นักเภสัชวิทยาประมาณว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของยาที่มนุษย์บริโภคทุกวันนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืช เช่น ควินินได้จากเปลือกของต้นชินโคนา (cinchona) และมอร์ฟีนได้จากฝิ่น เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดบริษัทยาที่มีเงินทุนมหาศาลจึงทุ่มเทเงินจ้างนักวิทยาศาสตร์ให้ค้นหาตัวยาต่างๆ จากป่าทุกหนแห่ง แต่ความพยายามที่จะนำพืชทุกชนิดมาวิเคราะห์ในห้องทดลอง และทดสอบกับคนเพื่อหาตัวยาที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องสุดวิสัยที่ไม่มีใครทำได้ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงคิดพึ่งพาภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ในการค้นหายาใหม่ๆ เช่น ในประเทศ Ghana เวลาใครเป็นหืด หมอผีจะแนะให้กลืนสมุนไพร การวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้แพทย์รู้ว่า สมุนไพรชนิดนั้นมีสาร hydroxyoya saponin ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาหืด ในฟิลิปปินส์ได้มีการพบว่า ชาวบ้านนิยมนำใบของต้น Carmona refusa มาชงดื่ม เพราะพบว่า หลังจากที่ได้ดื่มน้ำต้มใบไม้ชนิดนี้ ผู้ดื่มจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า การวิเคราะห์หาสารเคมีที่ทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์ดีแสดงว่ามันมีสารประเภท anti-mutagenic
คนไทยโบราณก็รู้จักใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมากมายเป็นยารักษาโรค เช่น ยาแก้วห้าดวง ยาห้าราก ยาเบญจโลกวิเชียรที่มีสรรพคุณกระทุ้งพิษหรือถอนพิษ สำหรับยาที่ได้จากรากไม้ ได้แก่ รากมะเดื่อชุมพร (Ficus racemosa) รากชิวชี่ (Capparis micracantha) รากเท้ายายม่อม (Clerodendron siphonanthus) รากย่านาง (Tiliacora triandra) และรากคนทา (Harrisonia perforlata) สำหรับแก้ไข้ จามจุรี (Alibizia lebbeck) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น มีเปลือกเป็นยาฝาดสมาน กินแก้ท้องร่วง เมล็ดใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อน และดอกเป็นยาเย็นใช้ดับพิษไข้ เรายังได้ยาสมุนไพรจากจุลินทรีย์ ราและเห็ดด้วย เช่น เห็ดขี้วัว-ขี้ควาย (Psilocyte cubensis) หรือที่ในตำรายาบางเล่มเรียก เห็ดมูลโค เพราะเป็นยาที่ได้จากมูลโคจริงๆ คนที่เสพเห็ดนี้มักมีอาการมึนเมา หมอชาวบ้านชอบนำมาทำเป็นยาที่ทำให้ง่วง แต่เปลี่ยนชื่อเป็นยาสุขไสยาสน์เพื่อผู้บริโภคจะได้ไม่รู้สึกขยะแขยง
มะเกลือ (Diospyros mollis) เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จัก และคนจีนนั้นรู้จักมะเกลือว่าเป็นสารย้อมสีแพรให้เป็นสีดำ มะเกลือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลมีสีเขียว ชาวบ้านในไทยกินมะเกลือดิบเพื่อขับพยาธิ ส่วนผลสดเวลาโขลกพอแหลกแล้วเติมกะทิ จะมีรสดี ถ้าใส่น้ำปูนใสในมะเกลือที่โขลกจนแหลก ของผสมที่ได้จะเป็นพิษ อาจทำให้ตาบอด ส่วนประกอบของมะเกลือมีสารประกอบ diospyrol ที่สามารถขับพยาธิในท้องได้ แก่นของต้นมะหาด (Artocarpus lakoocha) เวลานำมาต้มจะมีฟองมากมายเกิดขึ้น เมื่อช้อนเอาแต่ฟองขึ้นแล้วปล่อยทิ้งจนแห้งขอดจะได้ผงสีขาวนวลที่เรียกว่า ผงฝุ่นแก่นหาด เป็นยาขับพยาธิตัวตืด แก่นของต้นไม้ชนิดนี้แสดงว่า มีสารประกอบ 2, 4, 3, 5-tetrahydroxy stilbene ที่มีสรรพคุณขับพยาธิตัวตืดได้ดี
สมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ เปล้า ซึ่งมีหลายชนิด เช่น เปล้าหลวง เปล้าน้ำเงิน และเปล้าน้อย (Croton sublyratus) ชาวบ้านนิยมใช้เปล้าน้อยรักษา และบำรุงธาตุ เปลือกใช้บำรุงโลหิต แก้ท้องเสีย ดอกใช้ขับพยาธิ เมื่อไม่นานมานี้บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาเก็บตัวอย่างเปล้าชนิดต่างๆ ไปวิเคราะห์หาตัวยาแก้โรคกระเพาะอาหารที่คนญี่ปุ่นมักเป็น การวิจัยเปล้าน้อยพบว่า ใบมีตัวยาประเภท diterpene alcohol ที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ การทำเกษตรกรรมปลูกพืชชนิดนี้จึงเกิดที่ประจวบคีรีขันธ์ แล้วส่งใบไปสกัดเป็นยาที่ญี่ปุ่น
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักใช้พันธุ์ไม้ไทยเป็นยามานาน ต้นไม้บางชนิดถูกนำไปทำเป็นยาแผนปัจจุบัน บางชนิดได้รับการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และพบว่า มีสรรพคุณดังที่กล่าวอ้างจริง ดังนั้นไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น คนต่างชาติก็รู้จักใช้พืชไทยทำยาเช่นกัน
แพทย์ Galen และ Hippocrates ผู้เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยคริสตกาลก็ได้เคยแนะนำสตรีมีครรภ์ให้บริโภคใบของต้นหลิว เพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์ ส่วนพืช silphion ที่ Hippocrates อ้างว่า มีสรรพคุณในการคุมกำเนิดของสตรี นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า มันมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ยับยั้งการตั้งครรภ์ได้จริง สำหรับใบของต้น Mentha pulegium แพทย์โรมันชื่อ Serenus มักใช้เป็นยาทำแท้ง และนักเคมีพบว่าสารเคมีในใบมีอำนาจในการขับทารกจากครรภ์มารดาได้
ถึงยาโบราณจะมีคุณภาพ แต่ก็มีสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความนิยมในการใช้ยาโบราณลดลง คือ วิทยาศาสตร์ได้ทำให้หลายคนคิดว่า ยาพื้นบ้านเป็นยาที่ด้อยคุณภาพในการรักษาโรค เมื่อผู้คนพากันเชื่อเช่นนี้ สูตรยาและประโยชน์ต่างๆ ของยาชนิดนั้นก็ถูกผู้คนลืม
ปัจจุบันนี้ นักเภสัชวิทยาในหลายประเทศกำลังวิจัยยาพื้นบ้านต่างๆ จากต้นไม้ที่ได้จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในชุมชน นี่จึงเป็นการเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแสวงหายาที่มีสรรพคุณ โดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก และไม่ต้องเสียเวลาทดสอบนาน
แต่อุปสรรคในการค้นหายาประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มี เพราะมนุษย์รู้จักพืชเพียง 5% เท่านั้นเอง อีก 95% ของพืช มนุษย์ยังไม่รู้จัก และไม่แน่ใจว่าจะรู้จักเมื่อใด เพราะป่าดิบในทุกภูมิภาคของโลกกำลังถูกทำลายไปตลอดเวลา และนั่นก็หมายความว่าต้นไม้ที่มีเภสัชคุณ อาจถูกตัดทิ้งจนสูญพันธ์ไปก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะได้เห็นหรือตั้งชื่อมันด้วยซ้ำไป
เมื่อเหตุการณ์ทำลายป่ากำลังทวีความรุนแรง นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่า จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองป่าเพื่อให้นักเคมี นักเภสัชวิทยา นักพฤกษศาสตร์ ได้มีโอกาสวิเคราะห์หาตัวยาจากพืช ก่อนที่ต้นไม้ในป่าจะถูกโค่นหรือเผาทิ้ง
แต่มาตรการนี้ก็มีปัญหาในการดำเนินการ เพราะนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่เจริญแล้ว มักมีการค้นคว้าวิจัยด้านเภสัชกรรมมาก แต่ประเทศเหล่านี้แทบไม่มีป่าดิบให้อนุรักษ์ ด้านประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีป่าอุดมสมบูรณ์ ก็ขาดนักวิจัยยา ดังนั้น ประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงทำใจไม่ได้ที่รัฐบาลของตนจะอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาวิจัยต้นไม้ในป่า เพื่อนำสารยาที่พบกลับมาขายเป็นยาในราคาแพง
ด้วยเหตุนี้องค์การสิ่งแวดล้อมและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงได้เสนอบทบัญญัติว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ใดๆ ของป่ามีคุณค่าทางเศรษฐกิจ รัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าของป่าก็ควรได้ค่าตอบแทน
บทบัญญัตินี้ได้เป็นที่ยอมรับแล้ว แต่เหตุการณ์ทำลายป่าในประเทศที่กำลังพัฒนาแม้จะได้ลดความรุนแรงลง แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่น่าพอใจ
ในอดีตเมื่อ ค.ศ.391 ห้องสมุดแห่งแรกของโลกที่ Alexandria ในอียิปต์ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมวรรณกรรม บทประพันธ์และตำราของปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงของโลกได้ถูกไฟเผา ทำให้วรรณกรรมของโลกหลายเรื่องถูกทำลาย นี่เป็นการสูญเสียทรัพย์สินทางปัญญาที่ประมาณค่ามิได้ไปอย่างถาวร ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าป่าของโลกที่มีสมุนไพรมีค่ามากมายถูกตัดหรือเผา นั่นจะเป็นการทำลายสรรพความรู้ของป่า และทำลายยาที่จะใช้รักษาโรคของมนุษย์ด้วย
จีนเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีประวัติด้านการใช้ยาพื้นบ้านมาเป็นเวลานาน ในอดีตเวลาใครพูดถึงยาจีน แพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนแบบตะวันตกมักไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในคุณภาพ เพราะคิดว่าเป็นยาที่ปรุงขึ้นโดยปราศจากหลักการวิทยาศาสตร์ คือ ไร้การทดสอบและการทดลองใช้อย่างเป็นระบบ ยาจีนจึงเป็น “ยาเทียม”
แต่เมื่อถึงวันนี้ยาจีน เช่น จิงฮาวซู (artemisinin) ที่แพทย์ปัจจุบันใช้รักษามาลาเรีย และ arsenic trioxide ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (myelocytic leukemia) เป็นตัวอย่างของยาจีนที่ได้รับความสนใจจากคนป่วยและแพทย์ทั่วโลก เพราะได้มีการพบว่า ยาทั้งสองนี้มีศักยภาพในการใช้รักษาโรคได้จริง หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบและทดสอบอย่างเคร่งครัดแล้ว
คนจีนใช้ยาที่บรรพบุรุษได้คิดและปรุงมาเป็นเวลานานกว่า 2,500 ปีแล้ว ตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิ Huangdi คือเมื่อ 475-211 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แคว้นต่างๆ ในจีนยังเป็นอิสระ และผู้ครองแคว้นทำสงครามกันตลอดเวลา จีนจึงยังไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวดังทุกวันนี้ ในสมัยนั้นแพทย์จีนมีตำรายาชื่อ Huangdi’s Internal Classic ซึ่งบรรยายเรื่องยาจีนอันเป็นที่นิยม และเป็นตำราสำคัญเล่มหนึ่งที่นักศึกษาแพทย์ปัจจุบันในจีนทุกคนต้องอ่าน เพื่อปูพื้นความรู้ก่อนเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของยาจีน
เมื่อถึงสมัยของราชวงศ์ Han คือ เมื่อ 206 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ.220 ในช่วงเวลานั้นจีนมีตำรายาสองเล่ม ชื่อ “Classic of Materia Medica” ที่ Shennong เรียบเรียง ซึ่งได้บรรยายคุณภาพของสมุนไพร แร่ และอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ที่คนจีนนิยมนำมาทาและกิน กับตำรา “Treatise on Cold Damage and Miscellaneous Diseases” ของ Zhang Zhang-jing ที่ได้กล่าวถึงอาการไข้นานาชนิด และวิธีรักษาโรคเหล่านั้น
ถึงสมัยของราชวงศ์ Jin คือ ราว ค.ศ.266-420 แพทย์จีนชื่อ Huangfu Mi ได้เรียบเรียงตำราชื่อ “The Classic of Acupuncture and Moxibustion” และแพทย์ Wang Shuhe ได้รวบรวมระเบียบวิธีรักษาไข้ต่างๆ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นตำราชื่อ “Pulse Classic” ซึ่งบรรยายวิธีรักษาโรคกับสรรพคุณของการฝังเข็ม และการเผาสมุนไพร ที่ใช้รักษาโรคอย่างละเอียด
ในปี ค.ศ.659 อันเป็นยุคของราชวงศ์ Tang รัฐบาลจีนในสมัยนั้นได้ประกาศให้แพทย์ทุกคนใช้ตำรายาจีนเล่มใหม่ ชื่อ “Newly Revised Materia Medica” แทนตำราเดิมของ Shennong
เมื่อถึงยุคของราชวงศ์ Ming คือ ระหว่าง ค.ศ.1368-1644 แพทย์ Li Shizhen ได้รวบรวมเอกสารที่เขียนเกี่ยวกับวิธีใช้สมุนไพร แร่ และอวัยวะสัตว์ มาเรียบเรียงเป็นตำรายารักษาโรคชื่อ “The Compendium of Materia Medica” ตำรานี้บรรยายวิธีรักษาโรคต่างๆ อย่างละเอียด และได้รับการเผยแพร่ในปี 1578
ในยุคของราชวงศ์ Qing ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1644-1911 มิชชันนารีชาวยุโรปนิกายโปรเตสแตนท์กลุ่มหนึ่งได้เดินทางถึงจีนในปี 1807 และได้นำระบบการรักษาและความรู้แพทย์ศาสตร์ของชาติตะวันตกไปเผยแพร่ในจีน หลังจากที่จีนแพ้สงครามฝิ่นทั้งสองครั้ง คือ ครั้งแรก (1839-1842) กับครั้งที่สอง (1856-1860) การพ่ายแพ้ของกองทัพจีนทำให้ความนิยมในการรักษาไข้แนวตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มสูง เพราะคนจีนพากันเชื่อว่า เมื่อโลกตะวันตกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่าจีน ดังนั้นเทคนิคการรักษาโรคก็ต้องก้าวหน้ากว่าด้วย
ถึงปี 1911 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่อาณาจักร Qing ล่มสลาย แม้จีนจะกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐ แต่ชาติตะวันตกก็ยังมีอิทธิพลเหนือจีนต่อไป รัฐบาลจึงได้ประกาศให้แพทย์จีนใช้วิธีรักษาแนวตะวันตกแทนการรักษาแบบจีน
ในปี 1967 ท่านประธาน Mao Zedong ของจีนได้เริ่มโครงการ 523 โดยให้แพทย์จีนนำ artemisinin หรือจิงฮาวซูไปทดลองรักษามาลาเรีย ซึ่งได้ผลดีมาก และมีผลทำให้กระบวนการรักษาด้วยยาจีนได้รับความสนใจจากทั่วโลก และแพทย์จีนได้รับแรงกระตุ้นมาก ถึงปี 2003 เมื่อโรค SARS (severe acute respiratory syndrome) ระบาดหนัก และยาจีนบางขนานที่แพทย์ใช้ในการต่อสู้ SARS ได้ผลดี ความเชื่อมั่นในคุณภาพของยาจีนก็ได้เพิ่มขึ้นมาก
แม้ยาจีนจะประสบความสำเร็จในการรักษาเพียงใดก็ตาม แต่คนชาติอื่นๆ ก็ยังเข้าใจยาจีนผิดในหลายประเด็น รวมถึงไม่เห็นความแตกต่างในการรักษาแผนญี่ปุ่นที่ใช้ยาญี่ปุ่น Kampo ซึ่งมีองค์ประกอบ และวิธีรักษาที่แตกต่างจากจีน แต่มีหลักการที่คล้ายกัน ทั้งนี้เพราะยาญี่ปุ่นหลายขนานได้รับการพัฒนาจากยาจีน
ตามปรกติกระบวนการรักษาที่ใช้ยาจีนนั้นมีหลายวิธี เช่น ใช้สมุนไพร ฝังเข็ม นวดหรือจี้กงที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายและจังหวะการหายใจ ฯลฯ นี่เป็นเทคนิคที่แพทย์จีนใช้ในการรักษาแบบจีน จะมีก็แต่การใช้สมุนไพรเท่านั้นที่สามารถเทียบเคียงได้กับเทคนิคเภสัชกรรมของแพทย์ตะวันตก
โดยทั่วไปเวลาคนไข้ไปหาหมอจีน แพทย์จะขอดูลิ้น สีหน้าและลักษณะผิวหนังของคนไข้ก่อน แล้วอาจให้คนไข้เปล่งเสียงพูด เพื่อตรวจดูว่าคนไข้มีปัญหาในการหายใจอย่างไรหรือไม่ และอาจให้คนไข้กระแอม เพื่อตรวจดูว่าลำคอมีเสมหะหรือไม่ รวมถึงใช้วิธีดมกลิ่นตัวของคนไข้ด้วย ซึ่งอาจบอกสุขภาพโดยทั่วไปของคนไข้ได้บ้าง จากนั้นแพทย์ก็อาจถามความรู้สึกของคนไข้ ว่ารู้สึกร้อนหรือเย็น มีเหงื่อออกมากหรือไม่ ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระตามปรกติหรือไม่ มีอาการกระหายน้ำบ่อยหรือไม่
คำตอบเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้แพทย์จีนใช้ในการวิเคราะห์ไข้ แล้วแพทย์ก็จะจัดชุดยาให้คนไข้กิน เพื่อบรรเทาอาการไข้ที่คนนั้นกำลังเป็น
ในมุมมองของการรักษาแบบจีนนั้น ร่างกายของคนปรกติต้องอยู่ในสมดุลตลอดเวลา ดังนั้นการรักษาของแพทย์จีนคือ พยายามทำให้พลังงาน (gi) และภาวะไม่สมดุลของร่างกายกลับสู่สภาพสมดุล (yin-yang) มุมมองนี้จึงเป็นเรื่องประหลาดสำหรับแพทย์ตะวันตก แต่แพทย์จีนกลับเห็นว่า นี่คือแนวคิดเดียวกับเรื่อง metabolism และภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงสมดุลแบบ homeostasis ที่มีในกระบวนการรักษาของแพทย์ตะวันตกนั่นเอง
ข่าวใหญ่เกี่ยวกับการศึกษายาพื้นบ้าน ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ เมื่อสถาบันโนเบลได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ครึ่งหนึ่งแก่ Tu Youyou เภสัชกรหญิงวัย 84 ปี ผู้พบยา Artemisinin หรือที่คนจีนเรียกว่า Qinghaosu (จิงฮาวซู) จากต้น Artemesia annua หรือต้น huang hua hao หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า qinghao ซึ่งเธอเป็นคนแรกที่ใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนหลายล้านคนทุกปี และปัจจุบันเป็นยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ก่อนปี 2011 แทบไม่มีใครในโลกรู้จัก Tu แม้แต่ในเมืองจีนก็มีคนรู้จักเพียงไม่กี่คน จนกระทั่งเธอได้รับรางวัล Lasker ของอเมริกาประจำปีนั้น ในฐานะนักวิจัยด้านแพทย์ศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดโลกสังคมจีนจึงเริ่มหันมาสนใจเธอ
เธอเล่าว่า ย้อนอดีตไปเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนกำลังมีการปฏิรูปทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่โดยเมาเซตุง
ในช่วงเวลานั้น ประเทศจีนต้องตกอยู่ภายใต้ความรุนแรง และสังคมมีความขัดแย้งมากมาย เหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์ได้ตกเป็นเป้าโจมตีของพวก Red Guards และถูกเนรเทศให้ออกไปทำนาหรือทำงานในชนบท เพราะการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ในสายตาของนักปฏิรูปสมัยนั้น คือ ความฟุ้งเฟ้อและเหลวไหลในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อันใดเลย
ประจวบกับเวลานั้นเวียดนามเหนือซึ่งเป็นพันธมิตรของจีนกำลังทำสงครามกับเวียดนามใต้ ได้สำรวจพบว่า ทหารของฝ่ายตนได้ล้มตายด้วยไข้มาลาเรียเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ได้กินยา chloroquine แล้ว รัฐบาลเวียดนามเหนือจึงขอให้จีนช่วย
ท่านประธาน Mao Zedong จึงจัดตั้งโครงการ 523 (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากวันที่ 23 เดือนพฤษภาคม (เดือนที่ 5)) เพื่อแก้ปัญหานี้ และสถาบัน Academy of Traditional Chinese Medicine ซึ่งได้ทำงานวิจัยยาพื้นบ้านของจีนมาเป็นเวลานานได้ ให้ Yu เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยยาพื้นบ้านและยาสมุนไพรต่างๆ ที่จีนมี
Yu กับนักวิจัยในทีมได้ศึกษาสารประกอบประมาณ 240,000 ชนิด และพบว่าไม่ได้ผลใดๆ เธอจึงเปิดตำรายาจีนแผนโบราณ และพบว่า สารที่สกัดได้จากต้น Artemisia annua หรือต้นจิงฮาวที่มีมากมายในจีนสามารถใช้รักษาคนที่เป็นมาลาเรียได้ โดยคนจีนเมื่อ 1,600 ปีก่อน โดยเอาเปลือกมาแช่น้ำแล้วดื่ม
Tu ได้พบว่า ถ้าน้ำที่ใช้มีอุณหภูมิสูง สารเคมีในต้นจิงฮาวจะเสื่อมสมรรถภาพ เธอจึงเตรียม “ยา” ในสารละลาย ether แล้วใช้ทดสอบกับหนูและลิง ปรากฏว่าได้ผล 100% แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์จนกว่ายานั้นจะรักษามาลาเรียในคนได้
Tu จึงตัดสินใจเป็นคนไข้ทดลองยาคนแรก และพบว่าไม่มีผลกระทบข้างเคียง จากนั้นจึงใช้กรรมกรที่กำลังป่วยเป็นมาลาเรียเป็นหนูตะเภาต่อ และพบว่าภายในเวลาเพียง 30 ชั่วโมง ทุกคนก็หายไข้
งานวิจัยของ Tu ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1977 หลังจากที่จีนกลับสู่ภาวะปกติ และพวก Red Guards ได้สาบสูญไปแล้ว ผลงานของเธอไม่มีชื่อเธอปรากฏ เพราะสังคมจีนในสมัยนั้นถือว่า ทีมมีความสำคัญกว่าปัจเจกบุคคล และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่ชื่อของ Tu ไม่เป็นที่รู้จักมาก
การค้นพบยา artimisinin ถือได้ว่าเป็นความภูมิใจของคนจีนทุกคน และเป็นการยืนยันว่า การศึกษายาโบราณ ยาสมุนไพรยังมีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบัน
ถึงวันนี้ แพทย์ได้พบว่า ยา artimisinin เริ่มมีประสิทธิภาพด้อยลง เพราะเชื้อมาลาเรียกำลังดื้อยามากขึ้น นั่นหมายความว่า คนไข้ต้องใช้เวลานานมากขึ้นจึงจะหาย คือใช้เวลาถึง 4 วัน แทนที่จะใช้เวลาเพียง 2 วัน แต่แพทย์ก็ได้หาทางออกโดยให้คนไข้กินยาต้านมาลาเรียตัวอื่นเสริม artimisinin ซึ่งเป็นยาที่ Tu พบ
เกียรติประวัติของ Tu ที่โดดเด่นมากคือ นอกจากจะเป็นผู้หญิงและเป็นแม่บ้านแล้ว เธอเป็นคนที่ไม่ได้ศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และปฏิบัติงานวิจัยตลอดชีวิตของเธอในประเทศจีน โดยไม่ได้ไปฝึกงานในต่างประเทศเหมือนคนจีนหรือคนเอเชียอื่นๆ
อ่านเพิ่มเติมจาก Qinghaosu: The Price of Success โดย N.J.White ใน Science ฉบับวันที่ 18 April 2008 Vol.320
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์