xs
xsm
sm
md
lg

10 พ.ค. “ดาวเสาร์” ใกล้โลก สว่างชัดสุดในรอบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดาวเสาร์โดย ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา
10 พ.ค. ดาวเสาร์ โลก และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ส่งผลให้ดาววงแหวนซึ่งอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์สว่างชัดที่สุดในรอบปี ด้าน สดร. และสมาคมดาราศาสตร์ไทย พร้อมจัดกิจกรรมรับปรากฏการณ์ ทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า คืนวันที่ 10 พ.ค. 57 ดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปรากฏชัดสีเหลืองสว่างสุกใส ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังดวงอาทิตย์ตก อวดโฉมยาวนานตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องส่องตาสามารถเห็นวงแหวนได้ชัดเจน เตรียมจัดกิจกรรม “NARIT Star Party : ดาวเสาร์ - ราชาแห่งวงแหวน” ให้ประชาชนสัมผัสเต็มตาที่เชียงใหม่

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ อธิบายว่า คืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ค. 57 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) ซึ่ง ดาวเสาร์ โลก และดวงอาทิตย์ จะเรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,331 ล้านกิโลเมตร เราจึงมองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมากและชัดเจน นอกจากนี้ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป

“ในคืนวันที่ 10 พ.ค. ดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) ตั้งแต่เวลา 18:47 น. มีสีเหลืองสว่างสุกใส สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ในเวลา 05:52 น. ของเช้าวันที่ 11 พ.ค. ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ค่อนข้างยาวนานและมากพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชมด้วยตาเปล่า มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือการถ่ายภาพวงแหวนดาวเสาร์ หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กหรือกล้องสองตา จะสามารถมองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน” ดร.ศรัณย์ กล่าว

ทั้งนี้ ปกติดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือใกล้โลกที่สุดเป็นประจำทุกปี โดยครั้งล่าสุดคือวันที่ 28 เม.ย. 56 และครั้งต่อไปในวันที่ 23 พ.ค. 58

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 10 พ.ค. นอกจากดาวเสาร์แล้วยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจปรากฏบนท้องฟ้าอีก 2 ดวง คือ ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยในช่วงหัวค่ำดาวอังคารจะปรากฏเกือบกลางศรีษะค่อนไปทางทิศใต้ อยู่เคียงดวงจันทร์และดาวรวงข้าว (Spica) สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นกัน หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจะสามารถเห็นขั้วน้ำแข็งของดาวอังคารได้อย่างชัดเจน ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในกลุ่มดาวคนคู่

นอกจากนี้ สดร. ยังจัดกิจกรรม “NARIT Star Party : ดาวเสาร์ - ราชาแห่งวงแหวน” ให้บริการประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันเสาร์ที่ 10 และ 17 พ.ค. 2557 เวลา 18:00-21:00 น. บริเวณลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ โดยนำกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ กว่า 10 ตัว มาบริการประชาชน ซึ่งมีกิจกรรม อาทิ ส่องดาวเสาร์ “ราชาแห่งวงแหวน” ที่สว่างสุดชัดสุดในรอบปี, สัมผัสหลุมบนดวงจันทร์ 10 ค่ำ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ มองได้ชัดกว่าตาเห็นมากกว่า 100 เท่า, ชมดาวอังคารพร้อมส่องขั้วนำแข็งและพายุฝุ่นบนดาวอังคาร และส่องดูดาวพฤหัสบดีพร้อมดวงจันทร์บริวารอีก 4 ดวง

ส่วนทางด้านสมาคมดาราศาสตร์ไทย เตรียมจัดกิจกรรม “เบิกฟ้ากลางกรุง ส่องกล้องดูวงแหวนดาวเสาร์” ในวันเสาร์ที่ 10 พ.ค. 57 ตั้งแต่เวลา 19:00 - 21:00 น. ให้บริการประชาชนในการชมปรากฏการณ์ดาวเสาร์สว่างชัดที่สุดในรอบปี ณ สมาคมดาราศาสตร์ไทย หน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา บริเวณท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
ภาพจำลองแสดงดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition)
ภาพแสดงวงแหวนดาวเสาร์ในช่วงที่ใกล้โลกในรอบ 30 ปี (Astronomylive.com/event/saturn-opposition)
ภาพจำลองแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ ดาวอังคารและดาวเสาร์ ในคืนวันที่ 10 พ.ค.57






กำลังโหลดความคิดเห็น