เมื่อไหร่ฉันจะกลับมาเดินได้ ?? คำถามจากผู้ป่วยอัมพาต อาจจะได้คำตอบในเร็ววันนี้ จากการแข่งขัน "การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ" โดยการร่วมมือของ 5 หน่วยงานใหญ่ เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์สู่สังคม เปิดโอกาสนิสิตนักศึกษาทุกสาขาวิชาส่งผลงานชิงเงินรางวัล 3 แสนบาท หมดเขต 15 ธ.ค. นี้
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย, สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แถลงข่าว "การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ" ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 57
ศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การจัดการแข่งขันระดับประเทศนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ 5 หน่วยงานหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยโจทย์การแข่งขันในครั้งนี้คือ นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยป้องกันการล้มของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก หรืออุปกรณ์ช่วยลดการบาดเจ็บเนื่องจากการล้ม เพื่อให้ผู้พิการสามารถพึ่งพาตนเอง และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนปกติ
"ซีเกตมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวหุ่นยนต์แบบต่อเนื่องมากว่า 16 ปีแล้ว โดยในปีก่อนๆจะเป็นรูปแบบของการแข่งขันเกมส์หุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์เตะฟุตบอล หุ่นยนต์เหาะ หุ่นยนต์บินเราทำมาหมดแล้ว แต่ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้พิการและผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคอัมพาตมากขึ้น เราจะมีแนวคิดคืนประโยชน์แก่สังคมด้วยความรู้ความสามารถที่เรามี จึงเปลี่ยนกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ในปีก่อนๆที่จัดขึ้นในรูปของเกมส์การแข่งขัน ให้เป็นการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเยาวชนไทยมีความสามารถไม่แพ้ใคร และจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการได้อย่างแน่นอน โดยซีเกทจะให้การสนับสนุนทั้งทางด้านทุนทรัพย์ และการให้ความรู้ความเข้าใจจากวิศวกรของบริษัท" ศิริรัตน์ เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ทางด้าน แพทย์หญิง ดารณี สุวพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เผยว่า เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยอัมพาต เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยอัมพาตสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันดับ 1 ของผู้พิการทั้งหมด ผู้ป่วยส่วนมากจะมีความทุกข์ทรมานเพราะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ไม่มีกำลังใจในการฝึกหัดตนเองให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง แม้กระทั่งผู้ที่พร้อมจะฝึกฝนตัวเองก็จะประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่นในการฝึกเดิน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกับการกายภาพบำบัดจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบคนปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
"การล้มในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยอัมพาตถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะผู้สูงอายุกระดูกจะเปราะหักง่ายโดยเฉพาะในส่วนของข้อสะโพก หากมีนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อผู้ป่วยที่สามารถแจ้งเตือนก่อนล้ม ให้ความปลอดภัยหลังล้ม หรือทำให้การบาดเจ็บจากการล้มเป็นไปได้น้อยที่สุด จะเป็นสิ่งที่ดีมากและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ป่วยอัมพาต" แพทย์หญิง ดารณี เผย
ในส่วนของ ผศ.ดร. ถวิดา มณีวรรย์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะได้สิทธิพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะการทำงานเพื่อตอบโจทย์ทางการแพทย์จำเป็นต้องมีการลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมอย่างตรงประเด็น จึงได้จัดให้มีการเวิร์คช็อปก่อนการแข่งขัน 2 ครั้ง โดยเป็นการลงพื้นที่เพื่อสัมผัสกับผู้ป่วย และรับฟังการบรรยายจากแพทย์โดยตรงที่ศูนย์สิรินธรฯ และเวิร์คช็อปครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาเทคนิคจากวิศวกร บ.ซีเกต โดยตรง
ดร. ถวิดา ระบุว่า ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันต้องเป็นนิสิตนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก รวมกลุ่มมาได้ตั้งแต่ 2-15 คน โดยสามารถลงทะเบียนและสมัครเข้าร่วมการแข่งขันออนไลน์ได้ที่ www.tiat2014.com เพื่อร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 พ.ย. หลังจากนั้นจะเปิดรับสมัครทีมเข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรม และปิดรับสมัครในวันที่ 15 ธ.ค. โดย 10 ทีมสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อพัฒนานวัตกรรม และแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในเดือน มี.ค. 58 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รายงานผลงานต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชาสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และนำผลงานมาจัดแสดงเพื่อให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จามจุรีสแควร์
"น้องๆที่สนใจสามารถมาสมัครเพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปได้ เราไม่จำกัดสาขาวิชาที่น้องเรียนมา ทุกคนสามารถรวมกลุ่มกันมาได้ ทั้งวิศวะ วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ดีไซเนอร์ เพราะโครงการรนี้นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆได้ใช้ศักยภาพจากการเรียนแบบทฤษฎีในห้องเรียน ยังเป็นการทำประโยชน์โดยตรงให้กับผู้ป่วยอีกด้วย" ดร.ถวิดา เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ทั้งนี้ฟีโบ้ยังได้นำหุ่นยนต์ "หนุมาน" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันเกมส์หุ่นยนต์เตะฟุตบอลในปีที่แล้ว ซึ่งมีความสามารถล้มแล้วลุกเองได้มาเป็นต้นแบบ และเทลเกท (Tailgait) อุปกรณ์ช่วยดูแลเส้นทางการเดินในผู้ป่วย ผลงานจาก ดร. ปราการเกียรติ ยังคง นักวิจัยฟีโบ้ เจ้าของรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557 มาแสดงในงานแถลงข่าวอีกด้วย เพื่อเป็นการยืนยันความมั่นใจว่าโครงการประกวดนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการจะต้องสำเร็จได้อย่างแน่นอน จากผลงานหุ่นยนต์ก่อนหน้าที่สามารถพัฒนากลไกการเคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์
*** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tiat2014.com และ www.trs.or.th หรือ 02-715-2907***