สดร.แจ้งข่าว “ดาวเคราะห์น้อย” เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 26 ม.ค. ที่ระยะ 1.2 ล้านกิโลเมตร แต่ยันไม่พุ่งชนโลก พร้อมร่วมมือเครือข่ายหอดูดาวต่างประเทศเฝ้าจับตา และระดมกล้องโทรทรรศน์ของไทยทั้งบนยอดดอยอินทนนท์ หอดูดาวภูมิภาค และในชิลี เก็บข้อมูลสังเกตการณ์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แจ้งข่าวว่า นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อย 2004 BL86 จะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 26 ม.ค.58 ที่ระยะ 1.2 ล้านกิโลเมตร ซึ่งอยู่เลยออกไปจากวงโคจรของดวงจันทร์ที่มีระยะห่างจากโลกเฉลี่ย 384,000 กิโลเมตร และเป็นระยะที่โลกปลอดภัยไม่ถูกพุ่งชน โดยดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 กิโลเมตร เป็นดาวหางคาบสั้นมีคาบการโคจรประมาณ 200 ปี และระยะที่เข้าใกล้นั้นมากพอให้นักดาราศาสตร์ศึกษารายละเอียดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้มากพอเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลดาวเคราะห์น้อยต่อไป
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่า สถาบันได้รับการร้องขอจากหอดูดาวในประเทศญี่ปุ่นและเครือข่ายเฝ้าระวังวัตถุที่อาจทำอันตรายต่อโลกในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออก เข้าร่วมสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อย 2004 BL86 ในช่วงที่โคจรเข้าใกล้โลกประมาณวันที่ 25-27 ม.ค.58 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ (PROMPT8) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร ในความดูแลของสถาบันฯ ตั้งอยู่ ณ หอดูดาวเซอร์โรโตโลโลอินเตอร์-อเมริกัน (Cerro Tololo Inter-American Observatory: CTIO) สาธารณรัฐชิลี รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตั้งอยู่ ณ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ของหอดูดาวภูมิภาคอีก 2 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ร่วมกันติดตามการโคจรของดาวเคราะห์น้อยในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อหาตำแหน่งและวงโคจรที่แน่นอน และเก็บเป็นข้อมูลนำมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในอนาคตว่าจะมีโอกาสเกิดอันตรายต่อโลกหรือไม่
ดาวเคราะห์น้อย 2004 BL86 ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ 30 ม.ค.2547 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ของ Lincoln Near-Earth Asteroid Research (LINEAR) ในนิวเม็กซิโก ซึ่งมีพันธกิจอย่างหนึ่งคือการสังเกตการณ์วัตถุขนาดเล็กใกล้โลก ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลกมากที่สุดนั้น นักดาราศาสตร์จะถ่ายภาพด้วยเรดาร์ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูง ด้วยวิธีการยิงคลื่นวิทยุที่มีการเข้ารหัสอย่างอย่างสลับซับซ้อนไปยังดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ในขณะเดียวกันก็มีตัวรับสัญญาณเรดาร์ที่ถูกสะท้อนกลับมาจากดาวเคราะห์น้อย ปริมาณของสัญญาณที่สะท้อนกลับจะถูกนำมาวิเคราะห์และแปลความหมายเพื่อสร้างเป็นภาพถ่ายความละเอียดสูงด้วยคอมพิวเตอร์ นักดาราศาสตร์จะได้ทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย เช่น คาบวงโคจรที่แน่นอนของดาวเคราะห์น้อย ลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย ปริมาณและขนาดของหลุมที่อยู่บนดาวเคราะห์น้อยซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้อายุของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.nasa.gov/jpl/asteroid-to-fly-by-earth-safely-on-january-26/#.VLdwlMaGufQ
http://www.jpl.nasa.gov/news/news.php?release=2006-00a
*******************************