xs
xsm
sm
md
lg

หญิงคนแรกแห่ง “เหรียญฟิล์ด” เปรียบคณิตเหมือนหาทางออกจากป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.มัรยัม มีร์ซาคอนี ศาสตราจารย์ชาวอิหร่านจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
มัรยัม มีร์ซาคอนี อาจารย์สาวอิหร่านวัย 37 ปี จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คว้า “รางวัลเหรียญฟิล์ด” นับเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลเชิญชูเกียรติแห่งวงการคณิตศาสตร์ ซึ่งเทียบเทียบเท่ารางวัลโนเบล เธอเปรียบเทียบคณิตศาสตร์เหมือนหลงป่า ที่ต้องใช้ความรู้ทั้งหมดหาทางออก

ศ.มัรยัม มีร์ซาคอนี (Maryam Mirzakhani) สตรีชาวอิหร่าน อายุ 37 ปี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด (Stanford University) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้รับรางวัลเหรียญฟิล์ด (Fields Medal) จากการประชุมของสมาพันธ์คณิตศาสตร์นานาชาติ (International Congress of Mathematicians : ICM) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา

เอเอฟพีรายงานว่า ศ.มีร์ซาคอนีได้รับรางวัลนี้ พร้อมกันกับนักคณิตศาสตร์ดีเด่นอีก 3 คนได้แก่ อาร์เธอร์ อาวิลา (Artur Avila) ศาสตราจารย์ชาวบราซิลจากสถาบันคณิตศาสตร์ชุยขัวร์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส และ แมนจูล บวากาวา (Manjul Bhargava) จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัล และมาร์ติน ไฮร์เรอร์ จากมหาวิทยาลัยวาร์วิก อังกฤษ ทั้งนี้ ถือว่ารางวัลเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติคนในวงการคณิตศาสตร์ที่ยอมรับกันว่ามีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่ารางวัลโนเบล

รางวัลเหรียญฟิล์ดถือเป็นรางวัลยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับรางวัลโนเบลสำหรับนักคณิตศาสตร์ โดยการมอบรางวัลเกียรติยศแห่งวงการคณิตศาสตร์นี้ จะจัดขึ้นทุก 4 ปีเพื่อมอบรางวัลให้แก่นักคณิตศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่นที่มีอายุไม่เกิน 40 ปีมอบรางวัลติดต่อกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2479 โดยมีนักคณิตศาสตร์ชายได้รับรางวัลก่อนหน้านี้ 52 คน และเมอร์ซาคานี คือผู้หญิงคนแรก

มีร์ซาคอนีกล่าวว่า นับเป็นเกียรติสูงสุดที่ได้รับรางวัลนี้ และเธอจะมีความสุขมากหากมันจะเป็นส่งเสริมให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ๆมากขึ้น และเธอมั่นใจว่าในปีต่อๆ ไปจะมีผู้หญิงที่ได้รับรางวัลนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“เธอมีความยอดเยี่ยมในหลายๆอย่างเกี่ยวกับเทคนิคทางคณิตศาสตร์และเข้าใจในศาสตร์แต่ละแขนงเป็นอย่างดี เธอประกอบไปด้วยความแปลกที่รวมออกมาแล้วกลายเป็นส่วนผสมของผู้ยอดเยี่ยมทางคณิตศาสตร์ เธอมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีความรู้ที่ลึกซึ้งที่เกิดจากการศึกษาจากความรู้ของเธอ” ผู้แทนจากสมาพันธ์คณิตศาสตร์นานาชาติกล่าวเชิดชูเธอ

สิ่งที่ทำให้มีร์ซาคอนีโดดเด่นจนได้รับรางวัลคือ การศึกษาทฤษฎีคณิตศาสตร์อันซับซ้อนเกี่ยวกับสมมาตรและระบบกลศาสตร์ของพื้นผิวทรงโค้ง ทรงกลมและทรงกลมมีรูที่น้อยคนบนโลกนี้จะเข้าใจได้ ขอบข่ายงานของเธอถูกจัดได้ว่าเป็นคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นการศึกษาถึงต้นตอของทฤษฎี อีกทั้งยังมีการบูรณาการกับฟิสิกส์และทฤษฎีควอนตัม รวมไปถึงเลขจำนวนเฉพาะและการศึกษาเกี่ยวกับรหัสสัญญาณ (cryptography) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เข้าใจยากแม้แต่นักคณิตศาสตร์ทั่วๆไป

นางปาร์ค อึน เฮ (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ในฐานะผู้มอบรับรางวัลกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศทุกคน โดยเฉพาะ ศ.มีร์ซาคอนี ที่ถือเป็นผู้มีความพยายามและหลงไหลในงานที่ตัวเองทำ จนได้รับเลือกให้เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ไม่เพียงแค่รางวัลนี้เท่านั้นที่เธอได้รับ ก่อนหน้านี้เธอได้รับรางวัลบลูเมนทัล (Blumenthal Award) รางวัลเกียรติยศแก่งานวิจัยก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ ในปี 52 และรางวัลแซทเทอร์ (Satter Prize) จากสมาคมคณิตศาสตร์ สหรัฐฯ ในปี 56ซึ่งตอนวัยรุ่นเธอยังเคยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติด้วยคะแนนสะสมยอดเยี่ยมอีกด้วย

มีร์ซาคอนีเผยว่า อันที่จริงแล้วความฝันวัยเด็กของเธอคือ อยากเป็นนักเขียน แต่เธอก็ได้พบจุดเปลี่ยนเมื่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยม และได้ลองแก้โจทย์คณิตศาสตร์ เธอพบว่ามันสนุกมาก เหมือนเวลาที่ได้แก้ปริศนาอักษรไขว้ ได้เล่นเชื่อมต่อจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง มันทำให้เธอรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้มัน และเธอก็อยากจะเดินเข้ามาในทางสายนี้ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้เธอมีความสนใจทางด้านคณิตศาสตร์ และเลือกเรียนในสาขานี้มาโดยตลอด

มีร์ซาคอนี สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาโทที่ประเทศอิหร่าน และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard University) และเข้ามาเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 51 ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับสามีและลูกสาววัย 3 ขวบ

ด้าน จอห์น เฮนเนซซี (John Hennessy) อธิการบดีมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดกล่าวแสดงความยินดีกับเธอว่า ในนามของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ขอแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์มาย์ยามที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้รับเกียรติสูงสุดให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ขอแสดงความนับถือในความพยายามอย่างเต็มที่ในการทำงาน”

“ถึงแม้คณิตศาสตร์จะประกอบไปแนวทางและทฤษฎีแห่งธรรมชาติที่อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กันหรือตอบคำถามได้ทันที แต่ฉันก็สนุกกับมัน เพราะฉันสัมผัสได้ถึงความงดงามและความยั่งยืนของคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ที่กำลังศึกษา มันเหมือนการหลงป่าที่เราต้องพยายามใช้ความรู้ที่เรามีทั้งหมด รวมกับด้วยเคล็ดลับใหม่ๆ และโชคเพื่อฝ่าฟันหาทางออกให้ได้” มีร์ซาคอนีกล่าวกับเอเอฟพี
ศ.มัรยัม มีร์ซาคอนี ศาสตราจารย์ชาวอิหร่านจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (คนที่ 4 จากซ้าย) อาร์เธอร์ อาวิลา ศาสตราจารย์ชาวบราซิลจากสถาบันคณิตศาสตร์ชุยขัวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Institute of Mathematic Jussieu, Paris) (คนแรกทางขวา) แมนจูล บวากาวา (Manjul Bhargava) จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัล (คนที่ 2 จากซ้าย) และมาร์ติน ไฮร์เรอร์ จากมหาวิทยาลัยวาร์วิก ประเทศอังกฤษ (คนแรกทางซ้าย) และนางปาร์ค อึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ (เสื้อเขียว) ในพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติผู้เป็นเลิศทางด้านคณิตศาสตร์ IMC 2014 จัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ศ.มัรยัม มีร์ซาคอนี (Maryam Mirzakhani) ศาสตราจารย์ชาวอิหร่านจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดขณะขึ้นรับรางวัลจากนางปาร์ค อึน เฮ (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้
แมนจูล บวากาวา (Manjul Bhargava) จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัลขณะขึ้นรับรางวัลจากนางปาร์ค อึน เฮ (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้
มาร์ติน ไฮร์เรอร์ จากมหาวิทยาลัยวาร์วิก ประเทศอังกฤษขณะขึ้นรับรางวัลจากนางปาร์ค อึน เฮ (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้
อาร์เธอร์ อาวิลา (Artur Avila) ศาสตราจารย์ชาวบราซิลจากสถาบันคณิตศาสตร์ชุยขัวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Institute of Mathematic Jussieu, Paris) ขณะขึ้นรับรางวัลจากนางปาร์ค อึน เฮ (Park Geun-Hye) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้

Instagram






*******************************



*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น