xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ดุสิต เครืองาม” สปช.ถอดด้าม กูรูโซลาร์เซลล์ ปัด “มีวันนี้เพราะพี่ให้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มารู้จัก “ดุสิต เครืองาม” สปช. น้องชายคนสุดท้องของรองนายกฯ “วิษณุ” เป็นกูรูด้านพลังงานโซลาร์เซลล์ พบนั่งสารพัดบอร์ด เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทธุรกิจออกแบบ และติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เข้ารายงานตัวแล้วสำหรับ “ดุสิต เครืองาม” ที่เข้ามานั่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) น้องชายคนสุดท้องของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นายดุสิตระบุว่า มาสมัครเป็น สปช.ด้านพลังงานเพราะมีแนวคิดการปฏิรูปด้านพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ พลังลม เพื่อทดแทนพลังงานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดลง ซึ่งการส่งเสริมพลังงานทางเลือกโดยมีแนวคิดจะผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาข้อติดขัดด้านการส่งเสริมการผลิตพลังงานทางเลือก รวมทั้งการใช้พลังงานทางเลือกในครัวเรือน เนื่องจากการไฟฟ้าไม่ส่งเสริมพลังงานทางเลือก

นายดุสิตยืนยันว่า การออกกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะเน้นลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หากติดตามข่าวด้านพลังงานพบว่าการประมูล สัมปทาน หรือรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หนีไม่พ้นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ส่วนภาคธุรกิจสิ่งที่จะเข้ามาควบคุมได้คือมาตรการเข้มงวดการจัดซื้อจัดจ้าง

เขายังยืนยันว่า การได้เป็น สปช.ไม่ได้เป็นเพราะพี่ให้ หรือเส้นสายความสัมพันธ์ส่วนตัวในฐานะน้องชายนายวิษณุ ยืนยันว่าการสมัครเพราะการคัดเลือกและลงมติของสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ที่มีตนเป็นนายกสมาคมฯ โดยก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้อยากสมัคร แต่เมื่อมีการลงมติจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ตัวแทน และตนก็มีความรู้ความสามารถ คุณสมบัติที่เหมาะสม มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการันตี

ผู้สื่อข่าว ASTV ผู้จัดการ สืบค้นข้อมูลพบว่า ประวัติการทำงานของนายดุสิต เป็นที่น่าสนใจทางด้านพลังงาน พบว่าเป็นผู้นำการออกแบบ ก่อสร้างโซลาร์รูฟ และเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด

โดย ศ.ดร.ดุสิต เครืองาม เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นอดีตศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ อดีตที่ปรึกษานโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ชำนาญการของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ผลักดันให้เกิดมาตรการรับซื้อไฟฟ้าราคาพิเศษจากโซลาร์ทั้งกรณี Adder และ Feed In Tariff. ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทยและของโลกที่มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี มีผลงานออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์มาแล้วกว่า 40 เมกะวัตต์

ในเว็บไซต์ระบุว่า บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำธุรกิจให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน ตอบสนองตามนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ในส่วนของผลงานการออกแบบและติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด มีผลงานโซลาร์รูฟมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการติดตั้งบนหลังบ้าน หลังคาอาคารพาณิชย์ หลังคาโรงงานอุตสาหกรรม หลังคาอาคารราชการ โรงจอดรถ ฯลฯ รวมจำนวนมากกว่า 100 ระบบ

ด้านการการศึกษา สำเร็จปริญญาเอก วิศวกรรมไฟฟ้า (เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์) มหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2531 ส่วนการทำงาน เป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) เป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด

ปัจจุบัน เป็นผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด (Thai Solar Future Co., Ltd.) มีความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (อุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ การออกแบบและการติดตั้งใช้งานระบบเซลล์แสงอาทิตย์) เทคโนโลยีออปโตอิเล็กทรอนิกส์ สารกึ่งตัวนำ เลเซอร์ สุญญากาศ ฟิล์มบาง

ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในอดีต เป็นผู้ชำนาญการ ที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการพลังงาน คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนรัฐบาล เป็นที่ปรึกษานโยบายด้านพลังงาน รองนายกรัฐมนตรี รมว. กระทรวงพลังงาน

ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ 2547, นักวิทยาศาสตร์อาเซียนดีเด่นรุ่นใหม่ 2535, รางวัลที่ 1 สิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ, สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา 2 เรื่อง

ตำแหน่งอื่นๆ ในปัจจุบัน เป็นรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรรมการบริหารบอร์ด NECTEC, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, ประธานคณะกรรมการสายวิชาการ การประชุมวิชาการนานาชาติพลังงานทดแทน (WAESE) 4-8 มีนาคม 2552 เมืองทองธานี

รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรรมการบริหารบอร์ด NECTEC, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, ประธานคณะกรรมการสายวิชาการ การประชุมวิชาการนานาชาติพลังงานทดแทน (WAESE) 4-8 มีนาคม 2552 เมืองทองธานี

ผลงานเด่นเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นนักวิจัย Generation แรกของโลกที่ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนตั้งแต่ 1983 และขณะที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโฮซาก้า ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิคอนประสิทธิภาพสูงสุด ในโลก 12% ปี 1988 สถิติขณะนั้น

เขายังบุกเบิกการวิจัยเทคโนโลยีผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิกอนที่จุฬาฯ (1988) จนได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติหลายครั้ง เป็นเลขาธิการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา ติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั่วประเทศ กว่า 100ชุด

ที่ปรึกษา กฟผ.ติดตั้งชุดเซลล์แสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารต่างๆ 60 ชุด (2000-2005), ที่ปรึกษา กฟผ.ก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม 500 kW ที่แม่ฮ่องสอน (2006), ผลักดันกระทรวงพลังงานให้จัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์ (Feed In Tariff), หัวหน้าคณะผู้วิจัย รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย เสนอ พพ. (มีส่วนทำให้เกิดโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์หลายแห่ง เช่น โซลาร์ตรอน บางกอกโซลาร์ เอกรัฐโซล่าร์ ชาร์ปไทย ฯลฯ)

ผลักดันให้ BOI ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุตสาหกรรมที่ให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ, ผลักดันให้เกิดโครงการโซลาร์โฮม ของ กฟภ.ขนาด 120 W จำนวน 203,000 ชุด ทำให้ราษฎรมีไฟฟ้าใช้เพิ่ม 1 ล้านคน, ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ TESCO LOTUS ขนาด 460 kW (ขณะอยู่ที่โซลาร์ตรอน), กรรมการยกร่างมาตรฐานแผงเซลล์แสงอาทิตย์ สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม

จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 800 kW ให้ กฟผ.ติดตั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี (ขณะอยู่ที่โซลาร์ตรอน), ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ Energy Complex ขนาด 330 kW (ขณะอยู่ที่เอกรัฐโซล่าร์), ก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 630 kW ที่ปราจีนบุรี (2010 ขณะอยู่ที่ไทยโซลาร์ฟิวเจอร์), รวมมีผลงานติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยกว่า 20 เมกะวัตต์ และสุดท้าย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย.





กำลังโหลดความคิดเห็น