อาจเป็นเรื่องยากจะจินตนาการสำหรับคนเมืองที่เพียบพร้อมด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้าประปาและอินเทอร์เน็ต แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่แม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ยังเข้าไปไม่ถึง
โรงเรียนตระเวนชายแดนศาสตราจารย์สำเภา-ไพวรรณ วรางกูล ใน ต.พะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก เพิ่งเปิดสอนเมื่อปีผ่านมา ซึ่ง ดต.วรพงศธร ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เปิดใจว่าเนื่องจากเป็นโรงเรียนเปิดใหม่ อุปกรณ์การเรียนต่างๆ และบุคลากรจึงยังไม่พร้อม
ผู้อำนวยการโรงเรียนเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ต้องการไฟฟ้ามากที่สุด เพราะโรงเรียนไม่มีไฟฟ้า และต้องใช้น้ำมันปั่นไฟวันละ 5 ลิตร โดยต้องใช้เท่าที่จำเป็น ซึ่งหากมีไฟฟ้าก็จะมีสื่อการเรียนมาให้ใช้มากขึ้น ซึ่งทางกรมพลังงานทดแทนกำลังจะเข้าไปติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับผลิตไฟฟ้าให้
แน่นอนว่าความพร้อมพื้นฐานยังขาดแคลน เรื่องการสอนวิทยาศาสตร์จึงยิ่งห่างไกล เพราะในโรงเรียนไม่มีครูจบวิทยาศาสตร์โดยตรง ซึ่ง ดต.วรพงศธรเล่าว่า โรงเรียนมีโอกาสพัฒนาการเรียนวิทยาศาสตร์จากการอบรมของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่จัดขึ้นปีละครั้ง โดยทางโรงเรียนจะส่งครูและนักเรียนไปร่วมกิจกรรม 5-6 คน
ด้วยความห่างไกลและขาดแคลนทางโรงเรียนจึงได้เลือกให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนสำหรับจัดกิจกรรม "คาราวานวิทยาศาสตร์เพื่อน้องในท้องถิ่นห่างไกล" โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งในปี 2558 นี้ตระเวนจัดกิจกรรมให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศแล้ว 4 โรงเรียน
คาราวานวิทยาศาสตร์เพื่อน้องในท้องถิ่นห่างไกล ใน อ.แม่สอด จ.ตาก#คาราวาน #วิทยาศาสตร์ #ถิ่นธุรกันดาร #กันดาร
Posted by Science News Of ASTV-Manager on Monday, July 6, 2015
เส้นทางลำเลียงสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ของคาราวานไปสู่โรงเรียนเป้าหมายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทีมข่าววิทยาศาสตร์ติดตามคณะคาราวานในช่วงหลังฝนตก ทำให้เส้นทางจากจุดเริ่มของที่ทำการสวนป่าแม่ละเมาไปถึงโรงเรียนเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร กลายเป็นโคลนเลน อีกทั้งเส้นทางยังคดเคี้ยวและสูงชัน ต้องอาศัยรถขับเคลื่อนสี่ล้อและคนขับที่ชำนาญพื้นที่
"เรามาหาน้องยังยากขนาดนี้ ไม่ต้องคิดเลยว่าน้องจะออกไปยังไง" หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางเปรยขึ้นหลังผ่านเหตุการณ์ระทึกและรถติดหล่มถึง 2 ครั้ง
คณะคาราวานได้ลำเลียงชิ้นงานนิทรรศการสื่อสัมผัส เช่น หุ่นจำลองอวัยวะในร่างกาย พร้อมกิจกรรมวิทยาศาสตร์หรรษา การสาธิตทางวิทยาศาสตร์ และการแสดงทางวิทยาศาสตร์ ไปจัดกิจกรรมให้นักเรียน ตชด.ในช่วงบ่ายวันที่ 6 มิ.ย.58 ซึ่ง ดต.วรพงศธรกลายว่าทางโรงเรียนไม่มีโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรูแบบนี้บ่อยๆ ซึ่งเด็กๆ ตื่นเต้นกับความรู้ใหม่อย่างมาก
นอกจากนักเรียนไทยแล้วทางโรงเรียนยังเปิดรับนักเรียนพม่า โดยมีนักเรียนพม่าเป็นนักเรียนกินนอน 4 คน ในจำนวนนั้นมี ดญ.หนึ่งฤทัยหรือนุยนิไล นักเรียนชั้น ป.4 ที่สนใจกิจกรรมอย่างใจจดใจจ่อ เธอบอกว่าชอบเรียนคณิตศาสตร์และอนาคตอยากเป็นครูที่โรงเรียนไทยและสอนเด็กให้ชอบคณิตศาสตร์เหมือนเธอ
จากสารละลายปริมาณเล็กน้อยแปลงร่างเป็นฟองมหึมาล้นออกจากขวดผสมสาร ในกิจกรรม "ยาสีฟันช้าง" ที่อธิบายเรื่อง "ตัวเร่งปฏิกิริยา" จากการเติมโพแทสเซียมไอโอไดด์ลงในสารละลายน้ำยาล้างจานและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่กำลังทำปฏิกิริยากันอย่างช้าๆ
ขณะที่กิจกรรมวิทยาศาสตร์หรรษานักเรียนได้เรียนรู้เรื่องเสียงจากการประดิษฐ์ของเล่นด้วยถ้วยกระดาษและเชือกที่เรียกว่า "ไก่กระต๊าก" ซึ่งทำเสียงคล้ายไก่เมื่อขยับเชือกขึ้น-ลงเร็วๆ กลายเป็นการเสียดสีที่ทำให้เกิดแรงสั่นเทือนในเชือกกลายเป็นเสียงดังกล่าว
ด้านการแสดงวิทยาศาสตร์มีตัวแทนเพื่อนนักเรียนเอาตัวลงถุงดำขนาดใหญ่ ขณะที่พี่อาสาจาก อพวช.ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดอากาศออกจนถุงลีบแบนแนบตัวเพื่อนนักเรียน สร้างเสียงหัวเราะจากนักเรียนทั้งโรงเรียน 134 คน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากออกอากาศต้านนอกถุงมีความดันมากกว่าจึงดันถุงแนบตัวนักเรียน
เดิมที อพวช.จัดกิจกรรม "คาราวานวิทยาศาสตร์" มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาจัดประมาณ 3-4 วัน และต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับนิทรรศการ ห้องทดลองเคลื่อนที่ การแสดงทางวิทยาศาสตร์ โดมดูดาวและการสัมมนา พร้อมกำลังคนจำนวนมากเพื่อรองรับนักเรียนนับพันคน
ทว่ายังมีโรงเรียนห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ในตัวเมืองได้ อพวช.จึงได้จัดกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์เพื่อน้องในท้องถิ่นห่างไกลขึ้นภายหลัง สำหรับปี 2558 นี้ได้จัดคาราวานไปโรงเรียนต่างๆ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 84 และโรงเรียนพล ใน อ.พล จ.ขอนแก่น โรงเรียนพนาลัยวิทยาเสริม อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด โรงเรียนเพชรวิทยาคาร อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และในวันที่ 8-9 ก.ค.จัดคาราวานที่โรงเรียนตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงทวี-มณีนุช และโรงเรียนเจดีย์โค๊ะ ใน อ.แม่สอด จ.ตาก