xs
xsm
sm
md
lg

RAW File กับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ในการถ่ายภาพนั้น เรามักได้ยินการกล่าวถึงการถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW อยู่เสมอ สำหรับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ และก็คงมีหลายๆคนที่ได้ลองถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW กันบ้างแล้ว ซึ่งสาเหตุก็เพราะคุณจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทั้งความยืดหยุ่นในการดึงรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นในส่วนสว่าง (Highlight) และส่วนมืด (Shadow) รวมทั้งสีสันสดใสที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอีกด้วย

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งสำหรับการถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW ในทางดาราศาสตร์ก็ คือ การปรับค่าอุณหภูมิสี (WB) นั้นเอง เนื่องจากการประมวลผลภาพนั้น นอกจากไฟล์ภาพ (Light-frame) แล้ว เรายังต้องถ่ายภาพ Dark Frame และ Flat field อีกด้วย ซึ่งทุกครั้งก่อนการนำไฟล์ภาพทั้งหมดมาประมวลภาพนั้น ก็จำเป็นต้องปรับค่าอุณหภูมิสี และค่าต่างๆให้เหมือนกับภาพถ่ายก่อนเสมอ ซึ่งไฟล์ JPEG ไม่มีความยืดหยุ่นในการจัดการในเรื่องดังกล่าวนี้
ภาพถ่ายกลุ่มดาวนายพรานและกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ ที่ถ่ายมาด้วยไฟล์ RAW รวมทั้งการถ่ายภาพ Dark Frame และ Flat field เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลภาพ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือรายละเอียดและความสามารถในการดึงรายละเอียดของเนบิวลออกมาได้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 50 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 500 / Exposure : 300 sec x 6 Images / Mount : Vixen Polarie Star Tracker)
เอาล่ะครับ สำหรับคอลัมน์นี้ เราจะมาพูดถึงการถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW ที่มีความแตกต่างกับการถ่ายภาพด้วยไฟล์ JPEG ในด้านต่างๆ ว่าทำไมเราจึงควรเลือกถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW มากกว่าไฟล์ JPEG ทั้งๆ ที่ไฟล์ JPEG มีความสะดวกกว่า ดังนี้


RAW แตกต่างจากไฟล์ชนิดอื่นอย่างไร?
ความสามารถของไฟล์ RAW ที่ให้ความยืดหยุ่นในการดึงรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นในส่วนสว่าง(Highlight) และส่วนมืด(Shadow) รวมทั้งสีสันและรายละเอียด (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30 sec)
RAW เป็นไฟล์ภาพชนิดหนึ่งที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์นิยมใช้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกล้อง DSLR โดยไฟล์ RAW จะไม่ผ่านกระบวนการภายในกล้อง

โดยทั่วไปแล้วไฟล์ชนิดอื่น เช่น JPEG เมื่อเราถ่ายภาพออกมาแล้ว เซ็นเซอร์รับภาพจะเข้าสู่กระบวนการภายในของกล้อง และจะมีการบีบอัดข้อมูล การเพิ่มสีสัน หรือการลบสัญญาณรบกวน ฯลฯ เมื่อเกิดกระบวนการนี้ขึ้น ภาพที่เราถ่ายมาอาจทำให้มีการสูญเสียรายละเอียดไปหรืออาจทำให้สีของภาพผิดเพี้ยนไปได้

ดังนั้น ภาพที่ได้จากไฟล์ RAW จะให้รายละเอียดและคุณภาพดั้งเดิมมากที่สุด แต่ถ้าคุณเลือกที่จะถ่ายภาพด้วยไฟล์ JPEG ซึ่งมีความสะดวกกว่า นั่นก็หมายถึงว่าคุณจะสูญเสียรายละเอียดในภาพต้นฉบับไปอย่างน่าเสียดาย แต่กับไฟล์ RAW คุณจะไม่เสียอะไรเลย
ภาพตัวอย่างจากการประมวลผลภาพจากไฟล์ RAW ถึงแม้จะใช้ความไวแสงสูง แต่ความยืดหยุ่นของไฟล์ RAW ก็ยังสามารถดึงรายละเอียดและสีสันของภาพทางช้างเผือกออกมาได้ โดยที่ยังสามารถคงคุณภาพของไฟล์ไว้ได้เช่นเดิม (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 35 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 5000 / Exposure : 15 sec)
ข้อแตกต่างระหว่างไฟล์ RAW และ JPEG

JPEG คือไฟล์รูปภาพมาตรฐานในระบบคอมพิวเตอร์ ข้อดีของไฟล์ชนิดนี้คือ มีความเป็นมาตรฐานคอมพิวเตอร์ทั่วไป ไฟล์ชนิดนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในระบบการพิมพ์การอัดภาพแล๊บสีทั้วไป ส่วนข้อเสีย ของไฟล์ชนิดนี้ก็คือเนื่องจากมีการบีบอัดข้อมูลจึงทำให้เกิดการสูญเสียข้อมูลไปบ้าง อีกทั้งเวลานำไปใช้ปรับแต่งก็จะทำได้ไม่ดี เพราะไฟล์ JPEG ได้ถูกประมวลผลไปแล้ว และทุกครั้งที่นำไฟล์ JPEG ไปปรับแต่งและบันทึกไฟล์ภาพนั้นซ้ำๆ ไฟล์จะถูกบีบอัดอีกรอบ ข้อมูลของภาพก็จะสูญหายทุกๆ ครั้ง ส่งผลให้คุณภาพโดยรวมของภาพลดลงไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างภาพที่ใช้ไฟล์ JPEG มาใช้ในการประมวลผล
ตัวอย่าง ผลลัพธ์การประมวลผลภาพด้วยการปรับแต่งค่าต่างๆ จากโปรแกรม Photoshop จากไฟล์ JPEG ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ได้คือ ภาพแตก หยาบ และสีสันมีความผิดพี้ยนเกิดขึ้นกับภาพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Canon 7D Mark ll / Lens : Canon EF15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec)
RAW คือไฟล์ข้อมูลดิบที่ได้จากเซ็นเซอร์โดยตรง และยังไม่ผ่านกระบวนการประมวลผลหรือบีบอัดจากกล้อง ทำให้ไฟล์ชนิดนี้มีข้อมูลอยู่มาก ไฟล์ RAW จึงมีคุณภาพดีกว่าไฟล์ JPEG และเนื่องจากมันคงไม่ถูกประมวลผล จึงทำให้เราสามารถนำไฟล์ RAW มาปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ได้ เช่น เปลี่ยนค่าอุณหภูมิสี (WB) ได้ใหม่ ปรับชดเชยแสงให้ภาพมืดลงหรือสว่างขึ้นได้ดีกว่าไฟล์ JPEG ข้อเสียก็คือไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่กว่าไฟล์JPEG ที่ความละเอียดเท่าๆ กัน ถึง 5 เท่า อีกทั้งไฟล์ RAW ไม่ได้เป็นฟอร์แมตมาตรฐาน โปรแกรมเปิดดูภาพส่วนใหญ่รวมถึงเว็บบราวเซอร์จึงไม่สามารถเปิดดูไฟล์ RAW ได้ช่างภาพจึงต้องนำไฟล์เหล่านี้ไปปรับแต่งค่าต่างๆ แล้วแปลงออกมาเป็นไฟล์มาตรฐาน เสียก่อน จึงจะสามารถใช้งานได้

ตัวอย่างภาพที่ใช้ไฟล์ RAW มาใช้ในการประมวลผล
ตัวอย่าง ผลลัพธ์การประมวลผลภาพด้วยการปรับแต่งค่าต่างๆ จากโปรแกรม Photoshop ด้วยไฟล์ RAW ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยสามารถดึงรายละเอียดทั้งในส่วนสว่าง  (Highlight) และส่วนมืด (Shadow) รวมทั้งสีสันของภาพได้โดยที่ยังสามารถคงคุณภาพของไฟล์ไว้ได้เช่นเดิม (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Canon 7D Mark ll / Lens : Canon EF15mm f/2.8 Fisheye / Focal length : 15 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec)
ดังนั้น ไฟล์ RAW หรือไฟล์ข้อมูลดิบจะมีช่วงไดนามิกเรนจ์หรือช่วงกว้างของสีที่กว้างกว่า และเก็บรักษาข้อมูลส่วนใหญ่ไว้ในภาพที่ถ่ายมา วัตถุประสงค์ของไฟล์ภาพดิบนั้นก็เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลที่รับมาจากเซนเซอร์และสภาพแวดล้อมรูปที่ถ่ายโดยสูญเสียข้อมูลให้น้อยที่สุด

จำนวนบิตที่เพิ่มขึ้นคือปริมาณโทนสีที่มากขึ้น
<b>ตัวเลขจำนวนบิต  8 บิต 12 บิต 14 บิต และ16 บิต มีผลอย่างไรในไฟล์ RAW?</b>
ตัวเลขจำนวนบิต 8 บิต 12 บิต 14 บิต และ16 บิต มีผลอย่างไรในไฟล์ RAW?

ภาพถ่ายทุกภาพ จะประกอบไปด้วยช่วงโทนสี ตั้งแต่ดำสนิทไปจนถึงขาวบริสุทธิ์ และ "Bit-Depth" นี้จะบอกถึงค่าโทนสีที่แตกต่างกันในภาพๆ นั้น ไฟล์ JPEG นั้นเป็นไฟล์ 8-บิต ดังนั้นจึงประกอบด้วยโทน 256 โทน ขณะที่ไฟล์ RAW มักจะเป็นไฟล์ 12 หรือ 14 บิต ซึ่งประกอบด้วยโทนอย่างน้อย 4,096 โทน ซึ่งก็จะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าละเอียดกว่าไฟล์ JPEG นั่นเอง

ดังนั้น เหตุผลที่ทำให้เราควรเลือกถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ด้วยไฟล์ RAW ก็เนื่องด้วยการมีอิสระในการปรับแต่งภาพรวมถึงคุณภาพของผลลัพธ์โดยรวมที่เหนือกว่าไฟล์ JPEG โดยเฉพาะจำนวนโทนสีของภาพที่มากกว่า ซึ่งหมายถึงการไล่โทนที่นุ่มนวลกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโทนที่มีสีหรือโทนใกล้เคียงกัน แต่จุดเด่นเหล่านี้ก็มีสิ่งที่ต้องแลกด้วยไฟล์ RAW นี้ที่มีใหญ่กว่าไฟล์ JPEG

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน













กำลังโหลดความคิดเห็น