xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci : ทอผ้าลายยกด้วย “ตะกอไฮเทค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.เกสร วงเกษม สาขาวิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ ม.มหาสารคาม
ชมวิธีทอผ้าพื้นเมืองด้วยสิ่งประดิษฐ์สุดไฮเทค “ตะกอทอผ้าไมโครคอนโทรลเลอร์” ผลงานอาจารย์สาว ม.สารคาม ที่จะทำให้การทอผ้าแบบบ้านๆ ไม่ใช่เรื่องของคนเฒ่าคนแก่อีกต่อไป ก้าวใหม่ของนวัตกรรมกู้ศิลปวัฒนธรรมอีสาน



SuperSci สัปดาห์นี้พาไปดูนวัตกรรมสุดล้ำที่จะมาช่วยให้การทอผ้าลายยกแบบพื้นบ้านของไทยไม่สูญหายไปตามกาลเวลา กับเครื่องควบคุมตะกอทอผ้าที่ถูกออกแบบให้สามารถจดจำลายผ้าโบราณได้นับร้อยนับพันลาย ผ่านอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ทำให้ไม่ว่าเด็กหรือคนแก่ก็สามารถทอผ้าลายยกได้ แถมรวดเร็วกว่าการทอมือแบบเก่าถึง 3 เท่า

ผศ.ดร.เกสร วงเกษม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เครื่องตะกอทอผ้า ที่เธอและทีมวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นทางเทคโนโลยีที่สร้างมาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับวัฒนธรรมการทอผ้าท้องถิ่นของ จ.มหาสารคาม ที่นับวันยิ่งหาคนรุ่นใหม่สานต่อได้ยาก เพราะขั้นตอนมีความซับซ้อนยุ่งยาก จำเป็นต้องใช้ฝีมือและความประณีตค่อนข้างสูง อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็สนใจที่จะเข้าไปทำงานในเมืองมากกว่า

“เด็กรุ่นใหม่ส่วนมากเรียนจบมาก็เข้าเมืองหางานทำ ไม่ก็อยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมกันหมด แทบไม่มีแล้วคนที่จะมาสืบต่อศิลปะประเพณีที่ดีงามเอาไว้ ในขณะที่คนรุ่นเก่าก็ทะยอยล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักประดิษฐ์และเห็นปัญหานี้มานาน คงจะต้องทำอะไรสักอย่างให้การทอผ้าพื้นเมืองเหล่านี้ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีทักษะหรือคลุกคลีกับการทอผ้ามาก่อน และคนรุ่นเก่าที่มีทักษะแต่เรี่ยวแรงร่อยหรอ ไม่สามารถจำลายที่มีความสลับซับซ้อนได้เหมือนสมัยหนุ่มสาว” ผศ.ดร.เกสร เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ผศ.ดร.เกสร ระบุว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการสืบทอดการทอผ้าลายยก คือ จำนวนตะกอที่ใช้สำหรับขึ้นลายผ้ามีค่อนข้างมาก ต้องอาศัยการจดจำและความแม่นยำของผู้ทอผ้าจึงจออกมาสวยงามแปลกตา และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เองจึงทำให้ชาวบ้านสามารถผลิตผ้าทอได้ความยาวเพียงแค่วันละ 1 คืบเท่านั้น

เธอจึงมุ่งเป้าการประดิษฐ์เครื่องตะกอทอผ้าให้มีประสิทธิภาพแปลกใหม่ โดยการใช้กระบอกลมนิวเมติกส์ช่วยดึงลำตะกอไม้ไผ่เพื่อให้เกิดลายผ้า ซึ่งตะกอแต่ละตัวจะถูกควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ที่มีความสลับซับซ้อนมากถึง 160 ขั้นตอน ซึ่งไมโครคอนโทรลเลอร์นี้จะเป็นระบบที่ช่วยจดจำลายผ้าและทำให้ได้ผ้าที่ทอมีลวดลายถูกต้องและสวยงามตามที่ผู้ทอต้องการ ผู้ทอที่ใช้เครื่องทอผ้าแบบใหม่จึงมีหน้าที่แค่สอดกระสวยเส้นพุ่งไปมา แล้วกดปุ่มควบคุมก็จะทำให้เกิดลายผ้าตามที่ต้องการแทนการดึงไม้ตะกอที่ค่อนข้างกินเวลา ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จนชำนาญก็สามารถเริ่มการทอผ้าลายยกได้ทันที ผศ.ดร.เกสร กล่าว

“การทอผ้าลายยกสมัยเก่าถ้าในคนที่ยังไม่ชำนาญ การทอแต่ละครั้งอาจต้องใช้คนช่วย 2-3 คน ใช้เวลาในการทอแต่ละแถวลายนานถึง 10 นาที แต่สำหรับตะกอที่เราพัฒนาขึ้นนอกจากจะใช้คนควบคุมแค่เพียงคนเดียวแล้ว ยังสามารถทอผ้าได้เร็วขึ้นถึง 3 เท่าโดยที่ความสวยงามและความประณีตของลายยกยังเหมือนเดิมทุกประการ จึงค่อนข้างเชื่อมั่นว่าสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นนี้จะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำถิ่นไม่มากก็น้อย ซึ่งในอนาคตก็จะเดินหน้าพัฒนาเครื่องต่อให้สามารถทอผ้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และจะพัฒนาตะกอให้มีรูปแบบที่เรียบง่าย น่าใช้มากกว่านี้ เพราะผู้สูงอายุบางรายที่ได้ทดลองใช้เครื่องยังรู้สึกไม่เคยชินและไม่กล้าทำงานกับเครื่องจักร” ผศ.ดร.เกสร กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทั้งนี้สิ่งประดิษฐ์เครื่องควบคุมตะกอทอผ้า ไดัรับรางวัลที่ 2 ในโครงการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์คิดค้นไทยประจำปี 2557 ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ได้รับโล่เชิดชูเกียรติพร้อมเงินรางวัลมูลค่า 150,000 บาท จาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายธนภัทร นวลทะ (ซ้าย) นายศิวณทร ศรีโลห้อ (ขวา) ผู้ช่วยนักวิจัย
กระบอกลมนิวเมติกส์ ถูกนำมาใช้ช้วยดึงตะกอเพื่อขึ้นลายผ้าผ่านการควบคุมลายจากไมโครคอนโทรลเลอร์






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น