xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลกเทคโนโลยีให้ชาวหม่อนไหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เข้าร่วมในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการกระบวนการผลิตและการตลาดไหมไทยของกรมหม่อนไหมและเนคเทค
จะปลูกหม่อนแบบไหนส่งฟาร์มไหม? ทอผ้าไหมแล้วจะส่งขายใคร? อยากได้เส้นไหมเกรดเอมาทอผ้าจะควานหาจากที่ไหน? สารพัดปัญหาในอุตสาหกรรมหมื่อนไหมกำลังจะคลี่คลายด้วยนวัตกรรมจากนักวิจัยไทยที่จะช่วยเหลือเกษตรกรหม่อนไหมให้รู้จักบริหารการผลิตได้ตรงความต้องการตลาด  



นางสมหญิง ชูประยูร นักวิชาการการเกตรชำนาญการพิเศษ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า ปกติทางกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเก็บข้อมูลเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยง โดยสอบถามข้อมูลกำลังการผลิตและกลับมาบันทึกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในสำนักงาน ได้เป็นข้อมูลสถาติรายปี แต่พบปัญหาว่านอกจากข้อมูลตกหล่นแล้ว ยังเป็นข้อมูลที่ไม่ทันต่อเวลา

กรมหม่อนไหมจึงได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาระบบลงทะเบียนเกษตรกรหม่อนไหมผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าระบบการเกษตรไทยแบบพกพา (Thailand Agriculture Mobile Information System) หรือทามิส (TAMIS) ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่มีรหัสผ่านเข้าระบบสามารถรับลงทะเบียนเกษตรและเก็บพิกัดแปลงปลูกหม่อนเลี้ยงไหมลงแผนที่กูเกิล   

หลังเปิดตัวระบบได้ 3-4 วัน นางสมหญิงระบุว่า ลงทะเบียนเกษตรกรหม่อนไหมแล้วกว่า 700 ราย และการดำเนินการหลังจากนี้จะรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ซึ่งมีรหัสผ่านสำหรับรับลงทะเบียนมีความชนาญในการลงทะเบียนมากขึ้น และคาดว่าจะรับลงทะเบียนเกาตรกรหม่อนไหมที่มีอยู่กว่าแสนครัวเรือนได้ในเวลาไม่นานจากเดิมที่ต้องใช้เวลานานเป็นปี และได้ข้อมูลที่ไม่ทันต่อเวลา

“จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาระบบคือเราต้องการให้เกษตรกรได้รู้จักข้อมูลในการวางแผนการผลิตทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ และอยากให้เขามีฐานข้อมูลทั้งของเกาตรกรหม่อนไหมและผู้ประกอบการ และทราบว่าเอกชนมีความต้องการรับซื้อเส้นไหมจากเกษตรกรในปริมาณเท่าไร เขาจะคำนวณได้ว่าปริมาณที่ผลิตนั้นเพียงพอความต้องการลูกค้าหรือไม่ หากไม่พอก็สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อส่งขายได้ อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการรับซื้อเส้นไหมแต่หาแหล่งผลิตไม่ได้” นางสมหญิงกล่าว

การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ไอทีนี้นางสมหญิงระบุว่าจะช่วยทั้งเกษตรกรลดต้นทุนเวลา ต้นทุนการขนส่ง และต้นทุนการจัดการ เนื่องจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไหมสามารถส่งข้อมูลถึงกันผ่านระบบไอทีได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิต และไม่เน้นเส้นไหมอุตสาหกรรมที่สาวด้วยเครื่องจักรและได้เส้นไหมเป็นสีขาว แต่จะเน้นเฉพาะเส้นไหมไทยซึ่งเป็นเส้นไหมจากไหมไทยที่เกษตรกรเลี้ยงเองและสาวไหมเอง โดยควบคุมด้วยมาตรฐาน มกษ.8000-2555 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับ “เส้นไหมสาวมือ” ที่อนาคตอาจพัฒนาเป็นมาตรฐานของอาเซียน

“ในภาพรวมเกษตรกรจะได้รู้จักผู้ประกอบการ ทราบว่าผู้ประกอบการต้องการสินค้าอะไร รู้จักวางแผนการตลาดให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการก็จะรู้ว่าจะซื้อเส้นไหมได้จากที่ไหน จะได้รับคำสั่งซื้อผ้าได้ เพราะแน่ใจได้ว่าหาเส้นไหมมาทอผ้าส่งลูกค้าได้ และซื้อขายกันในราคาไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง” นางสมหญิงระบุ

ทางด้าน นางนันทบรัตน์ ไชยจันลา เกษตรกรเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมจาก จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งรวมกลุ่มกับเกษตรกรจาก จ.สุรินทร์ เล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฟังว่า ปกติผลิตเส้นไหมแค่พอใช้ในชุมชน โดยแปรรูปทั้งเป็นเสื้อผ้าสำเร็จและกระเป๋า ของใช้ต่างๆ แต่มีปัญหาว่าเมื่อได้รับการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้วได้ผลผลิตเยอะเกินกำลังซื้อในชุมชน จึงเข้าร่วมในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการกระบวนการผลิตและการตลาดไหมไทยของกรมหม่อนไหมและเนคเทค และได้เรียนรู้การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งล่าสุดมีคำสั่งซื้อตัวอย่างผ้าไหม 100 ผืนจากเยอรมนี และยังได้รวมกลุ่มกับเพื่อเกษตรกรเพื่อรวบรวมสินค้าจำหน่ายแก่ลูกค้า

“พอเราขายกันเองในชุมชนไม่หมดก็เลยมาเข้าระบบซื้อขายออนไลน์ เพื่อจะได้มีลูกค้าเยอะขึ้นและขายได้เยอะขึ้น เราสามารถส่งตัวอย่างให้ลูกค้าดูทางออนไลน์ สื่อสารออนไลน์ได้ ไม่ต้องเสียเวลาขับรถไกลๆ ไปดูสินค้า และรวมสินค้าในกลุ่มส่งให้ลูกค้า อย่างพี่มีเส้นไหม 100 กิโลกรัม แต่ลูกค้าอยากได้ 200 กิโลกรัม เราก็รวบรวมจากสมาชิกคนอื่นๆ ที่มีสินค้าที่ลูกค้าต้องการให้ครบ แล้วส่งไป” นางนันทบรัตน์กล่าว

ในส่วนของ นายวัชรากร หนูทอง นักวิจัยเนคเทค ผู้พัฒนาระบบทามิสเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า แรกเริ่มพัฒนาระบบแบบทามิสเพื่อใช้งานทางด้านสาธารณสุข สำหรับให้เจ้าหน้าที่ออกไปเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลได้ โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีระบบหลังบ้านที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางได้ง่ายขึ้น ซึ่งระบบการลงทะเบียนออนไลน์นั้นมีมานานแล้ว แต่มีปัญหาว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงต้องส่งเจ้าหน้าออกไปเก็บข้อมูลลงกระดาษแล้วกลับเข้ามาบันทึกลงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

“แต่ระบบของเราคีย์ (ป้อนข้อมูล) ทีเดียวเข้าระบบเลย และยังทำงานได้ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ (offline) คือบันทึกลงเครื่องไว้ก่อนกรณีที่อยู่ในพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และกลับมาอัพโหลดได้ภายหลัง และรูปแบบออนไลน์คือบันทึกข้อมูลเข้าเซิร์ฟเวอร์ได้เลย เรานำระบบนี้ไปใช้กับเกษตรกรหลายกลุ่ม ในส่วนของหม่อนไหม ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการจะได้เก็บข้อมูลความต้องการ ปริมาณการซื้อขาย ข้อมูลการผลิต และช่วงที่ผลผลิตจะออกมา ทำให้เห็นภาพรวมการผลิตหม่อนไหมทั้งหมด” วัชรากรกล่าว

เกษตรกรต่อแถวลงทะเบียนผ่านระบบทามิส
ถ่ายรูปบันทึกข้อมูลลงระบบทามิส
นายวัชรากร หนูทอง
 นางสมหญิง ชูประยูร

สำหรับระบบทามิสนั้นเป็นระบบที่ให้เจ้าหน้าที่จากกรมหม่อนไหมซึ่งผ่านการลงทะเบียนที่ www.tamis.in.th รับลงทะเบียนเกษตรกรด้วยอุปกรณ์อ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด และบันทึกเข้าระบบผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาระบบแอนดรอยด์ที่ใช้งานร่วมกับระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud computing) รวมทั้งเก็บพิกัดแปลงเพาะปลูกลงแผนที่กูเกิล และกรอกข้อมูลเกษตรกรที่จำเป็น







*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น