xs
xsm
sm
md
lg

ไทยร่วมหาแนวทางศึกษาฟอสซิล “กะปอมยักษ์” ในลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) นายสาคร ชนะไพฑูรย์ และ นายสันยา ปะเสิด ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่ง สปป.ลาว
ไทย-ลาวหารือแนวทางร่วมศึกษา “กะปอมยักษ์” หลังพบแหล่งสำรวจฟอสซิลไดโนเสาร์มากกว่า 10 แห่ง แต่ขุดสำรวจได้ไม่กี่แห่ง อีกทั้งยังมีการลักลอบขุดไปขายและไม่เห็นคุณค่าจนตัดถนนผ่าน และยังพบเส้นทางซากฟอสซิลไดโนเสาร์อยู่ในแนวเดียวกันต่อเนื่องจากจากขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหารของไทยไปจนถึงสะหวันนะเขตของลาว แต่เบื้องต้นยังต้องหารือว่าจะร่วมศึกษาได้หรือไม่อย่างไร

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เผยว่า ได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถึงความเป็นไปได้ในการร่วมศึกษาแหล่งสำรวจฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ลาวมีอยู่มากกว่า 10 แหล่ง แต่เพิ่งสำรวจไปได้เพียง 3 แหล่ง 
“ทางลาวได้ชวนให้ทางเรานำนักวิจัยมาร่วมศึกษา ไทยเองอยากศึกษาว่าในแถบอาเซียนนั้นมีแนว “กะปอมยักษ์” ที่ไหนบ้าง แล้วมีพันธุ์ใหม่ๆ อะไรบ้างใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะร่วมศึกษากันในอนาคต ตอนนี้ทาง อพวช.มีนักวิจัยฟอสซิลแค่คนเดียว และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ อพวช.โดยตรง ยังเป็นเรื่องของกรมทรัพยากรธรณีด้วย แต่ทาง อพวช.ก็ยินดีให้ความร่วมมือ” นายสาครกล่าว

รักษาการผู้อำนวยการ อพวช.กล่าวว่า สิ่งที่ไทยและลาวเป็นห่วงในเรื่องฟอสซิลคือการลักลอบขุดมาขาย ซึ่งในเมืองไทยนั้นไม่สามารถครอบครองฟอสซิลได้เพราะเป็นสมบัติของชาติ แต่ที่ลาวยังไม่มีกฎหมายควบคุม และบางครั้งไม่ใช่แค่การครอบครองหรือลักลอบไปขายเท่านั้น แต่บางครั้งยังไม่รู้คุณค่า เช่น สร้างถนนตัดผ่านบริเบณที่มีซากฟอสซิล บางครั้งเห็นกระดูกฟอสซิลโผล่ตามแนวถนนที่ตัดผ่าน เป็นต้น ดังนั้นการเข้ามาศึกษาให้เร็วก็จะเป็นประโยชน์

ส่วนไทยจะเข้าไปร่วมศึกษาได้แค่ไหนนั้น นายสาครระบุว่า ยังตอบไม่ได้เพราะทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทยยังไม่ทราบว่า มีกระทรวงอื่นเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ไทยกับลาวจึงต้องคุยกันว่าจะร่วมมือกันได้ไหม ตอนนี้มีความคืบหน้าแค่ลงไปดูที่พื้นที่ก่อนแล้วค่อยหารือกัน ซึ่งครั้งหน้าทางไทยจะลงไปดูที่แขวงสะหวันนะเขตของลาว ซึ่งมีพื้นที่ขุดสำรวจถึง 10 แห่งก่อนจะหารือกันอีกครั้ง

“ผมมองว่าที่ จ.ขอนแก่นมีซากไดโนเสาร์คอยาวกินพืชและที่ จ.กาฬสินธุ์มีไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์ใหม่ เราดูสายกระดูกแล้วเห็นว่าไปทางมุกดาหารแล้วจะเข้าสะหวันเขตพอดี ตรงแนวนี้เป็นดินลูกรังทั้งหมด เป็นป่าลูกรัง ซึ่งตรงนี้จะช่วยรักษาซากฟอสซิลได้อย่างดี เป็นจุดที่มีความสมบูรณ์มาก แต่เรายังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง บางทีองค์ความรู้ตรงนี้เราทำคนเดียวไม่ได้ สิ่งที่ อพวช.จะได้คือช่วยรักษาและช่วยเอามาแสดง ส่วนการจำแนกชนิดนั้นต้องช่วยกันหลายกระทรวง”
   
ทั้งนี้ เพิ่งมีการประชุมทวีภาคี เรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และการส้รางความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่าง อพวช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สสป.ลาว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา โดย นายสาครเผยว่าทางลาวมีความสนใจในการสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และท้องฟ้าจำลอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน โดยในส่วนของการสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นทางลาวได้ขอให้ทาง อพวช.ช่วยออกแบบและเสนอนิทรรศการที่น่าสนใจ 4-5 ตัวอย่างให้ทางลาวพิจารณาเพื่อตัดสินใจและของบประมาณ ส่วนการสร้างท้องฟ้าจำลองจะอาศัยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (สดร.) ของไทย ซึ่งมีประสบการณ์ออกแบบหอดูดาวถึง 7 แห่ง รวมทั้งการส่งบุคลากรของ สดร.ไปอบรมแก่บุคลากรของลาว และส่งบุคลากรของลาวมาอบรมที่ไทย  

นอกจากนี้ยังมีแนวทางความร่วมมืออื่นๆ อาทิ กิจกรรมการส่งเยาวชนของลาวเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ที่ทาง อพวช.จัดขึ้น การจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ของลาว ซึ่งมีความเห็นว่าจะดำเนินอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมถึงการศึกษาความหลากลหายทางชีวภาพ ซึ่ง นายสาครกล่าวว่าทาง อพวช.มีผู้เชี่ยวชาญในนี้ในเรื่องนี้และจะส่งบุคลากรไปช่วยอบรมเจ้าหน้าที่ลาวในการเก็บรักษาตัวอย่างพืชและสัตว์ รวมถึงการสตัฟฟ์ร่างสัตว์ที่ตายแล้วด้วย อีกทั้งยังจะนำของเล่นพื้นบ้านของลาวที่อธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์มาจัดภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่จะจัดขึ้นที่เมืองไทยด้วย ซึ่งการที่ลาวมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มาได้ 3-4 ปีช่วยให้การดำเนินงานระหว่างกระทรวงง่ายขึ้น

 

 

 

 

 






*******************************

ยาเคลือบอุปกรณ์การแพทย์ยับยั้งการเติบโตเชื้อโรคจากเทคโนโลยีบรรจุแคปซูลนาโนเพื่อควบคุมการปลดปล่อยยาเคลือบกำจัดเชื้อโรค 1 ในตัวอย่างวิศวกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำผลงานนักศึกษาไทย อ่านต่อเพิ่มเติมคลิก www.manager.co.th/science #engineering #bioengineering #medicalengineering #medical #medical #innovation #project #undergrat #student #thailand #managersci #astvscience #sciencenews

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น