xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์สัปดาห์วิทย์ที่ “ท้องฟ้าจำลอง” แลนด์มาร์คแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนจากจ.สตูล ร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 57 ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
18-22 ส.ค. ทัวร์สัปดาห์วิทย์ที่ “ท้องฟ้าจำลอง” แลนด์มาร์คแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เตรียมกิจกรรมปลูกฝังเด็กไทยรักในดาราศาสตร์ ด้วยนิทรรศการจากหน่วยงานดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากมาย



นายสุรนันท์ ศุภวรรณกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากล่าวถึงที่มาของงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 57 ว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของประเทศ และเป็นสถานที่แรกที่เปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ เข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเมื่อวันที่ 18 ส.ค.07 จนถึงวันนี้เป็นเวลาครบรอบ 50 ปีพอดี

เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีในปีนี้ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จึงกำหนดจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติภายใต้หัวข้อ “จินตนาการสู่ฟากฟ้า 50 ปีท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” โดยจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการชั่วคราว ห้องเรียนดาราศาสตร์ การแข่งขันตอบปัญหาดาราศาสตร์ เกมและการแสดงบนเวทีจากทั้งหน่วยงานของเอกชน และภาครัฐ เพื่อให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ แก่นักเรียน นักศึกษา ครู ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน และประชาชนทั่วไป

“ครบรอบ50 ปีท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ผมอยากให้ทุกคนเห็นว่าท้องฟ้าจำลองมีพัฒนาการตั้งแต่ปี 07 จนถึงปัจจุบันปีที่ 50 อย่างไรบ้าง สิ่งที่ภูมิใจคือ เรากำลังจะพัฒนาระบบเครื่องฉายใหม่ โดยจะมีการนำเครื่องฉายดาวระบบใหม่คล้ายภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาใช้ประกอบกับเครื่องฉายดาวเดิมที่ทางท้องฟ้าจำลองใช้อยู่ เป็นความแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับท้องฟ้าจำลองเร็วๆ นี้ และสำหรับสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีนี้ เนรมิตท้องฟ้าจำลองให้อยู่ในหัวข้อของดาราศาสตร์ ที่เด็กๆ สามารถมาเรียนรู้ได้” นายสุรนันท์กล่าว

ทั้งนี้มีหลายหน่วยงานให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรม อาทิ สมาคมดาราศาสตร์ไทย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ซึ่งเบื้องต้นนายสุรรนันท์คาดว่าเฉพาะสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 57 ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพจะจะมีผู้สนใจและเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า4 หมื่นคน โดยส่วนมากจะเป็นคณะนักเรียนจากโรงเรียนทั่วประเทศแต่ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมนิทรรศการได้ที่หน้างานในราคาปกติได้เช่นกัน

“สุดท้ายอยากบอกกับเยาวชนรุ่นใหม่ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งไกลตัว เป็นสิ่งรอบๆตัวเรา ที่มีเหตุและผลในตัวเอง หากเราสามารถเรียนรู้และคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้จะทำให้เราเข้าใจและรู้ความเป็นมาของธรรมชาติได้อย่างมีเหตุผล อันจะทำให้ประเทศชาติของเราพัฒนาและก้าวหน้าต่อไปได้” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ภายในงานประกอบไปด้วยนิทรรศการและเครื่องเล่นแบบแฮนส์-ออน (hands-on) มากมายประกอบกับการบรรยาย การชมวิดิทัศน์ และการแสดงวิทยาศาสตร์ (Science show) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างตื่นตาตื่นใจ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์จะพาไปรู้จักบางส่วนของนิทรรศการที่จัดขึ้นในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57

หน่วยงานแรกเป็นของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ที่นำกล้องโทรทรรศน์จำลองมาให้ชมกันทั้งแบบหักเหแสง และสะท้อนแสง โดย นายบุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ ของสถาบัน กล่าวโดยสรุปว่า กล้องโทรทรรศน์ทั้ง 2 แบบนี้ใช้ในการสังเกตวัตถุบนท้องฟ้า กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงจะใช้หลักการของสะท้อนแสงของกระจก แต่กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสงจะใช้หลักการของเลนส์

“ในหอดูดาวหรือสถานีอวกาศดาราศาสตร์มักจะใช้กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง เพราะการมีจำเป็นต้องใช้หน้ากล้องที่ใหญ่เพื่อการรวมแสงที่ดี การใช้กระจกเว้าจึงเหมาะสมกว่าการใช้เลนส์ทั้งในเรื่องของน้ำหนักและราคา กล้องโทรทรรศน์โดยทั่วไปมักจะมีใช้อยู่ในสถานที่เฉพาะ และมีราคาค่อนข้างสูง วันนี้ทางหน่วยงานจึงได้นำออกมาให้ประชาชนได้สัมผัสของจริงและลองส่องได้จริงๆ” นายบุญญฤทธิ์กล่าว

ทางด้านสมาคมดาราศาสตร์ไทย มีการจัดแสดงโมเดลกระสวยอวกาศ ยานอวกาศ ยานสำรวจอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจบนอวกาศต่างๆ มาให้ชมกัน รวมไปถึงสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ต่างๆ การใช้แผนที่ฟ้า แผนที่ดวงดาว และมีการจัดแสดงกล้องโทรทรรศน์ต้นแบบกาลิเลโอ ที่เป็นกล้องโทรทรรศน์แรกเริ่มที่กาลิเลโอได้สร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึง กาลิเลโอ กาลิเลอิ นักวิทยาศาสตร์โลกในวาระครบ 400 ปีแห่งการจากไป นอกจากนี้ยังมีการแสดงภาพ 3 มิติเพื่อจำลองภาพถ่ายบนพื้นผิวดาวอังคารที่ถ่ายได้จากยานอวกาศสปิริต และยานอวกาศออพพอร์จูนิตี

ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยานำอุปกรณ์ที่ใช้วัดมาตรต่างๆ มาให้ได้ชมของจริง ทั้งเครื่องวัดฝนแบบแก้วตวง เรือนเทอร์โมมิเตอร์ที่เป็นการวัดอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละช่วงวัน เครื่องวัดการระเหยแบบถาด เครื่องวัดทางลม เครื่องวัดกระแสลม เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเห็นของจริงว่า กว่าจะเป็นแต่ละค่าในคำประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทุกสิ่งดำเนินการด้วยวิธีอะไร

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ผลงานวิชาการในการผลิตสื่อการสอน จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การแสดงผังความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศทั้งหมดจากสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ พร้อมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดที่ให้บริการถ่ายรูปไปรษณียากรพิเศษเนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เก็บภาพบรรยากาศการเปิดงาน การจัดแสดงนิทรรศการ และความประทับใจจากนักเรียนที่เข้าร่วมงานมาให้ชมแล้วบางส่วน

ทางด้านของผู้ร่วมงานอย่าง ด.ช.กฤตวัฒน์ นาคประสาน นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนปทุมคงคา กล่าวว่า เขาโชคดีที่โรงเรียนอยู่ใกล้ท้องฟ้าจำลองจึงได้มาเยี่ยมชมนิทรรศการที่ท้องฟ้าจำลองจัดขึ้นทุกปี เป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้และความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ และอยากให้มีจัดขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนนิทรรศการบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับของเดิม

ส่วนของ ด.ช.เมธัส พยงค์ศรี และ ด.ช.รุงโรจน์ ผิวเผือก นักเรียนชั้นป.2 โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม จ.สุรินทร์ ที่ทางโรงเรียนพามาท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเพื่องานนี้โดยเฉพาะ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สนุกและได้ความรู้มาก อยากให้โรงเรียนพามาอีกในทุกๆ ปี และอยากเชิญชวนให้เด็กนักเรียนคนอื่นได้มาชมนิทรรศการเหมือนกับเขาทั้ง 2 คน
ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57










นายสุรนันท์ ศุภวรรณกิจ








ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เข้าร่วมชมนิทรรศการภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57 จากหน่วยงานกรมอุตุนิยมวิทยา
ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เข้าร่วมชมนิทรรศการภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57 จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น้องๆกำลังทดลองใช้กล้องโทรทรรศน์
นายบุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ (ซ้าย) และทีมงานจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมใหเความรู้เรื่องกล้องโทรทรรศน์
ภาพขณะน้องๆกำลังเล่นเครื่องกิมบอล (Gimbal) เครื่องจำลองสภาวะไร้แรงดึงดูด ที่จำลองความรู้สึกเหมือนอยู่นอกโลก
สื่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมลุ้นไปกับเครื่องเล่นแบบแอนส์-ออนในนิทรรศการ


กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนปทุมคงคา เข้าร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57
ด.ช.เมธัส พยงค์ศรีและด.ช.รุงโรจน์ ผิวเผือก นักเรียนชั้นป.2 โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม จ.สุรินทร์
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 57  “จินตนาการสู่ฟากฟ้า 50 ปีท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 ส.ค. 57 ตั้งแต่เวลาเวลา 09.00-16.30 น. ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ถนนเอกมัย กรุงเทพมหานคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 02-3921773 หรือที่ www.sciplanet.org







*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น