ซีรีส์ - ชี(วิทย์)วิต ตอนที่ 1 "อาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด"
เรียนถึงดอกเตอร์แต่อยากทำนา? ฮิตทำตามกระแส หรือแค่อยากลอง? แต่ก่อนการเกษตรถือเป็นงานหนัก แต่ปัจจุบันห้องทำงานกลับแคบกว่าความฝัน คนเมืองรุ่นใหม่สนใจความมั่นคงทางอาหาร มุมมองและวิธีคิดที่เชื่อมโลกวิทยาศาสตร์ เครือข่ายออนไลน์ กับการเกษตรแบบพื้นบ้าน จึงกลายเป็นเรื่องชวนคุยวิทย์สะกิดใจ
“ครูแม้ว” หรือ ดร.มนต์อมร ปรีชารัตน์ เป็นหนึ่งในชาวนาวันหยุด วันธรรมดาครูแม้วเป็นอาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่พอถึงวันหยุดกลับใช้ชีวิตลุยโคลนนาอินทรีย์ใน อ.บางเลน จ.นครปฐม ไม่ไกลจากที่ทำงาน ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ใช่แค่เพียงข้าวปลอดสารพิษ แต่เกิดแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นสื่อการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวนาตัวจริง
จุดเริ่มต้นของครูแม้ว อาจไม่ต่างกับชาวนารุ่นใหม่หลายคน คือ “อยากเติมเต็มชีวิต และปกป้องครอบครัวด้วยอาหารสะอาด” ตั้งแต่เธอเด็กๆ เธอมีฝันอยากเป็นครูและเจ้าของฟาร์ม จนเมื่อโตขึ้นได้เป็นครูตามที่ตั้งใจ เหลือแต่เจ้าของฟาร์มที่ยังไม่ได้ลองทำ แต่เมื่อชีวิตกลายเป็นมนุษย์เมืองเต็มขั้น ก็รู้สึกว่าอาจกลับไปพัฒนาที่ดินของบรรพบุรุษ อยากปลูกข้าวปลูกผักปลอดสาร เพราะไม่อยากให้คนในครอบครัวเจ็บป่วยก่อนวัยอันควร จนเมื่อไปพักที่หมู่บ้านโอมือโชเปอ ดอยอินทนนท์ ก็เริ่มมีแนวทาง อยากทำโฮมสเตย์ให้คนได้ลองทำนาอินทรีย์ พยายามหาไอเดียและสำรวจตัวเอง ว่าทำอะไรได้บ้างจากสิ่งที่มี แต่ที่สำคัญ คือ “ทำนาไม่เป็น ต้องเริ่มฝึกทำนาก่อน จึงเป็นที่มาของการทำนาวันหยุด”
สิ่งที่น่าสนใจเวลาที่นายปรี๊ดคุยกับครูแม้วก็คือ การนำวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ปัญหา และส่งต่อวิธีคิดนี้ให้กับชาวบ้านที่แอบมาดูคนเมืองทำนาโดยทางอ้อม การเป็นอาจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ศึกษา ทำให้เธอสามารถวางบทบาทตัวเองได้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งบทบาทของผู้รับในฐานะชาวนาหน้าใหม่ และผู้ให้ในฐานะคนที่เข้าถึงข้อมูลในโลกวิชาการได้
ต้นปี 2554 ครูแม้วเริ่มต้นทำนาสไตล์นักวิทย์ ใน จ.อุดรธานี เริ่มค้นเอกสารวิชาการ เดินเข้าศูนย์วิจัยข้าว และเริ่มการทดลองแบบง่ายๆ ในที่นาของคนใกล้ตัว คือ คุณโต (ประกาศิต ฉันสิมา) ซึ่งเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานบริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งก็โชคดีที่พ่อของคุณโตปลูกข้าวกินเอง และชอบศึกษาเรื่องการเกษตร จึงชวนกันศึกษาการทำนาแบบ SRI (ระบบการทำนาแบบปราณีต: System of Rice Intensification) เริ่มทดลองในที่นาขนาดไม่ถึงไร่ ตั้งเป้าว่าน่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต ลดจำนวนต้นกล้า และลดการใช้น้ำ หลังจากส่งตรวจดินและทำระบบน้ำใหม่ ก็ทดลองปลูกข้าว 5 พันธุ์ แบ่งปลูกแบบนาดำน้ำขัง เทียบกับนาดำกล้าต้นเดียวแบบเปียกสลับแห้งอย่างละครึ่ง แม้ข้าวจะได้ผลดีแต่ด้วยงานในนายุ่งมาก จึงไม่ค่อยมีคนช่วยจดบันทึกผลการทดลองให้
“ตอนแรกแม้วก็มโนว่าน่าจะปลูกข้าวได้ไร่ละตัน (หัวเราะ) เราศึกษาแผนที่ดิน ชวนคนที่อยู่ใกล้เคียงลองปลูกข้าวแบบปราณีต ปรับเปลี่ยนเท่าที่จะทำได้ปรับปรุงดินตามที่ส่งไปวิเคราะห์ จากหว่านข้าวก็ดำเอา ดำทีละต้นไม่ไหวก็ดำทีละ 3-5 ต้น ผลที่น่าดีใจ คือ การลดใช้สารเคมี และเป็นจุดแรกๆ ที่เริ่มรู้ว่า นักฟิสิกส์อย่างเราสองคน แม้จะทำนาแบบงงๆ แต่ก็มีส่วนช่วยพัฒนาคนในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นเพื่อนบ้าน เป็นญาติๆ ของเราซึ่งพัฒนาวิธีคิดมากขึ้น จากการร่วมสังเกต และลงมือทำกันจริงๆ””
เมื่อเริ่มสนุกกับการทำนาแต่ยังวิธีการยังไม่ลงตัวกับวิถีชีวิต ช่วงปี 2557 เมื่อครูแม้วรู้ว่าคุณป้ามีที่นาอยู่ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ห่างจากมหาวิทยาลัยไปไม่กี่สิบกิโลเมตร ความหวังครั้งใหม่ที่จะได้ทำนาตามพร้อมกับเอาความรู้การสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ไปทดลองในนาข้าวของตัวเองจึงจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง
“นักฟิสิกส์เห็นอะไรในนาข้าวบ้าง?” เป็นคำถามแรกๆ ที่นายปรี๊ดอยากรู้ การเชื่อมโยงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เข้าสู่การเกษตรอาจเป็นแค่ลมปาก ที่นักการเมืองชอบพูด แต่เมื่อนักวิทย์ฯ คิดทำนา ความรู้ และเครือข่ายในสายงานคงเปิดทางให้เห็นสิ่งใหม่ๆ บ้าง
ครูแม้วเล่าว่า ตอนแรกจะศึกษาระดับน้ำในดินระบบการทำนาแบบปราณีต จะเอาเซนเซอร์มาวัด แต่สุดท้ายไม่เวิร์ค เพราะการควบคุมปัจจัยลำบากและไม่ถนัด เคยทำแต่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (model and simulation) บนคอมพิวเตอร์มาตลอด มาเจอของจริงก็อึ้งไป ต้องอาศัยการเรียนรู้เพิ่มเติม สังเกตของจริงที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหม่
งานวิจัยที่ทำควบคู่ไปกับการทำนาอินทรีย์ในขณะนี้ก็คือ การพัฒนาแบบจำลองการเจริญเติบโตของต้นข้าวภายใต้ระบบการทำนาแบบปราณีต เพื่อคาดการณ์ผลผลิตของข้าว เพราะชาวนาสนใจผลผลิตเป็นหลัก วาดฝันสุดท้ายว่าจะทำเป็นแอปพลิเคชั่น ที่ชาวนาสามารถป้อนข้อมูลลงไปได้ตามช่วงระยะเวลาการทำนา และติดตามผลเองได้ แต่เธอยอมรับว่างานนอกห้องแล็บมีปัจจัยธรรมชาติจำนวนมาก เบื้องต้นจึงลองรวบรวมปัจจัยที่พบในที่นามาคำนวณ เพื่อทำนายว่าควรลงกล้าวันไหน เกี่ยวข้าววันไหน จะได้ผลผลิตดีที่สุด เป็นการพัฒนาในเชิงทฤษฏีเริ่มจากแบบจำลองคณิตศาสตร์แล้วจึงนำไปทดลองใช้จริงในขั้นต่อไป
ครูแม้วออกตัวว่าตนเองโชคดี ที่ได้ทำนาในบ้านบางระกำ อ.บางเลน เพราะคนที่นั่นใจดี และต้อนรับชาวนาหน้าใหม่คนนี้อย่างอบอุ่น ในทางกลับกัน กระบวนคิดแบบชาวนาตัวจริง ก็ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างเธอทึ่งเช่นกัน
“มันก็เหมือนการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาบวกกับความรู้ยุคใหม่ ที่น่าทึ่ง คือเราถูกกระตุ้นให้ใช้ทักษะพื้นฐานสุดๆ ของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ คือ การสังเกต อย่างสีและลักษณะใบข้าวนี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญมาก ชาวนาเก่งๆ เห็นใบข้าวบิดนิดเดียวเค้าก็รู้แล้ว สะท้อนทักษะวิทยาศาสตร์ชัดเจน แสดงชัดเลยว่า แม้แต่คนที่ไม่ได้จบวิทยาศาสตร์ แต่ชอบสังเกต ชอบทดลอง สนใจพัฒาทักษะตนเองเสมอ เมื่อรวมกับความชำนาญแล้ว เค้าแก้ไขปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้และหาทางออกใหม่ๆ ได้เสมอ”
นอกจากการเป็นนักฟิสิกส์ ครูแม้วยังทำงานด้านนวัตกรรมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นครูที่สอนครู การนำแนวความคิดด้านการสอนไปปรับใช้ในท้องนา จึงเป็นอีกประสบการณ์ใหม่ที่ครูแม้วได้รับ
“เราสามารถนำกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้กับกระบวนการเรียนรู้ในนาได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใหญ่มีความเป็นตัวตนสูง ยิ่งชาวนาด้วยแล้ว เค้าถือว่าข้าว คือ ชีวิต เป็นรายได้หลัก แม้วสอนเค้าไม่ได้และไม่เชี่ยวชาญการทำนา แต่เราทำให้เค้าดู แล้วเสนอว่าเค้าอยากลองไหม ถ้าสนใจ ก็มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน นี่ถือเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง การติดต่อสื่อสารจะดึงดูดเค้าเข้ามาหาเราเอง และความรู้ก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ"
"ตัวอย่างที่ชัดๆ คือ ผู้ใหญ่ทักษิณ ผูใหญ่บ้านบางระกำ และลุงปรีชาหรือลุงขาว ที่แม้วถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยธรรมชาติ มาช่วยดูตั้งแต่วันดำนา ช่วยทำน้ำหมัก สอนนับวัน สอนดูโรคข้าว สอนเกี่ยวข้าว แล้วเอาวิธีการของเราไปลองใช้บ้าง ทั้งดำกล้าต้นเดียว ลดใช้ยา และปุ๋ยเคมี ตอนนี้เก่งกว่าเราอีก กลับมาสอนว่าให้ทำอะไรเมื่อไหร่ เพราะแกลองทำแล้วพบปัญหาใหม่ๆ ถือว่าได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เราใช้อินเตอร์เน็ต อ่านทั้งตำราฝรั่งตำราไทย ลุงขาวและผู้ใหญ่มีทักษะจากการทำด้วยตนเอง สุดท้ายเราก็เหมือนคลื่นทางฟิสิกส์ เราซิงโคไนซ์กันได้ คุยกันรู้เรื่อง”
ที่นาแปลงเล็กๆ ขนาด 2 ไร่ กลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ที่หลายคนได้เรียนรู้ร่วมกัน เมื่อเพื่อนพ้องนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรถูกชักชวนมาร่วมหุ้นความคิด สร้างกิจกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบงานอาสาสมัคร ปลายปีที่แล้ว หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ นักชีววิทยาอย่างนายปรี๊ดและเพื่อนๆ ก็ชวนลุงป้าชาวนาที่มาสอนคนรุ่นใหม่อย่างเราเกี่ยวข้าว ไปจับแมลงในท้องนามาส่องว่าตัวไหนเป็นแมลงร้ายหรือดี ขวนกันเอาแหนแดงมาขยี้ดูแบคทีเรียที่มีประโยชน์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 ที่ผ่านมา นาของครูแม้วเป็นที่นาผืนแรกที่ได้ทดลองรถหย่อนกล้านาโยนซึ่งออกแบบสำหรับนาภาคกลาง ประดิษฐ์โดย ดร.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เพราะทั้งสองคน ไปเจอกันในงานวันนักประดิษฐ์
เมื่อนักวิชาการที่สนใจทำนาแลกเปลี่ยนแนวคิดกัน จึงเกิดเป็นข้อมูลชั้นดีในการพัฒนาโมเดล และสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับการทำนาชิ้นใหม่ๆ
“แม้วเสนอ อ.ปัญญาว่า นาภาคกลางมีหล่มเยอะ น้ำก็เยอะด้วย นาทางอีสานดินแน่นเป็นทราย ผลการทดลองใช้รถย่อนกล้าเฉพาะในเขตภาคอีกสาน คงตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานทั้งประเทศไม่ได้ แม้วดีใจนะ ใครอยากมาลองอะไรก็มาเลย ที่นาแค่ 2 ไร่ ถ้ามันสามารถเป็นสนามทดลองให้คนได้ทำงานแบบบูรณาการ ก็น่าจะทำประโยชน์สู่สังคมอีกเยอะ ที่สำคัญ เราพูดกันด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ ยันผลผลิตกันด้วยหลักฐาน วิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา ช่วยกันติดตามสรุปผล ระบบคิดแบบนี้ทำให้เดินหน้าเร็ว และมีปัญหาน้อย”
ประสบการณ์ทำนาของครูแม้ว ถูกรวมรวบไว้ในเพจเฟสบุค ชื่อ “อาจารย์มหาวิทยาลัยวันธรรมดา ชาวนาวันหยุด” ซึ่งล้อมาจากกลุ่ม “ชาวนาวันหยุด” ซึ่งครูแม้วได้เข้าร่วมเครือข่ายเมื่อปี 2555 เป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกหลักหมื่นคนแล้ว เป็นช่องทางแชร์ข้อมูลระหว่างชุมชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำนา เช่น การหาความเหมาะสมในการปรับใช้ทฤษฏีระบบการทำนาแบบปราณีต ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงทฤษฏี แต่ต้องปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนผลการทดลองใหม่ๆ มีกิจกรรมชาวนาวันหยุดสัญจรไปดูงานตามที่นาของเครือข่าย มีสมาชิกที่มีอาชีพหลากหลาย บนความสนใจและความตั้งใจที่อยากเห็นสังคมเกษตรดีขึ้น
“บางคนมองว่าการทำนาวันหยุด เป็นแค่เทรนด์ เดี่ยวก็เลิกเห่อ แต่จริงๆ มันเป็นวิถีเกษตรแบบใหม่ ที่คนอยากกลับไปพัฒนาที่ดินอยากกินข้าวที่ตัวเองปลูก เป็นกลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบ โดยไม่รอกรอบเชิงนโยบาย ต้องการเป็นจุดเล็กๆ พึ่งพาตัวเอง รวมกันเคลื่อนสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นลูกหลานชาวนาที่อยากเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับภูมิปัญญาเดิม ไม่ว่าวันธรรมดาคุณจะเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นนายธนาคาร เป็นโบรกเกอร์ วิศวกร เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทุกคนกลายเป็นชาวนาในวันหยุด ลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่ที่เห็นยังไม่มีสมาชิกเป็นนักการเมืองนะ (หัวเราะเสียงดัง)”
สุดท้ายครูแม้วจบบทสนทนากับนายปรี๊ดได้อย่างน่าสนใจ
“แม้วว่า เราต้องเริ่มจากตัวเอง เริ่มจากระบบคิด ไม่ใช่เงิน เช่น ทำโรงสีประจำหมู่บ้าน แต่ไม่มีคนใช้ ยิ่งเดี๋ยวนี้ การทำนาเป็นลักษณะ Farm contract (เกษตรพันธสัญญา) เอกชนขนาดใหญ่หาชาวนาหรือนายทุน แล้วทำตัวเป็นคนกลางส่งกล้า ส่งปุ๋ย รับซื้อ เสร็จสรรพ ทำให้เค้าคุมระบบทั้งระบบได้ มันมีความมั่นคงทางอาหารก็จริง แต่ชาวนาโดนผูกขาดทางความคิด ไม่สามารถคิด หรือทดลองอะไรใหม่ๆ ได้ด้วยตนเองเลย กระบวนการพึ่งตนเอง การใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติก็หายไป ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าห่วงที่สุด หากเริ่มต้นแก้ปัญหาเองไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ”
เนื้อแท้ของวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนคิดตามธรรมชาติ ไม่ใช่แค่วิชาที่ท่องจำในห้องเรียน หรือพูดพร่ำถึงความรู้ยากๆ ที่คนส่วนมากเข้าไม่ถึง เพราะไม่ว่าจะเป็นชาวนา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือใครก็ตาม หากฝึกตัวเองด้วยการสังเกต ลงมือทำ สรุปผล และนำไปใช้แก้ปัญหาเพื่อพัฒนาตัวเองและสังคม นั่นคือการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการดำเนินชีวิต คืนความสุขให้สังคมอย่างยั่งยืน ไม่ต้องรอให้ใครมาจัดการ
***
หมายเหตุ กอง บก.
ซีรีส์ชี(วิทย์)วิต บทความชุดพิเศษโดยนายปรี๊ดเพื่อนำเสนอบุคคลตัวอย่างที่ไม่เด่นดังแต่ใช้ชีวิตอย่างสนุกและมีความสุขด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์
เกี่ยวกับผู้เขียน
“ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ” เจ้าของนามปากกาว่า “นายปรี๊ด” เป็นนักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา มีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์หลากหลาย เช่น งานเขียนบทความ งานแปลสารคดี ทำสื่อของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ และนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากเรื่องใกล้ตัว