xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้ชิด “สิ่ง(เคย)มีชีวิต” ท่ามกลางน้ำแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แมมมอธ (Mammoth)
กลับสู่โลก “ไอซ์เอจ” ย้อนเวลาไปรู้จักสัตว์ในยุคน้ำแข็ง กับหุ่นจำลองเหมือนจริงของช้างแมมมอธ เสือเขี้ยวดาบ หรือกลิปโทดอนสัตว์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกับอาร์มาดิลโลสัญลักษณ์ฟุตบอลโลกปีล่าสุด รวมถึงหุ่นสตัฟฟ์สัตว์ขั้วโลกในยุคปัจจุบัน



อีกไฮไลท์ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2557 คือหุ่นยนต์สัตว์ในยุคน้ำแข็งจากอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “ฤๅโลกหนาวจะกลับมา” (Ice Age Exhibition) ที่จำลองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก จนส่งผลให้สัตว์ในยุคน้ำแข็งสูญพันธุ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจส่งผลอย่างเดียวกันต่อสัตว์ยุคปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในขั้วโลก

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ อาสาพาไปใกล้ชิดสิ่งเคยมีชีวิตท่ามกลางน้ำแข็งเหล่านั้น
หมียุคน้ำแข็ง (Pararctotherium)
หมียุคน้ำแข็ง
มีอีกชื่อเรียกว่าพาราร์คโตเธเรียม (Pararctotherium) เป็นหมีที่มีขนาดใกล้เคียงกับหมีกริซลีย์ มีน้ำหนักมากถึง600กิโลกรัม จัดเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่อพยพมาจากทวีปอเมริกาเหนือสู่ทวีปอเมริกาใต้ แต่มันก็สามารถกินรากไม้ ผลไม้ และน้ำผึ้งป่าได้เช่นกัน ปัจจุบันเหลือเพียงหมีแค่สายพันธุ์เดียวเท่านั้นในทวีปอเมริกาใต้ นั่นคือ หมีแว่น (Tremarctos ornatus) ที่อาศัยอยู่ในที่สูงกว่า 3,000 เมตร ทางฝั่งตะวันตกของประเทศเวเนซูเอลา โคลัมเบีย เอลกวากอร์ เปรูและโบลิเวีย
กลิปโทดอน (Glyptodont)
กลิปโทดอน (Glyptodont)
เป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ มีน้ำหนักระหว่าง 50 กิโลกรัมถึง 2 ตัน ตามลำตัวปกคลุมไปด้วยแผ่นเกล็ดรูปหลายเหลี่ยมหลากมุมขนาดเล็กยึดติดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกระดูกที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเปลี่ยนไปเป็นเปลือกแข็งหรือกระดอง เช่นเดียวกับส่วนหัวและส่วนหางที่มีแผ่นเกล็ดที่สร้างจากกระดูกห่อหุ้มด้วยเช่นกัน

กระดูกโครงร่างของกลิปโทดอนแสดงถึงการปรับตัว ดูได้จากการที่กระดูกช่วงลำคอเชื่อมต่อกับลำกระดูกสันหลังช่วงท้าย รวมทั้งกระดูกสันหลังส่วนเอวและกระเบนเหน็บทั้งหมด กลิปโทดอนมีฟันที่ค่อนข้างแบนแต่กว้างซึ่งเหมาะต่อการบดเคี้ยวพืชมีกากใย กลิปโทดอนมีบรรพบุรุษร่วมกับอาร์มาดิลโลสามแถบ แต่กลิปโทคอนมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าหลายเท่าในขณะที่อาร์มาดิลโลสามแถบมีขนาดตัวที่ค่อนข้างเล็ก แสดงให้เห็นว่าสัตว์สายพันธุ์นี้มีวิวัฒนาการในการปรับขนาดร่างกายให้เล็กลง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกระหว่างยุคน้ำแข็งและยุคอบอุ่นในปัจจุบัน
เสือเขี้ยวดาบ (Smilodon)
เสือเขี้ยวดาบ (Smilodon)
เป็นสัตว์ในวงศ์แมวป่าที่มีขนาดใกล้เคียงกับสิงโต แต่มีสัดส่วนของร่างกายที่แตกต่างกัน ลำตัวมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัมโดยเขี้ยวบนมีขนาดยาวเป็นพิเศษเพื่องับเหยื่อให้มั่น ส่วนเขี้ยวล่างนั้นลดขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด ที่ขอบของกรามล่างทั้งสองข้างมีกระดูกแผ่นแบนชิ้นใหญ่ที่ช่วยป้องกันเขี้ยวจากส่วนบนมากระทบ กรามของเสื้อเขี้ยวดาบนั้นสามารถอ้าได้กว้างเกือบถึง 90 องศา

จากการศึกษากระดูกไฮออยด์ (กระดูกโคนลิ้น) พบว่าเสือเขี้ยวดาบอาจคำรามได้อย่างสิงโต โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มูนิเฟลิส โบแนเรียนซิส (Munifelis bonaeriensis) โดยเสือเขี้ยวดาบนั้นมีบรรพบุรุษร่วมกับเสือโคร่งในปัจจุบัน ต่างกันที่ขนาดเขี้ยวและสีขนเพียงเท่านั้นที่เขี้ยวบนของเสือเขี้ยวดาบจะยาวถึง 60 เซนติเมตรในขณะที่เสือโคร่งมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตรซึ่งแตกต่างกันถึง 6 เท่า

เสือเขี้ยวดาบจะมีขนหนาไม่มีลวดลายเพื่อให้เข้ากับสภาพยุคน้ำแข็งที่เป็นทุ่งหญ้ากว้าง ในขณะที่เสือโคร่งจะมีลวดลายพาดกลอนตามลำตัวเพื่อเป็นการปรับสีสันลวดลายของขน ให้มีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่อบอุ่น มีพืชพันธุ์จำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการพรางตัวจากเหยื่อทำให้ล่าสัตว์ได้ง่าย

แมมมอธ (Mammoth)
แมมอธเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสิ่งมีชีวิตในยุคน้ำแข็ง (ยุคไพลโอซีนตอนต้น) ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 4.8 ล้านปีก่อนและสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 3,700 ปี แมมมอธมีหลายสายพันธุ์แต่ที่พบมากที่สุดคือสายพันธุ์ที่มีขน จัดอยู่ในวงศ์ อีเลแฟนธิเด (Elephantidae) เช่นเดียวกับช้างที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยอยู่ในสกุลแมมมูธัส (Mammuthus)

บางฟอสซิลของแมมมอธพบที่อเมริกาเหนือ ยูเรเซียและแอฟริกา มีการกระจายอยู่ทั่วโลกยกเว้น ออสเตรเลียและอเมริกาใต้ แมมมอธมีขนาดโดยเฉลี่ย 4 เมตรตั้งแต่ตีนจนถึงหัวไหล่ มีสีขนที่หลากหลายตั้งแต่น้ำตาล หรือน้ำตาลออกเหลือง ความยาวตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตรจนถึง 50 เซนติเมตร ภายใต้ผิวหนังหนาและมีชั้นไขมันเป็นฉนวนกันความหนาว 8 เซนติเมตร มีส่วนหัวที่กลม ใบหูเล็กกว่าช้างในยุคปัจจุบันมาก มีโหนกไขมันอยู่บริเวณส่วนหลัง มีงายาวโค้งได้ถึง 13 ฟุต มีฟันกรามเป็นสันเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเหมาะแก่การอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความหนาวในยุคน้ำแข็ง เพื่อรักษาความอบอุ่นในร่างกาย

แมมมอธสูญพันธุ์ลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและการล่าของมนุษย์ในยุคน้ำแข็ง
นกเพนกวินฮัมโบลต์ (Humboldt Penquin)
นอกจากนี้ยังมีหุ่นสตัฟฟ์ของสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน มาจัดแสดงให้ชมอีก 2 ชนิด คือ นกเพนกวินฮัมโบลต์และหมีขั้วโลก ที่ถูกสตัฟฟ์ไว้จากของจริงเพื่อนำมาให้ความรู้แก่ประชาชน

นกเพนกวินฮัมโบลต์ (Humboldt Penquin)
นกเพนกวินชนิดสุดท้ายที่จะเหลือรอด นกเพนกวินจะอาศัยในเขตหนาวเย็นของขั้วโลกใต้ มันเป็นนกที่มีการปรับตัวให้ร่างกายมีชั้นไขมันที่หนาจึงทนต่อสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีนกเพนกวินอยู่ทั้งสิ้น 21 ชนิด และนกเพนกวินฮัมโบลต์เป็นนกเพนกวินที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีที่สุด มีการกระจายตัวตามชายฝั่งอเมริกาใต้ แถบประเทศเปรูและชิลี

หากในอนาคตภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมากขึ้น นกเพนกวินจะเป็นกลุ่มนกแรกๆที่จะสูญพันธุ์เนื่องจากขาดที่อยู่อาศัย และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับอากาศที่ร้อนขึ้นได้ โดยสันนิษฐานว่านกเพนกวินฮัมโบลต์นี้จะเป็นนกเพนกวินชนิดสุดท้ายที่จะเหลืออยู่บนโลกใบนี้เพราะสามารถทนร้อนได้ดีที่สุดนั่นเอง
หมีขั้วโลก (Polar Bear)
หมีขั้วโลก (Polar Bear)
รู้จักกันอีกชื่อว่าหมีขาว และเป็นที่รู้จักดีในความโดดเด่นของขนสีขาวที่ถูกปรับให้เข้ากับสีของหิมะขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นที่อยู่เพียงแห่งเดียวของหมีชนิดนี้ ปัจจุบันประชากรหมีขาวเหลือยู่ประมาณ 20,000 ตัวเท่านั้น เนื่องจากการล่าสัตว์ที่ผิดกฏหมายและภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้น้ำแข็งอันเป็นที่อยู่ของหมีขาวละลายลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การอยู่อาศัยและการสืบพันธุ์ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติอันทำให้หมีขั้วโลกค่อยๆลดจำนวนลง และอาจสูญพันธุ์ในที่สุด
บรรยากาศขณะน้องๆเข้าแถวรอชมนิทรรศการยุคน้ำแข็ง
น้องๆขณะชมภาพยนตร์ 3 มิติ






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น