สำรวจงานวิจัยพลาสติกชีวภาพ ผลงานนักวิจัยไทย พร้อมมุมมองติ-ชมจากผู้ประกอบการ ในงานเปิดบ้านโชว์ผลงานของ วช.ดึงผู้ประกอบการพบนักวิจัยหวังผลักดันตลาดพลาสติกชีวภาพ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานเสวนาเปิดบ้านวิจัยพบผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.58 ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมงานเพื่อสำรวจผลงานวิจัยและวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน
นางสุนันทา สมพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ในยุคที่คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้กระแสความนิยมพลาสติกชีวภาพถูกหยิบยกให้เป็นงานวิจัยที่น่านับตามองตั้งแต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
นางสุนันทากล่าวว่า วช.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีต้นทุนอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นการผลิตพลาสติกชีวภาพเป็นจำนวนมาก และมีศักยภาพในการเป็นผู้นำของโลกด้านการผลิต ซึ่งจนถึงวันนี้ได้มีผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพจากงานวิจัยขึ้นมากมาย ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร, การแพทย์ และการอาหาร
"พลาสติกชีวภาพตอบโจทย์อุตสาหกรรมการเกษตรมากในเชิงเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด เช่น มันสำปะหลัง รวมไปถึงด้านการแพทย์และอาหาร ซึ่งตอนนี้เป็นที่น่ายินดีที่นักวิจัยไทยจากหลายๆ สถาบันก็กำลังตื่นตัว มีการค้นพบจุลินทรีย์ช่วยสังเคราะห์ได้อีกมากมาย และในส่วนปลายน้ำก็สามารถผลิตได้แล้ว และยังทำได้ราคาถูกกว่าต่างประเทศถึง 20% ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาแทนที่พลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศได้มากกว่าครึ่ง พลาสติกชีวภาพจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและควรส่งเสริมให้เอกชนเข้ามารับช่วงต่อซึ่ง วช.ก็มีกลไกที่จะช่วยดูแลจนถึงปลายทาง" นางสุนันทา กล่าว
นางสุนันทา ระบุว่า นอกจากการให้ทุนนักวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมแล้ว วช.ยังเปิดกว้างในเรื่องของลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการที่มารับช่วงต่อสามารถนำไปใช้ได้เลยในภาคอุตสาหกรรม แต่สำหรับโรงงานที่ยังไม่มีความพร้อมหรือต้องการการดูแลในช่วงเริ่มต้น วช.ก็มีงบประมาณสำหรับการตั้งไข่ธุรกิจซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณีเพื่อผลักดันให้งานวิจัยพลาสติดชีวภาพไทยประสบความสำเร็จได้ถึงปลายทาง และในส่วนของรัฐบาลเองก็มีนโยบายสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่มารับช่วงต่อนวัตกรรมด้วยการยกเว้นภาษี 300% ที่นับเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างสูงสุดสำหรับการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์
สำหรับงานเปิดบ้านวิจัยพบผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพที่ วช.จัดขึ้น ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีงานวิจัยใช้ได้จริงจาก 6 หน่วยงานมาจัดแสดง โดยแต่ละบูธได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่พัฒนาขึ้นและพร้อมต่อยอดมาจัดแสดงด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วมการเสวนาอย่างดี
สำหรับนวัตกรรมแรก เป็นผลงานถุงพลาสติกชีวภาพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นายกวินทร์ กีรติพินิจ นักศึกษาปริญญาโท เผยว่า เป็นถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีแลคติคแอซิด (Polylactic Acid: PLA) ผสมกับ โพลีบิวทีลีนซัคซิเนต (Polybutylene succinate: PBS) และสารประกอบชีวภาพอื่นๆ ที่มีสารตั้งต้นจากแป้งมันสำปะหลัง นำมาเป่าขึ้นรูปให้เป็นถุงพลาสติกที่มีความเหนียว รับน้ำหนักได้มาก แต่ย่อยสลายได้ภายใน 1 ปี ซึ่งขณะนี้ได้นำไปใช้แล้วกับร้านภูฟ้า สาขาสยามพารากอน
นวัตกรรมต่อมาเป็นการผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมคุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการทำวิจัยร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีแห่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิตพอลิเมอร์เกรดทางการแพทย์สำหรับนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของไหมละลายเย็บแผล และท่อนำเส้นประสาทแทนการนำเข้า โดยตัวของพอลิเมอร์ชีวภาพที่ผลิตได้ขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นแม่ข่ายให้แก่ห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ชีวภาพตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วไปประเทศ
ด้านวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพหลากหลายรูปแบบมานำเสนอ ทั้งถุงพลาสติกสำหรับงานเพาะชำที่นอกจากจะย่อยสลายได้เองแล้วยังกลายเป็นปุ๋ยให้ดินภายในเวลา 2 เดือน เนื่องจากได้เติมสารอินทรีย์ซึ่งเป็นอาหารต้นไม้เพิ่มลงไปในเนื้อพลาสติกก่อนฉีดขึ้นรูป และนำไปใช้จริงแล้วกับการปลูกต้นไม้ของกลุ่มงานขยายพันธุ์ไม้ กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับแก้วพลาสติกชีวภาพทนความร้อนจากการดัดแปลงโครงสร้างทางเคมี ที่ทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส และการนำไปใช้แล้วในระดับหลายๆ บริษัท
นวัตกรรมถัดมาจากสถาบันเดียวกัน คือ ถาดพิมพ์ปากดัดรูปในการรักษาทางทันตกรรม ที่สามารถดัดให้มีความโค้งมนตามต้องการได้ในน้ำอุ่น ซึ่งในขณะนี้มีการนำไปใช้แล้วกับการขึ้นรูปฟันให้ผู้ป่วยที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ยังมีผลงานฟิล์มพลาสติกชีวภาพสำหรับคลุมดินที่วิทยาลัยปิโตรเลียมฯ ทำร่วมกับนักวิจัยหลายมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตแผ่นฟิล์มทางการเกษตรเพื่อป้องกันแสงแดดและเก็บกักความชื้นเพื่อใช้แทนถึงพลาสติกดำ ที่ขณะนี้มีการนำไปใช้แล้วที่เมล่อนฟาร์ม จ.อยุธยา
ด้านมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร นำบรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งทนแรงกระแทกสูงจากพลาสติกชีวภาพมาจัดแสดง โดยเป็นถาดที่ผลิตจากโพลีแลคติคแอซิด (PLA) สามารถย่อยสลายภายใน 6 เดือน ซึ่งคุณสมบัติเด่นอยู่ที่สามารถทนความเย็นได้ถึง -120 องศาเซลเซียส ทำขึ้นเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ให้แก่โครงการกุ้งอินทรีย์ของ บริษัท พรานทะเล จำกัด พร้อมกันนี้ยังได้นำถ้วย และแก้วพลาสติกชีวภาพทนความร้อนสูงได้ที่ประมาณ 100 องศามาจัดแสดงด้วย ฉีกความเชื่อเดิมๆ ว่าพลาสติกชีวภาพไม่สามารถทนความร้อนได้
ด้านตัวแทนผู้ใช้อย่าง น.ส.ระพีพรรณ สายแวว นักวิชาการผลิตภัณฑ์อาหารปฏิบัติการ กองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า จากการชมงานวิจัยเธอสนใจถาดทนความเย็นของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมากที่สุด เพราะเธอเป็นนักวิจัยทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งสามารถทนความเย็นและความร้อนได้สูงจากพลาสติกชีวภาพ แต่ก็ได้ท้วงติงผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นการต่อยอดในเชิงมหภาค ทำให้ผู้ที่ต้องการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ปริมาณน้อยๆ อย่างหน่วยงานของเธอเข้าไม่ถึง
สอดคล้องกับ ดร.ภูตินันท์ เอื้อวงษ์สุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เผยว่า ผลงานที่น่าสนใจในทัศนะของเขาคือ ฟิล์มพลาสติกชีวภาพคลุมดิน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรและมีการนำไปใช้แล้วจริงในพื้นที่เกษตร แต่เขามองว่าธุรกิจพลาสติกชีวภาพยังคงมีความเสี่ยงสูง เพราะใช้ต้นทุนการผลิตเป็นเงินจำนวนมหาศาล และต้นทุน ส่วนต่างที่ผู้ผลิตจะได้รับยังไม่มากเท่าที่ควร จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการจะยังไม่ค่อยกล้าลงทุน แม้รัฐบาลจะมีนโยบายหักลดภาษีสูงถึง 300%
ท้ายสุด นายณัฎฐคเณศ ปสุดาจิรานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดิท โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเขาชอบผลงานถุงปลูกต้นไม้ย่อยสลายได้มากที่สุด เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมสูง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับการเกษตรเป็นจำนวนมาก
"เป็นเรื่องดีที่มีการจัดงานให้ผู้ประกอบการกับนักวิจัยมาเจอกัน เพราะที่ผ่านมาเราเดินกันคนละเส้นตลอด นักวิจัยก็ทำไป ผู้ประกอบก็ใช้ไปพลาสติกชีวภาพไทยจึงเดินได้ช้า ตอนนี้เราจึงต้องช่วยกัน ผมในฐานะผู้ประกอบการที่ผลิตต้นแบบการขึ้นรูปพลาสติกก็อยากจะช่วย ถ้านักวิจัยอยากมาลองใช้โมล (แบบขึ้นรูป) ของเราก็ยินดี เพราะผมทราบดีว่าพวกคุณมีวัตถุดิบ มีร่างงานวิจัยแต่คุณไม่มีโมล อะไรที่ทำให้งานวิจัยไม่อยู่บนหิ้งได้ ผมยินดีสนับสนุน" นายณัฎฐคเณศกล่าว
พร้อมกันนี้ นายณัฎฐคเณศ ยังแนะด้วยว่า นอกงานวิจัยที่ยังไม่ตรงเป้าแล้ว พลาสติกชีวภาพยังมีข้อเสียตรงที่คุณภาพและราคา ทำให้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นรูปร่างเรียบแบนไม่สวยงามเหมือนพลาสติกตามท้องตลาด และยังมีความทนทานที่น้อยกว่า ถ้าหากแก้ไขในจุดนี้ได้ตลาดของพลาสติกชีวภาพจะดีขึ้นอีกมาก เพราะคนในยุคปัจจุบันพร้อมจะจ่ายแพงกว่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม