xs
xsm
sm
md
lg

ดึง “บิดานาโน” ร่วมงาน “นาโนไทยแลนด์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะจัดการนาโนไทยแลนด์ (ซ้ายไปขวา) ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ, รศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง, ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.คลีนิก ทพ.สุรชัย เดชคุณากรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล
สมาคมนาโนแถลงจัดงาน “นาโนไทยไลนด์” ครั้งที่ 4 ดึง “มิเฮล โรโค” บิดาแห่งนาโนเทคโนโลยีจากอเมริกามาร่วมบรรยายพิเศษ พร้อมโชว์นวัตกรรมนาโนผลงานคนไทย อาทิ แผ่นเรืองแสงพิมพ์ด้วยหมึกกราฟีน ซิลิกอนทำขั้วแบตเตอรีจากแกลบข้าว พร้อมโอกาสทดลองในการอบรมการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่ใช้กันแพร่หลายในงานนาโน

รศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 (NanoThailand 2014) เมื่อวันที่ 31 พ.ย.57 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.57 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คลองหลวง ปทุมธานี และเป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี

ด้าน ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในคณะกรรมการจัดงานกล่าวว่า ภายในงานได้เชิญ “ศ.มิเฮล ซี โรโค”  (Prof.Mihail C Roco) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้จุดกระแสให้สหรัฐฯ วางแผนพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี จนประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่ปี 2543 และได้รับยกย่องให้เป็น “บดานาโนเทคโนโลยี” ซึ่งที่ปรึกษาประธานาธิบดีระบุว่านาโนเทคโนโลยีจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอื่นๆ

นอกจากการบรรยายพิเศษโดยที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว ผศ.ดร.ธนากรยังเผยถึงผลงานนาโนเทคโนโลยีที่จะจัดแสดงภายในงานประชุมวิชาการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การอบรมเพื่อให้นักศึกษาได้ลองใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Probe Microscope) ของบริษัทชิมัดซึ (Shimudzu) ซึ่งนำเข้าโดย บริษัท พาราไซเอนทิฟิก จำกัด การพัฒนาซิลิกอนจากแกลบเพื่อนำไปผลิตขั้วไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือการตรวจน้ำตาลในเม็ดเลือดแดงเพื่อหาเบาหวาน เป็นต้น

ด้าน ดร.นงลักษณ์ มีทอง จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้พัฒนาซิลิกอนจากแกลบข้าว อธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การพัฒนาซิลิกอนจากแกลบข้าวไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพัฒนามากว่า 10 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้หากพูดถึงซิลิกอนคนจะนึกถึงสารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งซิลิกอนที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำนี้ต้องมีความบริสุทธิ์สูงมาก และมีกระบวนการผลิตแพง แต่ซิลิกอนจากแกลบข้าวจะนำไปใช้ผลิตเป็นขั้วของแบตเตอรีลิเทียมไอออน ซึ่งไม่ต้องบริสุทธิ์เท่าการผลิตสารกึ่งตัวนำ แต่ต้องมีโครงการเล็กระดับนาโน

“ปกติการทำขั้วลบของแบตเตอรีลิเทียมไออนจะใช้กราไฟต์ แต่ความสามารถในการเก็บประจุน้อย เมื่อเทียบกับการใช้ซิลิกอนนาโนที่เก็บประจุได้มากกว่า 12 เท่า ทำให้ผลิตของได้เล็กกว่า 12 เท่า แต่มีปัญหาว่าเมื่อผสมกับลิเทียมจะขยายได้ง่ายเมื่อชาร์จประจุ ทำให้อายุการใช้งานสั้น จึงต้องวิจัยต่อว่าจะทำยังไงไม่ให้ซิลิกอนขยายตัวง่าย”  ดร.นงลักษณ์ ระบุ

สำหรับแกลบ 1 กิโลกรัมจะเผาได้ขี้เถ้าแกลบ 200 กรัม และในขี้เถ้าแกลบมีซิลิกาซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับซิลิกอนถึง 99% ซึ่ง ดร.นงลักษณ์ ระบุว่าหากสามารถเปลี่ยนซิลิกาเป็นซิลิกอนได้ 100% จะผลิตซิลิกอนได้ถึง 200 กรัม แต่ปัจจุบันนักวิจัยสามารถทำได้เพียง 20-30 กรัม ส่วนการต่อยอดจากนี้ทีมวิจัยตั้งใจนำโรงสีจากโครงการพระราชดำริใน จ.อยุธยา มาทดลองขยายกำลังการผลิต เพื่อดูความเป็นไปได้ในเชิงอุตสาหกรรม

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือแผ่นเรืองแสงอิเล็กโตรลูมิเนสเซ็นต์จากหมึกนำไฟฟ้ากราฟีน ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (TOPIC) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่ง ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ TOPIC แผ่นเรืองแสงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผลงานล่าสุดได้ใช้หมึกนำไฟฟ้ามาทดแทนวัสดุเดิม ทำให้ได้แผ่นเรืองที่บิดงอและประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย

ทั้งนี้ โครงการแผ่นเรืองแสงอิเล็กโตรลูมิเนสเซ็นต์ ประกอบเป็นชั้นๆ จากชั้นบนสุดที่เป็นฐานรองจากแผ่นพลาสติก ถัดลงไปเป็นชั้นฟิล์มนำไฟฟ้าโปร่งแสงที่ทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้า ซึ่งนิยมใช้ฟิล์มอินเดียมทินออกไซด์ (ITO) ชั้นที่สามถัดลงไปเป็นชั้นสารเรืองแสงซึ่งนิยมใช้ฟอสเฟอร์ ถัดไปอีกชั้นเป็นชั้นไดอิเล็กทริก และชั้นสุดท้ายเป็นขั้วไฟฟ้าที่นิยมใช้โลหะอย่างเงินหรือทองแดง แต่ในขั้นฟิล์ม ITO นั้นมีข้อเสียที่แตกลายในระดับไมโคร และต้องเตรียมฟิล์มด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ทีมวิจัย TOPIC จึงได้ใช้หมึกนำไฟฟ้ากราฟีนที่ทีมพัฒนาขึ้น ซึ่งสามารถพิมพ์ได้ด้วยเครื่องพิมพ์แบบสกรีน ทำให้สามารถใช้การพิมพ์ในกระบวนการผลิตแผ่นเรืองแสงได้ทั้งหมด
ให้บริการอบรมการใช้งานกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจากชิมัดซุ
ดร.นงลักษณ์ มีทอง พร้อมแบตเตอรีที่มีชิ้นส่วนจากแกลบข้าว
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานแผ่นเรืองแสง ในแก้วกาแฟและถุงหิ้ว






*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น