นักวิจัยสวิสเผยผลทดลองหลังส่งชิ้นส่วนดีเอ็นเอติดจรวดไปสัมผัสสภาพแวดล้อมในอวกาศที่มีอุณหภูมิสูงจัด แต่เมื่อกลับสู่บรรยากาศโลกยังสามารถส่งต่อข้อมูลพันธุกรรมได้ จุดประเด็นความกังวลการปนเปื้อนดีเอ็นเอสิ่งมีชีวิตจากโลกไปยังจุดลงจอดบนดาวเคราะห์อื่นๆ
งานวิจัยล่าสุดของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการพลอสวัน (PLOS ONE) เผยผลการทดลองที่ส่งดีเอ็นเอติดไปกับจรวดเท็กซัส-49 (TEXUS-49) เมื่อเดือน มี.ค.2011 และส่งกลับลงมายังบรรยากาศโลกอีกครั้ง พบว่าดีเอ็นเอที่ติดไปกับด้านนอกของจรวดสามารถฟื้นสภาพ และยังคงส่งต่อข้อมูลพันธุกรรมไปยังเซลล์และแบคทีเรียได้ แม้ว่าจะได้รับอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียสก็ตาม
เอเอฟพีอ้างตามทีมวิจัยคือ คอรา ธีล (Cora Thiel) และโอลิเวอร์ อุลล์ริช (Oliver Ullrich) จากมหาวิทยาลัยซูริค ว่าการทดลองนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับแบบจำลองของกรดนิวคลีอิคที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายชีวภาพเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวทั้งในอดีตและปัจจุบันได้
“ดีเอ็นเอแสดงบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องหมายชีวภาพเพื่อการค้นหาสัญญาณสิ่งมีชีวิต และนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาคุณลักษณะและเปรียบเทียบอิทธิพลของสภาพแวดล้อมบนโลกและในอวกาศที่มีผลต่อดีเอ็นเอ” รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุ
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ประกบดีเอ็นเอพลาสมิดพร้อมเครื่องหมายเรืองแสงตรงจุดต่างบนจรวด 3 จุดเพื่อทำการทดลอง โดยเบื้องต้นการทดลองดังกล่าวออกแบบมาเพื่อทดสอบความเสถียรของเครื่องหมายชีวภาพระหว่างเที่ยวบินอวกาศและการกลับสู่โลก
ธีลและอุลล์ริชระบุว่า พวกเขาประหลาดใจอย่างยิ่งต่อผลการทดลอง และไม่คาดคิดว่าโมเลกุลจะรอดจากการท่องอวกาศได้
“เราไม่เคยคาดคิดว่าจะมีการฟื้นคืนสภาพความเสียหายและการทำงานของดีเอ็นเอได้” ทีมวิจัยระบุ
ผลการทดลองนี้ยังจุดความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนดีเอ็นเอจากโลกไปบนยานอวกาศ ยานลงจอด และบริเวณที่มีการลงจอด ซึ่งไม่ใช่แค่ความกังวลว่าจะมีการปนเปื้อนจากอวกาศกลับลงมาบนโลก แต่ยังมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนจากโลกไปยังอวกาศและดาวเคราะห์อื่นๆ