xs
xsm
sm
md
lg

“กังหันลมแนวนอน” ผลิตไฟฟ้าจากลมความเร็วต่ำรายแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์
มจธ.ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และบริษัท ตะวันออกซินเทค จำกัด เปิดตัว “กังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์” เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากความเร็วลมต่ำทดแทนการนำเข้ารายแรกของไทย

ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เผยว่า ไทยให้ความสำคัญและสนใจพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งการผลิตพลังงานทดแทนอื่นๆ และพลังงานลมเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งในการสนับสนุนพัฒนาให้เป็นไปตาม ยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

“เทคโนโลยีกังหันลมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เขตเส้นศูนย์สูตรทำให้ได้รับแรงลมเฉลี่ยทั้งปีต่ำถึงปานกลาง ดังนั้น การที่จะพัฒนาพลังงานลมเพื่อใช้ประโยชน์ จึงจำเป็นต้องศึกษารูปแบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมกับความเร็วลมที่มีอยู่ จึงเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาสร้างกังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์” ผศ.นิธิเผย

สำหรับโครงการพัฒนาสร้างกังหันลมแนวนอนขนาด 1 กิโลวัตต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านี้เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยโดย สวท. ร่วมกับบริษัท ตะวันออกซินเทค จำกัด ดำเนินการวิจัยและพัฒนาขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยจากสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50% ของงบประมาณโครงการทั้งหมด เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และด้วยแต่ละพื้นที่ที่มีความเร็วลมแตกต่างกันจึงเป็นข้อจำกัดของการใช้กังหันแนวตั้งที่อาจไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปริมาณของลมไม่มากและบนอาคารสูง

สำหรับการพัฒนากังหันลมแนวนอนนี้ มีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 6 เมตร ออกแบบและสร้างโดยใช้กังหันลม ESCO Wind Turbine จึงมีคุณสมบัติพิเศษ คือการออกแบบเหมาะสมกับสภาพลมในประเทศไทย ที่มีความเร็วลมต่ำและลมแปรปรวน สามารถรับลมได้ทุกทิศทุกทาง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรับลมจากด้านหน้าและหลัง วัสดุที่ใช้สามารถทนต่อสภาพการกัดกร่อนของกรดและไม่เป็นสนิม (Engineering Composite Polymer) และผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อสัตว์ปีก เช่น นก เป็นต้น มีเสียงจากการหมุนของกังหันลมที่ต่ำ น้อยกว่า 20 เดซิเบล/5 เมตร

“กังหันลมแนวนอนดังกล่าวเหมาะสำหรับโรงเรือนปศุสัตว์ที่ปล่อยลมทิ้งและดาดฟ้าของตึกสูง สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งแนวคิดการออกแบบกังหันลมแนวนอนนี้เน้นการใช้งานบนพื้นราบของอาคารสูงเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ ติดตั้งเป็นแนวยาว สูงจากพื้นอาคาร 2-3 เมตร และวัตถุประสงค์อีกประเด็นหนึ่งคือออกแบบเพื่อนำไปใช้รับลม หมุนเวียนที่ปล่อยทิ้งมาจากโรงเรือนปศุสัตว์ ซึ่งจะสามารถติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ด้วย” ผศ.นิธิระบุ  

ทั้งนี้ กังหันลมแนวนอนที่ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ติดตั้งง่ายและสามารถขยายผลโดยการส่งเสริมให้มีการใช้ในครัวเรือน ชุมชนขนาดเล็ก ผู้ประกอบการ ครัวเรือน ฟาร์มกังหันลมที่ต้องการใช้พลังงานลม ในการผลิตไฟฟ้าใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ

ผศ.นิธิ บุรณจันทร์






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น