xs
xsm
sm
md
lg

ฉายภาพ “เคนยา” เผยดินแดนต้นกำเนิดมนุษยชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หญิงชาวเผ่าแซมบูรู (Samburu) ระหว่างเตรียมการแสดง สร้อยคอเส้นสีแดงพวงใหญ่กลางอกนั้นทำจากขนหางยีราฟ ตรงกลางร้อยลูกปัดไว้หนึ่งลูกใหญ่ สร้อยนี้มีชื่อเรียกว่า อึมปอร์โร (mporro) ภาพ : ดวงดาว สุวรรณรังษี
แม้ว่า “ทวีปแอฟริกา” จะถูกจัดให้เป็นโลกที่ 3 ทว่าดินแดนแห่งนี้มีความเก่าแก่ และมีหลักฐานบ่งบอกถึงการเป็นดินแดนต้นกำเนิดมนุษย์ หากแต่การเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตและร่องรอยประวัติศาสตร์ถึงแอฟริกาแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย


การฉายภาพดินแดนต้นกำเนิดสู่สายตาคนนอกแอฟริกาจึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสถานทูตแห่งประเทศเคนยา และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไนโรบี เคนยา ซึ่งได้เชื้อเชิญให้นักถ่ายภาพจากประเทศไทย เดินทางไปยัง “เคนยา” ประตูสู่แอฟริกาตะวันออก เพื่อร่วมงานรวมชนชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายที่สุดของเคนยา ดินแดนที่ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งต้นกำเนิดของพวกเรา
นักวิชาการ อพวช.จำลองกะโหลกนี้ขึ้นจากภาพปกติหลายๆ ภาพมาเรียงซ้อนต่อกันจนได้โครงสร้าง 3 มิติที่ถูกต้อง แล้วจึงนำมาขึ้นรูปแล้วหลอมด้วยเรซิ่นเพื่อให้มีความถูกต้องและสมจริง
ภาพเหล่านั้นถูกนำมาจัดเป็นนิทรรศการภาพ “Credle of Mankind ณ ดินแดนต้นกำเนิดมนุษยชาติ” ให้คนไทยได้ชมที่ จตุรัสวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ชั้น 4 จตุรัสจามจุรี กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ทุกคนซึมซับคุณค่าแห่งภาพถ่ายสะท้อนเรื่องราวกำเนิดมนุษยชาติ พร้อมคำบรรยายให้ความหมายไว้อย่างออกรส และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์รอให้ข้อมูล

ภาพมุมกว้างของนิทรรศการ ณ ดินแดนกำเนิดมนุษยชาติ

ภาพถ่ายบางส่วนจากนิทรรศการ Credle of Mankind
ก่อนจะดื่มดำกับภาพนับสิบที่ถูกถ่ายทอดผ่าน มุมมองของ ดุจดาว สุววรณรังสี บรรณาธิการนิตยสาร GM และ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการนิตยสารสารคดี เราควรไปรู้จักกับเคนยา กันให้มากขึ้นกับส่วนแรกของนิทรรศการ ที่ปูพื้นหลังให้เราทราบถึงความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ทั้งในส่วนของประวัติเคนยา และบันทึกการเดินทางที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าภาพในกรอบ
สีสัน และอารมณ์ของภาพถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่าย
สาธารณรัฐเคนยา (Republic of Kenya) เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออก มีพรมแดนทางทิศเหนือติดกับเอธิโอเปีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับโซมาเลีย ทิศใต้ติดกับแทนซาเนีย ทิศตะวันตกติดกับยูกันดา และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับซูดาน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย มีเมืองหลวงชื่อ ไนโรบี ซึ่งตั้งขึ้นตามภูเขาของเคนยา โดยสัญลักษณ์ที่สำคัญของเคนยาคือภูเขาที่มีความสูงเป็นอันดับที่สองของแอฟริกา หรือเรียกกันว่า เกรตริฟต์วัลลีย์ (The Great Rift Valley)
ปล่องภูเขาไฟทางตอนใต้ของทะเลสาบเทอร์คานา (Lake Turkana) บ่งบอกถึงรอยแยกของเปลือกโลกในบริเวณหุบเขาเกรตริฟต์วัลลีย์ (Great Rift Valley) ภาพ : ดวงดาว สุวรรณรังษี
ภาพถ่ายสีฟ้าสดใสราวภาพวาดดึงดูดสายตาให้เราอยากทำความรู้จักกับ “หุบเขาทรุดเกรตริฟต์วัลลีย์” หุบเขาที่ทอดตัวในแนวเหนือใต้ ยาว 6 พันกิโลเมตรจากทะเลแดงทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ผ่านเอธิโอเปีย เคนยา แทนซาเนีย ลงไปถึงโมซัมบิกในแอฟริกาใต้ เกิดจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกที่ไม่หยุดนิ่ง นับตั้งแต่เมื่อ 45 ล้านปีก่อน ที่รอยแยกใต้พิภพได้ปล่อยลาวาร้อนขึ้นสู่ผิวโลก ต่อด้วยการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกบริเวณเคนยาและเอธิโอเปีย จนมีความสูงราว 3 พันเมตร และมีลักษณะเหมือนโดมสูงคล้ายหลังเต่ายักษ์กลางทวีป
หลังจากผ่านไปหลายล้านปี ปล่องภูเขาไฟมาร์ซาบิต (Marsabit) ได้กลายเป็นทะเลสาบปิด ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบอันเขียวชอุ่ม ภาพ : ดวงดาว สุวรรณรังษี
จากนั้นเมื่อ 18 ล้านปีก่อนได้เกิดการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลกอีกครั้ง ทำให้เกิดหุบเขาทรุดกลางเทือกเขาสูงชันสองฝั่ง ขวางแผ่นดินแอฟริกาตะวันออกจากความชุ่มชื้น จนมีแต่ความแห้งแล้งอย่างที่เห็น และถึงแม้เวลาจะผ่านไปนาน ปัจจุบันหุบเขาทรุดดังกล่าวก็ยังคงเป็นภูเขาไฟมีพลัง ซึ่งอุดมไปด้วยรอยเลื่อน พุน้ำร้อน และทะเลสาบที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ที่น่าจับตาคือผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพธรณีวิทยาในช่วง 5-7 ปีหลัง ยังทำให้เผ่นดินที่อุดมด้วยป่าดิบทึบกลายเป็นป่าละเมาะและทุ่งหญ้ากันดาร ที่ผลักดันให้สิ่งมีชีวิต 4 ขาอย่างลิงซึ่งเคยปีนป่ายต้นไม้ มีวิวัฒนาการมาสู่การเดิน 2 ขาไปตามทุ่งโลก ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์ที่ถูกวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน
ชาวเผ่าเอลโมโล (Elmolo) ตั้งหมู่บ้านอยู่ริมทะเลสาบเทอร์คานา (Lake Turkana) ปัจจุบันเป็นชนเผ่าที่มีประชากรเหลืออยู่น้อยที่สุดในเคนยา  ภาพ : ดวงดาว สุวรรณรังษี
กว่าจะได้ภาพจากดินแดนต้นกำเนิดของทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ดวงดาว สุวรรณรังสี เล่าว่าหลังจากเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากบ้านไปไกลกว่า 7 พันกิโลเมตรเพื่อมุ่งหน้าสู่ทะเลสาบเทอร์คานา (Turkana) ในไนโรบี

เธอยังต้องลัดเลาะไปตามเส้นทางทุรกันดารหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อไปยังอุทยานแห่งชาติซิบิลอย (Sibiloi National Park) แหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นแหล่งต้นกำเนิดของมนุษยชาติ (Cradle of Mankind) และเดินทางต่อไปยังแหล่งโบราณคดีคูบี้ฟลอรา ซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนประเทศเอธิโอเปีย
การเดินทางอันแสนทุลักทุเลของนักถ่ายภาพ พร้อมด้วยล่าม เจ้าหน้าที่ทูตและทหาร
ทว่าการเดินทางแสนทรหดก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเธอได้พบกับคนท้องถิ่นที่ยังคงดำรงความเป็นเอกลักษณ์และธรรมชาติของเผ่าพันธุ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่วิถีการหากิน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่ต้องอธิบายความเข้าใจก็แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของแต่ละชนเผ่าในเคนยาได้เป็นอย่างดี
ภาพแสดงฟอสซิลกะโหลกของโฮโม ฮาบิลิส (Homo habilis) ที่ขุดพบในแหล่งกูบีฟอรา โดยฟอสซิลนี้มีอายุราว 1.9-2 ล้านปี จากลักษณะฟันคาดว่าเป็นกะโหลกของเพศหญิงโตเต็มวัย ที่มีความจุสมองราว 510 ลูกบาศก์เซนติเมตร ค้นพบโดยคาโมยา ไคมิว (Kayoma Kimeu) เมื่อปี ค.ศ.1973 โดยโฮโม ฮาบิลิสนี่เองถูกจัดให้เป็นมนุษย์ยุคเก่าแก่ที่สุดที่รู้จักใช้เครื่องมือหิน  ภาพ: ดวงดาว สุวรรณรังสี
ที่สำคัญที่สุด เธอยังได้เก็บภาพหลักฐานจากอุทยานแห่งชาติซิบิลอยและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไนโรบี ที่จัดแสดงชิ้นหลักฐานทางธรณีวิทยาต่างๆ ที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณรอบทะเลสาบเทอร์คานานาจะเป็นแหล่งต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์แรกเริ่มของมนุษยชาติ
กะโหลกของ โฮโมอีเรคตัส ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากมนุษย์ยุคปัจจุบัน ตรงชิ้นกระดูกสันคิ้วที่โปนออกมา รวมถึงฟันและขากรรไกรที่ใหญ่กว่า อีกทั้งยังมีสมองที่เล็กกว่ามนุษย์ปัจจุบันถึง 2 เท่า ซึ่งโครงกระดูกของเทอร์คานา บอยที่ถูกจัดให้เป็นโครงกระดูกของมนุษย์โฮโมอิเรคตัสที่สมบูรณ์ที่สุด คาดว่ามีอายุราว 1.6 ล้านปี จาลักษณะคาดว่าเด็กชายคนนี้ตายตอนอายุราว 11-12 ปี ซึ่งในขณะนั้นเขามีความสูงถึง 160 เซนติเมตร  ได้ถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไนโรบี ประเทศเคนยา  ภาพ: ดวงดาว สุวรรณรังสี
ทั้งการค้นพบฟอสซิลของลิงเอป (ลิงไม่มีหาง) เดินสองขาสกุลออสตราโลพิเคทัส (Australopithecus) หลายพันธุ์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงราว 4 ล้านปีก่อน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเอปที่นำมาสู่วิวัฒนาการของมนุษย์สกุลโฮโม (Homo) รวมถึงการค้นพบฟอสซิลของมนุษย์โฮโม แฮบิลิส (Homo habilis) อายุราว 2 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นมนุษย์ที่มีสมองเล็กที่สุด เล็กกว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันเกือบสองเท่า และโฮโม อีเรคตัส (Homo electus) อายุราว 1.7 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์แรกที่เดินทางออกจากแอฟริกาไปตั้งหลักแหล่งทั่วโลก รวมไปถึงซากฟอสซิลของสัตว์โบราณมากมาย ทั้งเต่ายักษ์ จระเข้ ช้าง ฮิปโปโปเตมัส หมู และเครื่องมือหินของมนุษย์โบราณ
ภาพซากดึกดำบรรพ์ของไม้กลายเป็นหินในอุทยานแห่งชาติซิบิลอย ที่มีสีแดงสด และยังมีลักษณะคงสภาพราวกับยังเป็นเนื้อไม้จริง เนื่องจากแร่ธาตุโดยเฉพาะซิลิกาได้แทรกตัวเข้าไปในเนื้อหมายเดิม ไม้ท่อนนี้จึงไม่แตกสลายไปตามกาลเวลา  ภาพ: ดวงดาว สุวรรณรังสี
ภาพของฟอสซิลกะโหลกของ ปาแรนโทรปัส บัวเซอิ (Paranthropus boisei) เคยจัดอยู่ในสกุลออสตราพิโลเทคัส (Austrapilothecus) ฟอสซิลนี้คาดว่ามีอายุราว 1.7 ล้านปีก่อน ขุดพบในแหล่งกูบีฟอรา โดยสันนูนกลางกะโหลกและใบหน้าใหญ่แสดงว่ามนุษย์กลุ่มนี้กินอาหารที่ค่อนข้างแข็ง มีความจุสมองราว 50 ลูกบาศก์เมตร  ภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพจำลองชีวิตของมนุษย์โฮโม อีเรคตัส (Homo erectus) ที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศอันเป็นทุ่งหญ้าริมทะเลสาบเทอร์คานา (Lake Turkana) เมื่อราว 1.6 ล้านปีก่อน พวกเขาเดินสองขาและรู้จักใช้เครื่องมือล่าสัตว์  ภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ซากดึกดำบรรพ์ของกระดองเต่าขนาดยักษ์ ในลักษณะหงายหลังอายุราว 1.6 ล้านปี ขุดพบในแหล่งกูบีฟอรา อุทยานแห่งชาติซิบิลอย ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงได้เป็นอย่างดีว่าบริเวณนี้เคยอยู่ใต้ทะเลสาบมาก่อน   ภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
จระเข้อูเทอโคดอน บรัมไท (Euthecodon brumpti) ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อประมาณ 1-2 ล้านปีก่อน คาดว่าเคยอาศัยตามแม่น้ำและทะเลสาบเทอร์คานา และด้วยลักษณะปากที่แคบยาว มีฟันแหลมคมแสดงว่ามันกินปลาเป็นอาหารหลัก  ภาพ : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ท่อนไม้ท่อนโตล้มกระจัดกระจายอยู่บนผืนกรวดสีแดงที่ ดวงดาว สุวรรณรังสี ได้อธิบายไว้ว่าเกิดจากเมื่อ 7 ล้านปีก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าชุ่มชื้นที่เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ ซากไม้กลายเป็นหินคือ หลักฐานแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ภาพ: ดวงดาว สุวรรณรังสี
ดวงดาว สุวรรณรังษี ขณะกำลังถ่ายภาพชนเผ่าในพื้นที่
 สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี นักถ่ายภาพมือทองอีกคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางเพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านเลนส์
“เรากับคนที่นู่นสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง แต่แปลกมากที่แววตาของเขากับกล้องของเรากลับทำความรู้จักกันได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเคนยายังคงความเป็นธรรมชาติไว้ได้สูงมาก ทั้งเรื่องของธรรมชาติและผู้คน อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเหมือนเดิม เคยหาปลาอย่างไร ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ มันเป็นเสน่ห์และเป็นความรู้สึกที่พิเศษมากๆ ที่ได้กลับไปถ่ายภาพในที่ๆ เป็นจุดกำเนิดของเรา ซึ่งทุกอย่างที่เห็นฉันได้ถ่ายทอดออกมาทางรูปภาพหมดแล้ว ” ดวงดาวกล่าว
นิทรรศการที่จัดแสดงบนชั้น 4 จามจุรีสแควร์ถูกจัดแสดงไว้อย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความน่าค้นหา
ภาพถ่ายกว่า 60 ใบจากผลงานของนักถ่ายภาพทั้งสอง ถูกจัดวางในกรอบรอผู้สนใจมาชม
ภาพถ่ายบางส่วนจากนิทรรศการ Credle of Mankind
กะโหลกมนุษย์ดึกดำบรรพ์โฮโมอีเรคตัส ผลงานการรังสรรค์จากนักวิจัย อพวช.ถูกจำลองขึ้นด้วยเรซิ่นเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นกระโหลกในสภาพคล้ายจริง
หญิงสาวตั้งใจชาวภาพจากนิทรรศการอย่างสนใจ
ดุจดาว สุววรณรังสี และ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
สำหรับนิทรรศการภาพ Cradle of Mankiind ณ ดินแดนต้นกำเนิดมนุษยชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ก.ย.-31 ต.ค. 2558 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จัตุรัสจามจุรี พระราม 4 กรุงเทพ ผู้สนใจสามารถะเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 10.30-19.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02-577-9999 หรือ www.nsm.or.th

*** หมายเหตุ ภาพต้นฉบับเป็นลิขสิทธิ์ของ ดุจดาว สุววรณรังสี และ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ ที่เอื้อเฟื้อแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลนิทรรศการเท่านั้น










กำลังโหลดความคิดเห็น