บุรีรัมย์- ป.ป.ท.ลุยตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์หลายอำเภอที่บุรีรัมย์ หลังได้รับร้องเรียนซื้อแพงเกินจริง ตรวจพบราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 100% อีกทั้งมีพิรุธอื้อ ทั้งการตั้งงบจัดซื้อต่ำกว่า 2 ล้านเลี่ยงการประมูลเข้าข่ายทุจริตชัด ชี้เอาผิดตาม กม.เด็ดขาด เผยโครงการฉาวจัดสรรงบปี’56 ทั่วประเทศ 13 จังหวัด 173 โครงการ รวมกว่า 1.8 หมื่นล้าน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (4 ก.ย.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วย นายนภดล เพชรสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 3 นครราชสีมา และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.หนองกี่, อ.โนนสุวรรณ และ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและเบิกงบประมาณไปแล้ว ภายหลังได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวในราคาสูงเกินความเป็นจริง
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ อบต.โคกสว่าง อ.หนองกี่ และ อบต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ พบว่ามีการจัดซื้อโซลาร์เซลล์แห่งละ 17 ต้น ในราคาชุดละ 114,000 บาทต่อต้น โดย 1 ต้นจะประกอบไปด้วย เสาชุบกัลป์วาไนซ์ สูง 6 เมตรพร้อมกิ่ง, แผงเซลล์ แสงอาทิตย์โมโนคริสตัล ซิลิกอน ขนาด 130 วัตต์, ชุดโคมไฟพร้อมหลอด LED ขนาด 32 วัตต์, กล่องโลหะชุบกัลป์วาไนซ์, ชุดควบคุมประจุแบตเตอรี่ 12 โวลต์ 10 แอมป์ และแบตเตอรี่ชนิดไม่ต้องเติมน้ำ รวม 6 รายการ
ขณะที่จากการตรวจสอบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ อบต.หนองโสน อ.นางรอง มีการจัดซื้อในราคาชุดละเพียง 42,000 บาท และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคุณภาพ และปริมาณวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คล้ายกัน
โครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์ดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้งบอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2556 ทั้งประเทศที่ได้รับจัดสรรงบ 13 จังหวัด 173 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 18,506 ล้านบาท โดยผู้ดำเนินการจัดซื้อคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับ จ.บุรีรัมย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินโครงการดังกล่าวรวม 31 โครงการ กระจายใน 6 อำเภอ 22 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 57.587 ล้านบาท
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ได้ข้อมูลที่สำคัญและเข้าข่ายที่มีการทุจริตจริง จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ 3 อำเภอ จาก 6 อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ อำเภอนางรอง, อำเภอหนองกี่ และอำเภอโนนสุวรรณ พบว่ามีเพียงอำเภอนางรองเพียงอำเภอเดียวที่มีการจัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์ในราคาชุดละไม่เกิน 48,000 บาท โดยใช้งบการจัดซื้อทั้งสิ้น 17 ชุด รวมเป็นเงิน 716,000 บาท
ต่างจาก 5 อำเภอที่เหลือในจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการจัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์ 17 ชุดเท่ากัน และมีมูลค่าสูงถึงชุดละ 114,000 บาท โดยใช้งบประมาณเต็มจำนวนถึง 1,938,000 บาท ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด เป็นเหตุน่าเชื่อที่จะมีการทุจริตจริงในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ยังพบความผิดปกติหลายอย่างทั้งราคาจัดซื้อที่แพงเกินความเป็นจริง แตกต่างจากราคาท้องตลาดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งแต่ละแห่งมีการตั้งงบจัดซื้อจัดจ้างอยู่ที่ราคาประมาณ 1,930,000 บาท แต่ไม่ให้เกิน 2 ล้านบาท เพื่อไม่ให้มีการประมูล รวมทั้งการประมูลแบบ อี-ออกชัน โดยจะดำเนินการตรวจสอบให้ครบทั้ง 173 แห่งทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลการตรวจสอบเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท.ได้รับทราบตามขั้นตอน ซึ่งหากพบว่ามีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จะถูกดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย
รวมทั้งหากสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ จะถูกเอาผิดทั้งวินัยและกฎหมายอย่างเด็ดขาดเช่นกัน โทษฐานทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดิน
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน อ.นางรอง กล่าวว่า ทาง อบต.ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2556 มูลค่ากว่า 1,938,000บาท ให้จัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์เซลล์ ด้านนายอำเภอก็ได้เปิดให้บริษัทต่างๆ เข้ามายื่นซองประมูลเพื่อแข่งขันกัน แต่ราคาครั้งแรกที่ได้รับการเสนอ นายอำเภอเห็นว่ามีราคาที่สูงเกินจริง จึงได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบราคาจริงในท้องตลาด จึงทราบว่าราคาต้นทุนการจัดสร้างไม่น่าเกิน 48,000 บาท
จึงเปิดให้มีการเสนอราคาแข่งขันใหม่อีกครั้ง โดยผลสรุปการประมูลโครงการได้ราคาต่ำกว่าที่ตั้งไว้และมีเงินงบประมาณเหลือส่งคืนให้สำนักงบประมาณอีกกว่า 1,200,000 บาท