แม้จะช่วยให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเร็วขึ้น 2 ปี และรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้ถึง 14 ล้านคน แต่ “อลัน ทูริง” กลับมีชีวิตบั้นปลายอย่างทุกข์ยาก เพียงเพราะเป็นเกย์ แต่ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่เข้าถึงออสการ์ 8 รางวัล ได้ฉายภาพใหม่ให้ชาวโลกได้เห็นเขาในฐานะ “วีรบุรุษ”
เอเอฟพีได้เผยแพร่บทความที่ตอกย้ำความเป็นวีรบุรุษของ อลัน ทูริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์อังกฤษ ในช่วงที่ “ดิ อิมิเทชัน เกม” (The Imitation Game) ภาพยนตร์เผยแพร่ประวัติของเขากำลังโลดแล่นอยู่ในโรงภาพยนตร์ แม้ว่าจะเป็นการเชิดชูที่มาอย่างล่าช้า เพราะเจ้าตัวได้จบชีวิตลงอย่างน่าหดหู่จากการถูกประนามว่าเป็น “เกย์”
ผลงานของทูริงและเพื่อนร่วมงาน ณ โรงเรียนเบลทช์ลีย์ปาร์คไซเฟอร์ (Bletchley Park Cypher School) ไม่เป็นที่รับรู้ในช่วงชีวิตของเขา เนื่องจากเป็นภารกิจ “ลับสุดยอด” และเพิ่งได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2000
ภารกิจลับดังกล่าวคือการถอดรหัสลับของนาซีจากเครื่องจักร "อีนิกมา" (Enigma) ที่เปลี่ยนรหัสไปทุก 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้กลุ่มพันธมิตรก้าวทันเกมสงครามของเยอรมนีได้
ตัวเลขจากนักประวัติศาสตร์เผยว่าผลงานของทูริงทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบเร็วขึ้น 2 ปี และช่วยรักษาชีวิตผู้คนไว้กว่า 14 ล้านคน ทว่า ระหว่างนั้นในช่วงชีวิตเขากลับเผชิญความยากลำบาก
ในปี 1952 เขาถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐดำเนินคดีในฐาน “กระทำอนาจารหยาบช้า” กับชายอื่น เขารอดคุกมาได้ แต่ก็ถูกบังคับให้ทำหมันด้วยกระบวนการทางเคมีเพื่อแลกกับอิสรภาพ ในการลงโทษฐานที่เป็นชายรักร่วมเพศเขาถูกบังคับให้ฉีด “เอสโตรเจน” (oestrogen) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างความทุกข์ทรมานอย่างมาก
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.1954 ทูริงถูกพบกลายเป็นศพจากการได้รับสารพิษไซยาไนด์ เขาเสียชีวิตเพียง 16 วันก่อนครบรอบวันเกิด 42 ปีของตัวเอง แม้ส่วนใหญ่จะมองว่าการตายของเขาคือการฆ่าตัวตาย แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนตั้งคำถามว่าเขาอาจเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือไม่ก็ถูกฆาตกรรม
แม้เจ้าตัวไม่อยู่แล้วแต่ก็มีการรณรงค์ที่นำโดยสถาบันการศึกษาให้ขออภัยเขาอย่างเป็นทางการในปี 2013 และเมื่อปี 2009 กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นได้แถลงการณ์ขออภัยต่อทูริงสำหรับการบำบัด “อันโหดร้าย” เพื่อรักษาอาการเป็นเกย์ตามความเข้าใจในอดีต
“เราเสียใจ คุณสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านั้นมาก” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวไว้
ทว่า เรื่องของทูริงน่าจะรับรู้ในวงกว้างมากขึ้นจากภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย เบเนดิค คัมเบอร์แบทช์ (Benedict Cumberbatch) นักแสดงผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำจากการรับบทเป็นทูริง และเขายังมีบทบาทร่วมลงนามในคำร้องร่วมกับประชาชนกว่า 75,000 คน เพื่อขออภัยต่อชาวเกย์ทั้งหมดที่ได้รับข้อหาอนาจารภายใต้กฎหมายที่ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 1967 ซึ่งประมาณว่ามีผู้ชายกว่า 49,000 คนได้รับโทษตามกฎหมายดังกล่ว แต่เชื่อว่ายังมีอีก 15,000 ที่ยังมีชีวิตอยู่
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่าหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนฟื้นเรื่องราวของทูริงคือ เอส แบร์รี คูเปอร์ (S. Barry Cooper) ศาสตร์จารย์คณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "Alan Turing: His Work and Impact" และเขายังใช้เวลาถึง 6 ปีเพื่อจัดงานฉลองให้แก่วาระกำเนิดครบ 100 ปีในปี 2012 ของทูริง ซึ่งมีกิจกรรมร่วมฉลองหลายร้อยกิจกรรมใน 40 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้าภาพยนตร์ชีวประวัติของทูริงคือหนังสือเรื่อง “Alan Turing: The Enigma” โดย แอนดรูว์ ฮอดจ์ส (Andrew Hodges) ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผลงานนักคณิตศาสตร์ผู้ล่วงลับที่มีต่อวิทยาการคอมพิวเตอร์
หนึ่งในผลงานตกทอดจากทูริงที่มีความสำคัญมากคือ “เครื่องจักรทูริง” (Turing Machine) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เชิงทฤษฎีที่สามารถปรับการจำลองตรรกะของอัลกอริทึมในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสำรวจว่า คอมพิวเตอร์สามารถทำอะไร และเขายังพัฒนา “บททดสอบทูริง” (Turing Test) ในปี 1950 เพื่อแยกแยะคนและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีจำแนกปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือการคิดของคอมพิวเตอร์
นับแจากปี 1966 มีการมอบรางวัล (Turing Award) เพื่อเป็นเกียรติแก่ทูริงทุกปี รางวัลดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็น “รางวัลโนเบลสำหรับวิทยาการคอมพิวเตอร์” ซึ่งปีที่ผ่านมากูเกิลได้ให้เงินสนับสนุนในรางวัลดังกล่าวเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของมูลค่าเดิม
อลัน ทูริง ในวัย 16 ปี ขณะศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเชอร์บอร์น (AFP PHOTO / SHERBORNE SCHOOL)