะลำบากหรือสนุกสนานแค่ไหน ? ติดตามได้ที่นี่
นอกจากนกกระจอก นกพิราบและนกเขา คนกรุงเทพอย่างเราเคยได้เห็นนกอะไรอีกบ้าง ? ถ้านึกไม่ออกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกวันนี้นอกจากจอสมาร์ทโฟน ตึกสูงระฟ้า ห้างสรรพสินค้าและรถติดการได้อยู่ใกล้ธรรมชาติก็ดูจะเป็นเรื่องยากเต็มประดา
วันนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงขออาสาพาทุกคน ออกไปมองโลกกว้างเพื่อดูนกกลางคืนกันสักหน่อย แต่เปลี่ยนจากการลุยป่าดงพงไพรที่คุ้นเคยมาส่องนกในสวนสาธารณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ หรือ สวนจตุจักร ไปกับนักอนุรักษและผู้เชี่ยวชาญด้านนกอย่าง "ครูทอม" หรืออุเทน ภุมรินทร์ ในกิจกรรมดูนกตอนกลางคืน ในนิทรรศการ Bird Fair 2015 ที่จัดขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
นายอุเทน อุเมรินทร์ หรือ ครูทอม ผู้จัดการฝ่ายสมาชิกและกิจกรรม สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดูนกกลางคืนจะค่อนข้างยากกว่าการดูนกในเวลากลางวัน เพราะความมืดเป็นอุปสรรคที่ทำให้การมองทำได้ยากลำบาก และนกกลางคืนส่วนมากมักจะเกาะที่บริเวณเรือนยอดของต้นไม้ ผู้เริ่มศึกษาจึงจำเป็นมีทั้งอุปกรณ์ช่วยดูนก, สายตาอันเฉียบคม, ความเข้าใจในลักษณะพฤติกรรม และโชค
แต่ก่อนที่จะเริ่มดูนกสิ่งแรกที่ควรปฏิบัติให้เหมาะเสียก่อน คือ การแต่งกายอย่างรัดกุม ที่ครูทอมระบุว่า ควรใส่กางเกงขายาว สวมถุงเท้าและใส่รองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันอันตรายจากงูและสัตว์มีพิษที่จะออกหากินในเวลากลางคืน ขั้นต่อมาคือการเตรียมไฟฉาย และกล้องส่องทางไกลหรือกล้องสองตาสำหรับดูนกให้พร้อม เพื่อเพิ่มโอกาสการได้พบปะกับบรรดานกกลางคืน โดยอาจจะใช้เพียงไฟฉายบ้านธรรมดาหรือไฟฉายแบบความเข้มแสงสูงๆ ก็ได้
สำหรับนักดูนกมือใหม่ หรือผู้ไม่เคยดูนก ครูทอมบอกว่าทางที่ดีที่สุดควรจะมีไกด์หรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับนกเดินทางไปด้วย เพราะการดูนกที่ดีไม่ใช่แค่เพียงตาดีแล้วจะเจอเท่านั้น ยังต้องรู้จัก "พฤติกรรม" และ "เสียง" ของนกที่จะเป็นตัวนำเราไปพบกับพวกมันแบบตัวเป็นๆ โดยนกกลางคืนที่มักอาศัยหรือปรากฏตัวให้เห็นตามสวนสาธารณะกลางเมืองจะมีด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มนกฮูกหรือนกเค้า และกลุ่มนกแสก
กลุ่มนกฮูก หรือนกเค้า เป็นนกที่หากินตอนกลางคืนที่พบได้ในเมืองมากที่สุด มีขนาดตัวไม่ใหญ่แค่ประมาณฝ่ามือเท่านั้น มักกินหนูท่อ, จิ้งจกและด้วงเป็นอาหาร โดยสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ นกเค้าโมง หรือ นกเค้าแมว, นกฮูก หรือ นกเค้ากู่ และนกเค้าจุด
ครูทอมอธิบายว่า นกเค้าแต่ละชนิดจะมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป อย่างนกเค้ากู่จะร้องว่า "กู๊ กู๊", นกเค้าเหยี่ยวที่อยู่ตามชายป่า จะร้องว่า "บูบุ๊ก" หรือ "กู้ฮุก" ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนและต้องใช้ความชำนาญ แต่ก็ไม่ยากเกินพยายาม หากฝึกฝนการฟังแล้วออกไปดูนกบ่อยๆ ซึ่งสมาคมอนุรักษ์นกไทยได้จัดฐานข้อมูลเสียงและคู่มือการดูนกแต่ละชนิดแบบออนไลน์ไว้ให้ผู้ที่สนใจได้ดาวน์โหลดไปใช้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
อย่างไรก็ดี ครูทอม กล่าวว่า เราอาจพบนกกลางคืนบางชนิดในเวลากลางวันได้ด้วย เพราะนกกลางคืนบางชนิด เช่น นกเค้าโมงและนกเค้าจุด มีพฤติกรรมหากินในตอนกลางวัน, หัวค่ำ และรุ่งสาง หรือช่วงที่มีอากาศร่มครึ้มเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหยื่อของมันออกหากิน โดยจะนกกลางคืนส่วนมากจะพบได้ตามสวนสาธารณะใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะนกเหล่านี้ไม่สามารถอาศัยตามอาคารบ้านเรือนได้ ต้องอาศัยอยู่ตามโพรงต้นไม้ใหญ่ตามธรรมชาติอย่างจามจุรี, หางนกยูง หรือนนทรีย์อยู่ การเพิ่มปริมาณสวนสาธารณะจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้นกในเมืองมีปริมาณมากขึ้น เพราะเมื่อมีพื้นที่สีเขียวมากก็เท่ากับเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยและอาหารให้กับนกและสัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติโดยตรง
นอกจากนี้ ครูทอม ยังกล่าวอีกว่าการลดใช้สารเคมีก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประชากรนกได้ในทางอ้อมได้ เพราะสารเคมีโดยเฉพาะยาเบื่อหนูจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อนกที่เป็นผู้ล่า เพราะนกกลางคืนกินหนูท่อเป็นอาหาร
แนะนำไกด์ไลน์การดูนกกลางคืนมาพอสมควร จนย่ำค่ำประมาณ 18.00 น. คณะที่ประกอบไปด้วยหัวหน้าทีมคือครูทอม และลูกทีมที่ประกอบไปด้วยเด็กๆ อายุประมาณ 5-6 ขวบพร้อมผู้ปกครองอีกนับ 20 คนก็ค่อยๆ เคลื่อนขบวนเข้าไปในสวนสมเด็จฯ ฝั่งพิพิธภัณฑ์เด็ก นำความตื่นเต้นมาสู่ทุกคนที่กำลังเดินเข้าหาความมืดอยู่ไม่ใช่น้อย
แต่ไม่รู้ว่าวันนี้ทีมข่าวฯ ไม่ได้พกโชคติดกระเป๋า หรือเหล่าเด็กน้อยส่งเสียงดังอื้ออึงมากไปหรืออย่างไร คณะของเราเดินไปจนถึงครึ่งทางก็ไม่พบนกหรือแม้แต่เงาของนกกลางคืนแม้สักตัวเดียว ครูทอมจึงเปลี่ยนแผนว่านอกจากจะมองหานกแล้ว ยังจะศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตภายในสวนนี้เพิ่มด้วย
แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะตลอดทางเราได้พบกับสัตว์หลากชนิด ทั้งลูกกบ, กิ้งกือ, จิ้งจก, แมงมุม, ค้างคาว, เต่านา, แมลงเต่าทอง, จิ้งหรีด, มด,ตั๊กแตนหนวดยาว หรือแม้กระทั่งงูเหลือมตัวเขื่องที่ยาวกว่า 4 เมตร เรียกเสียงฮือฮาและเสียงกรี้ดสนั่นจากเด็กๆ ที่เข้าร่วมเป็นระยะไม่ขาดสาย ประชันกันกับเสียงดนตรีจังหวะมันส์แสนอื้ออึงจากตลาดนัดเจเจกรีนที่อยู่ติดเพียงรั้วชิดกัน
แต่ยังโชคดีที่ก่อนจะจบกิจกรรม ทีมข่าวฯ ได้เห็นเงาสีดำของนกชนิดหนึ่ง ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า เป็นนกแขวกขนาดใหญ่เป็นการจบกิจกรรมการดูนกในเมืองตอนกลางคืนได้อย่างสวยงาม ที่แม้จะแทบไม่ได้พบกับนกอะไรเลย แต่ประสบการณ์ที่ได้จากการเดินดูนกในครั้งนี้คงจะทำให้การดูนกในครั้งหน้าของทีมข่าวฯ เชี่ยวชาญขึ้นอย่างแน่นอน