xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์ กับ ดวงดาว - Human and The Universe

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายบริเวณใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) คือส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือก ประกอบด้วยวัตถุท้องฟ้ามากมาย เช่น กระจุกดาว เนบิวลา รวมทั้งหลุมดำด้วย ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความสวยงาม และเหมาะที่จะเฝ้าดูในช่วงฤดูร้อน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 35 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 15 sec.)
มนุษย์ยุคแรกๆ ได้มองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืนและอาจเริ่มตั้งคำถามขึ้นว่า วัตถุส่องแสงระยิบระยับมากมายบนท้องฟ้าคืออะไร ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนท้องฟ้าขึ้น

ใครจะเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า ชีวิตของมนุษย์ มีความสัมพันธ์กับดวงดาวมาตั้งแต่โบราณกาล การเคลื่อนที่ของดวงดาว มีอิทธิพลต่อมนุษย์ต่อวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง มีการเคลื่อนที่ มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากมายทั้งชีวิต ส่วนตัว การเงิน การงาน ความรัก ความสมหวัง ผิดหวัง

สำหรับในคอลัมน์นี้ เราจะมาพูดกันถึงการการถ่ายภาพมนุษย์กับดวงดาวกัน ว่า เราจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบดู “ดาว” ในท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้วล่ะก็ คุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่น่าจะเข้าข่ายกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ที่คอยเฝ้าสังเกตติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆของดวงดาวบนท้องฟ้าเช่นกัน

ในการค้นพบสิ่งต่างๆ ในเรื่องของดาราศาสตร์ที่เผยแพร่ โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นนั้นมีความสำคัญมาก และดาราศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในวิทยาศาสตร์จำนวนน้อยสาขาที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นยังคงมีบทบาท โดยเฉพาะการค้นพบหรือการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

ทว่า นอกจากประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว เรายังสามารถหาประโยชน์จากดวงดาวในทางศิลปะได้เช่นกัน ดังเช่น การถ่ายภาพดวงดาวไม่ว่าจะเป็น แนวทางช้างเผือก หรือแม้กระทั้งกลุ่มดาว หรือการเคลื่อนที่ของดวงดาวนั้น เราก็สามารถได้ประโยชน์ในด้านความสวยงามและศิลปะ ที่แตกต่างกับการถ่ายภาพแขนงอื่นๆ อีกด้วย

ดังเช่นภาพตัวอย่างด้านล่างนี้ เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการถ่ายภาพ Pre Wedding ของคู่รัก นักดาราศาสตร์ที่ต้องการนำเอาความงามของดวงดาวในยามค่ำคืนมาไว้เป็นภาพแห่งความทรงจำที่ดีในภาพงานแต่งงานของทั้งคู่

ภาพพรีเวดดิงกับทางช้างเผือกนี้ ผมคิดว่าช่วงนี้ก็ถือเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายภาพแนวนี้ก่อนงานแต่งงานก็แนวดีนะครับ เพราะมันไม่เหมือนใคร ประกอบกับช่วงนี้เราจะสามารถถ่ายภาพแนวทางช้างเผือกได้ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนเป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทั่วประเทศไทย สำหรับใครที่อยู่ทางใต้ ช่วงนี้หากฝนไม่ตกจะมีโอกาสดีกว่าคนอื่น เพราะแนวทางช้างเผือกเป็นบริเวณของกลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ ทำให้เห็นแนวทางช้างเผือกได้ง่ายและอยู่ในมุมที่สูงกว่าทางภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย
ภาพถ่ายมนุษย์กับกลุ่มดาว โดยกลุ่มดาวนายพรานก็ถือเป็นอีกกลุ่มดาวหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งช่วงเดือนเมษายน นี้กลุ่มดาวนายพรานจะปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 51 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 20 sec.)
เทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพ

1.ใช้สูตรการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้อง Rule of 400/600 (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/eHRt8o) ร่วมด้วยเสมอ เพื่อไม่ทำให้ดาวยืดเป็นเส้นมากจนเกินไป

2. หากเราต้องการหยุดให้วัตถุ ในที่นี้คือตัวมนุษย์ ให้หยุดนิ่งและคมชัดมากที่สุด ผมแนะนำการใช้แสงแฟลชสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ชุดที่ 2 คือการยิงแฟลชในจังหวะที่ม่านชัตเตอร์กำลังจะปิด

3. ถ่ายภาพที่ระยะไฮเปอร์โฟกัส หมายถึง การโฟกัสที่ทำให้วัตถุมีความคมชัดตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงระยะไกลสุด สำหรับเลนส์มุมกว้างก็ประมาณง่ายๆ โดยให้กล้องอยู่ห่างจากตัววัตถุตั้งแต่ 3 เมตรโดยประมาณ

โดยสามารถคำนวณได้จากเว็บตัวอย่างนี้ http://www.dofmaster.com/dofjs.html คุณก็จะสามารถถ่ายภาพที่มีระยะชัดลึกตั้งแต่ฉากหน้าไปจนถึงฉากหลังในภาพของคุณเช่นนี้ได้ด้วยการใช้หลักการของระยะไฮเปอร์โฟกัส

ตัวอย่างการคำนวณหาระยะไฮเปอร์โฟกัส จากเว็บไซต์นี้ http://www.dofmaster.com/dofjs.html เมื่อใช้กล้องแบบ Full Frame กับเลนส์ทางยาวโฟกัส 16 mm. ก็สามารถคำนวณระยะไฮเปอร์โฟกัสได้เท่ากับ 3.03 m. ดังตัวอย่างข้างต้น

​4. ศึกษาเวลาการขึ้น-ตก ของดวงดาวหรือวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการถ่ายภาพล่วงหน้า โดยอาจใช้ฟรีแวร์เช่น stellarium หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนมือถือได้ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Star Chart

​5. ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกไปถ่ายภาพล่วงหน้าเสมอ โดยสามารถตรวจสอบจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา โดยดูจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียม หรือแอพลิเคชั่นบนมือถือเช่นกัน

ช่วงนี้หากสถานที่ไหนท้องฟ้าใสเคลียร์ ลองออกไปสำรวจท้องฟ้าด้วยการถ่ายภาพตัวคุณกับวัตถุท้องฟ้ากันบ้าง หรือคุณอาจจะลองรับงานถ่ายภาพ Pre Wedding กับทางช้างเผือกดูก็อาจทำให้ลูกค้าคุณพอใจกับแนวการถ่ายภาพคู่รักแบบใหม่ด้วยก็ได้ ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงข้างขึ้น ดวงจันทร์ก็จะตกตั้งแต่หัวค่ำ ทำให้คุณสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกหรือกลุ่มดาวต่างๆ โดยที่ไม่มีแสงจันทร์มารบกวนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

“โอกาสมาแล้ว จงรีบออกไปค้นฟ้า คว้าดาวกันเถอะ"

ขอทิ้งท้ายคอลัมน์นี้ไว้ว่า “ทุกครั้งที่คุณออกไปถ่ายดาว คุณก็กำลังเรียนรู้วิชาดาราศาสตร์โดยที่คุณไม่รู้ตัว” ขอให้มีความสุขกับการถ่ายดาว สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน













กำลังโหลดความคิดเห็น