xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง "รังสี" จากผู้ป่วยฝั่งแร่ไอโอดีน-125

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การรักษาโรคมะเร็งโดยการฝังวัสดุกัมมันตรังสีไอโอดีน – 125 หรือที่เรียกว่า การฝังแร่ไอโอดีน – 125
ปส.เตือนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ที่เดินทางไปรักษาโรคโดยการฝังแร่ไอโอดีน - 125 ที่ต่างประเทศ ให้ข้อแนะนำเพื่อเกิดความปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด ย้ำควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องทั้งก่อนและหลังการรักษา

นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการต่างๆ อย่างหลากหลายวิธี ซึ่งการฝังวัสดุกัมมันตรังสีไอโอดีน - 125 หรือที่เรียกว่า การฝังแร่ไอโอดีน - 125 เป็นการรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ วิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งในประเทศไทยมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย ผู้ป่วยบางส่วนจึงนิยมเดินทางไปรับการรักษาในต่างประเทศ

“ถึงแม้ว่าวัสดุกัมมันตรังสีไอโอดีน - 125 ที่ใช้ในการรักษาจะมีปริมาณน้อย แต่มีโอกาสได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชนทั่วไป สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่รับการรักษาโดยการฝังแร่  และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ผู้ป่วยต้องไม่อยู่ใกล้กับสตรีมีครรภ์และเด็ก เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก

2.ในช่วงหนึ่งเดือนแรกควรให้ผู้ป่วยแยกพักต่างหาก ไม่ควรพักรวมกับบุคคลอื่น ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

3.ในกรณีที่เข้ารับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลผู้ป่วยต้องแจ้งให้โรงพยาบาลทราบว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยการฝังแร่ไอโอดีน - 125

4.กรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตหลังการรักษาด้วยการฝังวัสดุกัมมันตรังสี ญาติผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ผู้ให้การรักษา (แพทย์เจ้าของไข้) เพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อความปลอดภัย โดยให้ดำเนินการตามข้อแนะนำของทางโรงพยาบาล

5.กรณีการฝังศพ สามารถดำเนินการฝังได้ โดยให้ดำเนินการตามข้อแนะนำ ของทางโรงพยาบาล

6.กรณีการฌาปนกิจศพสามารถดำเนินการได้ หากฝังแร่ไอโอดีน - 125 มาไม่น้อยกว่า 1 ปี หากไม่สามารถทำได้ ผู้ที่เก็บอัฐิหรือเถ้ากระดูกหลังจากการฌาปนกิจศพ ควรสวมหน้ากากและถุงมือ เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี โดยอัฐิและเถ้าถ่านที่เหลือควรจัดเก็บไว้ในภาชนะโลหะอย่างน้อย 1 ปี

7.ไม่ควรแพร่กระจายอัฐิสู่สิ่งแวดล้อม จนกว่าระยะเวลาผ่านไปประมาณ 20 เดือน”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แพทย์ผู้ให้การรักษา หรือ กลุ่มกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้รังสีทางการแพทย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0-2596-7600 ต่อ 3516-3517








กำลังโหลดความคิดเห็น