xs
xsm
sm
md
lg

โนเบลแพทย์ค้นพบ GPS ในสมองกรุยทางรักษา “อัลไซเมอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คู่สามี-ภรรยา เอ็ดเวิร์ด โมเซอร์ (Edvard Moser) และเมย์-บริตท์ โมเซอร์ (May‐Britt Moser) จอห์น โอคีฟ (John O’Keefe) อังกฤษ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ปี 2014 (เอพี)
มอบรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์แก่นักวิทยาศาสตร์อังกฤษและ 2 สามี-ภรรยาจากนอร์เวย์จากผลงานการค้นพบเซลล์ในระบบระบุตำแหน่งในสมอง ซึ่งทำให้เรารู้ตัวว่าอยู่ที่และจดจำสถานที่เราอยู่ได้ กรุยทางสู่การรักษา “อัลไซเมอร์”

โกรัย เค ฮานสัน (Göran K. Hansson) เลขาธิการคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ ประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2014 โดยผู้ได้รับรางวัลได้แก่ จอห์น โอ'คีฟ (John O’Keefe) จากมหาวิยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) อังกฤษ และคู่สามี-ภรรยา เอ็ดเวิร์ด โมเซอร์ (Edvard Moser) และเมย์-บริตท์ โมเซอร์ (May‐Britt Moser) จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอร์เวย์ (Norges teknisk-naturvitenskapelige universitet) นอร์เวย์ จากผลงาน “ค้นพบเซลล์ที่สร้างระบบระบุตำแหน่งในสมอง”
         
คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า รางวัลโนเบลแพทย์ปีนี้มอบให้แก่ ผู้ค้นพบระบบระบุตำแหน่งหรือระบบจีพีเอส (GPS) ภายในสมองที่ทำให้เรารู้ทิศทาง ทำให้เรารู้ว่าอยู่ที่ไหน และเราจะแยกแยะถิ่นใหม่ๆ ที่เราเข้าไปได้อย่างไร

“การค้นพบของ จอห์น โอ'คีฟ, เมย์-บริตท์ โมเซอร์ และเอ็ดวาร์ด โมเซอร์ ได้ไขปัญหาที่ผู้รู้และนักวิทยาศาสตร์ไขไม่ออกมาหลายศตวรรษว่า สมองสร้างแผนที่ของพื้นที่รอบๆ ตัวเรา และเรานำทางเส้นทางของเราไปยังสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้อย่าง” เอเอฟพีรายงานคำอธิบายของคณะกรรมการรางวัลโนเบล

เมื่อปี 1971 โอ'คีฟ ได้ค้นพบองค์ประกอบแรกของระบบนำทางในสมองดังกล่าว โดยพบเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งในสมองของหนู บริเวณที่เรียกว่า “ฮิปโปแคมปัส” (hippocampus) ซึ่งจะถูกกระตุ้นเฉพาะเมื่อหนูทดลองถูกกำหนดตำแหน่งที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งนำไปสู่การสร้างแผนที่ของห้องภายในสมองหนู

จากนั้นอีกกว่า 3 ทศวรรษถัดมาในปี 2005 คู่สามี-ภรรยาเมย์-บริตท์และเอ็ดวาร์ด โมเซอร์ ได้ค้นพบอีกองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนำทางในสมอง ทั้งสองจำแนกชนิดเซลล์ประสาทที่สร้างระบบประสานงาน และทำให้การระบุตำแหน่งแม่นยำและกรุยสู่เส้นทาง

คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า ผลงานนี้เป็นประโยชน์ต่อการแพทย์ทางด้านประสาท โดยเฉพาะโรคอัลไซเอร์ ซึ่งวงจรระบุตำแหน่งในสมองมักเสียหายบ่อยในระยะเริ่มต้นของโรค ความรู้เกี่ยวกับระบบระบุตำแหน่งในสมอง อาจจะช่วยให้เราเข้าใจกลไกสนับสนุนการทำลายความจำระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคนี้
เอ็ดวาร์ดและเมย์-บริตท์ โมเซอร์ สามี-ภรรยาคู่ที่ 5 ที่ได้รับรางวัลโนเบล (เอพี)
เอ็ดวาร์ดและเมย์-บริตท์ โมเซอร์ สามี-ภรรยาคู่ที่ 5 ที่ได้รับรางวัลโนเบล ระหว่างเข้าร่วมงานมอบรางวัลโคเบอร์ไพร์ซ ( Koerber prize) ที่เยอรมนี เมื่อ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา (เอพี)
“มันเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์จริงๆ ผมไม่คาดหวังเลย เลยไม่รู้จะบอกยังไงเมื่อผมได้รับการต้อนรับที่สนามบินพร้อมดอกไม้” เอ็ดวาร์ดผู้ไม่ทราบว่าตัวเองได้รับรางวัลโนเบลแม้ประกาศไปแล้วกว่าชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากเขาอยู่ระหว่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวสวีเดน

เอเอฟพีระบุว่า เจ้าหน้าที่ของสนามบินในมิวนิคที่เยอรมนีแสดงความยินดีบกับผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ หลังจากที่โมเซอร์ก้าวออกจากเครื่องบิน และเขาก็พบว่ามีสายโทรเข้าที่เขาไม่ได้รับถึง 120 สาย และบอกด้วยว่าประหลาดใจที่เห็น ฮานสันเลขาธิการคณะกรรกมารรางวัลโนเบลพยายามติดต่อเขาด้วย

“ฉันยังช็อคอยู่เลย มันยิ่งใหญ่จริงๆ เศร้าอย่างเดียวคือเป็นวันที่เอ็ดวาร์ดยังคงอยู่บนเครื่อง ดังกล่าวเขายังไม่รู้” เมย์-บริตท์ให้สัมภาษณ์หลังทราบข่าวว่าเธอและสามีได้รับรางวัลโนเบล แต่สามีเธอยังไม่ทราบ

ทั้งนี้ เอ็ดเวิร์ดและเมย์ บริตท์ นับเป็นคู่สามีภรรยาคู่ที่ 5 นับแต่การมอบรางวัลโนเบลมาตั้งแต่ปี 1901 ตามเจตนารมย์ของ อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) เศรษฐีและนักเคมีชาวสวีเดนที่มอบมรดกมูลค่ากว่า 8,300 ล้านบาทในปัจจุบันเพื่อก่อตั้งรางวัลโนเบลนี้ หลังประกาศรางวัลแล้วจะมีพิธีพระราชทานรางวัล ณ สตอกโฮล์ม คอนเสิร์ตฮอลล์ ประเทศสวีเดน ในวันที่ 10 ธ.ค.ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันเสียชีวิตของโนเบล

ด้าน ทอม วิปเปิล (Tom Whipple) ผู้สื่อข่าวของไทม์ส ได้ทวีตความเห็นจากเมย์ บริตท์ว่า ข้อได้เปรียบของการเป็นทีมสามีภรรยา คือ พวกเขามีเวลาประชุมมื้อเช้าได้ทุกวัน

สำหรับเงินรางวัลแบ่งครึ่งหนึ่งแบ่งให้ จอห์น โอ คีฟ ส่วนอีกครึ่งที่เหลือมอบให้เอ็ดเวิร์ดและเมย์ บริตท์แบ่งกันคนละครึ่ง โดยมีมูลค่าเงินรางวัลทั้งหมด 8 ล้านโครน หรือ ประมาณ 33.3 ล้านบาท
 โกรัย ค. ฮานสัน






*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น