xs
xsm
sm
md
lg

แนะทำวิจัยสร้างบรรทัดฐาน “ความมั่นคงอาหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นพ.ไกรสิทธิ์ ประธานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แนะนักวิจัยรุ่นใหม่ในเวทีพบนักวิจัยอาวุโส หันมาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ระบุอดีตไทยมีปัญหาเด็กขาดโภชนาการ แต่ปัจจุบันมีปัญหาเด็กอ้วน ชี้เป็นเรื่องน่าปวดหัว นักวิจัยควรหันมาสร้างบรรทัดฐานความมั่นคงอาหาร

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวปาฐากถาในหัวข้อ เรื่อง "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร และโภชนาการ" ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 23 ต.ค.57 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี จอมเทียน จ.ชลบุรี

“ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 62.2 ล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะเรื่อง "อาหาร" สิ่งที่เราต้องใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ทุกวันยังเป็นสิ่งที่ต้องการการวิจัยที่เพิ่มมากขี้น โดยเฉพาะการวิจัยทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีสัดส่วนการส่งออกอาหารมากในระดับโลก จึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง "อาหารศึกษา"หรือการทำวิจัยเกี่ยวกับอาหาร” ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ระบุ

ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อ 40-50 ปีก่อน ประเทศไทยเคยประสบกับปัญหาด้านขาดโภชนาการในเด็ก เด็กขาดสารอาหารเกิดเป็นโรคเอ๋อ โรคคอพอก ทำให้มีการวางนโยบายทางด้านอาหารเพื่อทำให้ภาวะขาดโภชนาการในเด็กหมดไป ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี้มีวัฒนธรรมอาหารจากต่างประเทศ และรูปแบบการใช้ชีวิตของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดปัญหาโภชนาการเกินทำให้มีเด็กอ้วนเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

"ปัญหาทางด้านโภชนาการเป็นสิ่งที่น่าปวดหัวในสังคมไทย แต่คงไม่ยากเกินไปที่จะช่วยกันแก้ปัญหานี้ ผมอยากเห็นเวทีพูดจากันทางด้านอาหาร สร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะการทำอาหารศึกษา หรือการทำวิจัย สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือทำการวิจัยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงบริโภค ที่น่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราชาวนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยน่าจะทำได้ดีที่สุด" ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ กล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการนั้น ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ระบุว่า ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่เป็นการสนับสนุนการสร้างสมดุลของการสร้างฐานปัจจัยการผลิต การโซนนิงเพื่อจัดบริเวณอุตสาหกรรม ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบ และพัฒนาให้ระบบมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้านคุณภาพและความปลอดภัย ที่เป็นการควบคุมการผลิตตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงมือผู้บริโภค ทั้งในระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรมอาหาร ด้านมาตรฐาน ที่เป็นการควบคุมมาตรฐานการผลิตให้อาหารมีคุณภาพ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี และสุดท้ายด้านบริหารจัดการ ที่เป็นการวางรากฐานข้อมูลทั้งระบบเพื่อให้การทำงานสามารถย้อนกลับและตรวจสอบได้

"การวิจัยทางด้านอาหารเป็นสิ่งที่สถานศึกษาควรเข้ามามีบทบาท ทั้งการวิจัยแบบพื้นฐานและการวิจัยเพื่อพัฒนา โดยเริ่มจากการมองสิ่งเล็กๆให้เป็นเป้าหมายใหญ่ๆ เพราะผมมั่นใจว่าองค์ความรู้ในสถานศึกษามีพร้อม ขาดก็เพียงแต่ความร่วมมือกันระหว่างชุมชน และอุตสาหกรรมเท่านั้น และยังสามารถนำการเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการวิจัยได้ด้วย" ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์เผย

พร้อมกันนี้ ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ ยังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล "2014 TRF-CHE-Scopus Research Awards" แก่ 10 นักวิจัยผู้มีผลงานดีเด่นประจำปี 2557 ซึ่งเป็นรางวัลที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), ฐานข้อมูลวารสารวิทยาศาสตร์เอลซีเวีย (Elsevier) มอบแก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และรุ่นกลางที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม

สำหรับปี 2557 มีผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว 10 คน ได้แก่ ผศ.ดร. ชัยกานต์ เลียวหิรัญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร. โชติมา จตุรวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร. น.สพ. ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.ดร. ปนัดดา บุญเสริม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.พรกมล อุ่นเรือน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค), ดร. มนตรี สว่างพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร. รักชาติ ไตรผล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ผศ.ดร. วัชรินทร์ ลอยลม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ ผศ.ดร. สัมฤทธิ์ วัชรสินธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





ศ.นพ.ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย








กำลังโหลดความคิดเห็น