เอเจนซี - จีนมุ่งพัฒนาโครงการทดลองด้านสนามพลังแม่เหล็กเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมในการพัฒนาทฤษฎีควอนตัมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ทุ่มงบประมาณสำหรับโครงการย่อยต่างๆ มากกว่า 90 โครงการในปีที่แล้ว
สื่อต่างประเทศรายงาน (14 ม.ค.) อ้างคำกล่าวของ ดร.เฉิน หงเว่ย นักวิจัย จากสถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์ สนามพลังแม่เหล็ก และเป็นหัวหน้าโครงการควอนตัมคอมพิวเตอร์ หรือโครงการเหอเฟยฯ ว่า จีนมุ่งพัฒนาด้านสนามแม่เหล็กระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์
ดร.เฉิน กล่าวว่า การพัฒนาที่จะให้ผลการทำงานอย่างถูกต้อง คอมพิวเตอร์ควอนตัมจะต้องใช้อนุภาคที่ได้รับสถานะของการทับซ้อน เพื่อส่งข้อมูลของ "หนึ่ง" และ "ศูนย์" ในแต่ละหน่วยคิวบิท (ควอนตัมบิต) ซึงยิ่งมีมาก ประสิทธิภาพจะยิ่งสูง แต่ปัญหาคือ คิวบิทนั้น มีความเปราะบางมาก และมีแนวโน้มที่จะคำนวณควบคุมยาก อย่างไรก็ตาม การดำเนินการภายใต้สนามพลังแม่เหล็กที่เข้มข้น จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ง่ายขึ้น และเมื่อสามารถคุมแต่ละคิวบิทได้ เมื่อนั้น คือความสำเร็จของควอนตัมคอมพิวเตอร์
รายงานข่าวกล่าวว่า โครงการทดลองเหอเฟย นี้ เป็นโครงการทดลองด้านสนามพลังแม่เหล็กเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมในการพัฒนาทฤษฎีควอนตัมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจีน ได้ทุ่มงบประมาณสำหรับโครงการย่อยต่างๆ มากกว่า 90 โครงการในปีที่แล้ว
ศาสตราจารย์ หวัง ห่าวหวา นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งกำลังวิจัยสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ ก่าวว่า รัฐบาลจีนมีความมุ่งมั่นอย่างมาก ที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยไม่ห่วงว่าต้องใช้งบประมาณมากเพียงใด เพราะมูลค่าของความสำเร็จนี้ มีสูงมาก
ศาสตราจารย์ จ้าว หงอู่ นักวิจัยจาก สถาบันฟิสิกส์ CAS ผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีควอนตัม กล่าวเชื่อว่า กว่าที่จะพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้นั้น คงต้องรออีก 10 ปี บางทีอาจจะเป็น 100 ปีก็ได้ และนี่เป็นวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้าของจีน
"แม้ว่า จะต้องล้มเหลวกว่า 99 ใน 100 ครั้ง แต่จีนจะไม่ล้มเลิกการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาด้านนี้" ศาสตราจารย์ จ้าว หงอู่ กล่าว
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่า ความสำเร็จของผู้เชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัสลับของกองทัพอังกฤษ ในการถอดรหัสนาซีแตก เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยให้พันธมิตรได้ชัยชนะในทสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนยังให้ความสำคัญมากกว่าโครงการแมนฮัตตันที่พัฒนาระเบิดปรมาณู สำหรับการคำนวณเชิงควอนตัม (Quantum computing) นี้ คือสมมติฐานการคำนวณตามพฤติกรรมของอนุภาค ที่ระดับอะตอมย่อย คอมพิวเตอร์ลักษณะนี้ ถ้ามีการพัฒนาจะมีความสามารถ ในการประมวลผลมากกว่า ล้านคำสั่งต่อวินาที (millions of instructions per second หรือ MIPS) มากกว่าคอมพิวเตอร์ก่อนหน้านี้ มีความได้เปรียบในความสามารถ ของการประมวลผลมีได้มากกว่า 1 สถานะในเวลา (สามารถแยกคิดอิสระได้หลายเรื่องพร้อมกัน แม้จะเกิดจากกลุ่มอนุภาคเดียวกัน) นับเป็นสมองกลแห่งยุคศตวรรษที่ 21
สัปดาห์ที่แล้ว (3 ม.ค.) วอชิงตันโพสต์ ได้อ้างข้อมูลจากเอกสารลับที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของเอ็นเอสเอ นำมาเผยแพร่ ซึ่งระบุว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) อยู่ระหว่างพัฒนา “ควอนตัมคอมพิวเตอร์” ซึ่งจะสามารถถอดรหัสลับได้ทุกประเภททุกชนิดที่องค์กรทั่วโลกใช้ปกป้องข้อมูลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกของธนาคาร, โรงพยาบาล, บริษัท หรือรัฐบาลก็ตาม โดยระบุว่าโครงการพัฒนาเครื่องมืออันล้ำสมัยนี้ก็กำลังคืบหน้าไปอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญที่วอชิงตันโพสต์ไปขอสัมภาษณ์ต่างเชื่อว่า เอ็นเอสเอ คงไม่สามารถซุ่มพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวขึ้นมาได้ โดยที่โลกไม่รู้