xs
xsm
sm
md
lg

นักคณิตฯ หญิงอิหร่านคว้ารางวัลเกียรติยศ “ฟิลด์ส เมดัล” ศักดิ์ศรีเทียบเท่า “โนเบล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มัรยัม มีร์ซาคอนี นักคณิตศาสตร์หญิงชาวอิหร่านจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คว้ารางวัล ฟิลด์ส เมดัล ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศด้านคณิตศาสตร์เทียบเท่ารางวัลโนเบล
รอยเตอร์ - มัรยัม มีร์ซาคอนี นักคณิตศาสตร์ชาวอิหร่าน กลายเป็นสตรีคนแรกของโลกที่คว้ารางวัล “ฟิลด์ส เมดัล” รางวัลเกียรติยศด้านคณิตศาสตร์ซึ่งมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับรางวัลโนเบล เมื่อวานนี้ (12 ส.ค.)

อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้นี้เป็นหนึ่งในบรรดานักคณิตศาสตร์ที่ได้รับรางวัลฟิลด์ส เมดัล ระหว่างการประชุมสภานักคณิตศาสตร์นานาชาติ (International Congress of Mathematicians) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล และถือเป็นผู้หญิงคนแรกจากบรรดาผู้ที่เคยได้รับรางวัลทั้งหมด 56 คน นับตั้งแต่เริ่มมีการแจกรางวัลในปี 1936

“นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ดิฉันจะดีใจมากหากรางวัลที่ได้รับนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์หญิงคนอื่นๆ ต่อไป” ถ้อยแถลงจาก มีร์ซาคอนี ซึ่งถูกโพสต์บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุ

“ดิฉันเชื่อแน่ว่าจะต้องมีผู้หญิงอีกหลายต่อหลายคนที่สามารถคว้ารางวัลลักษณะนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

มีร์ซาคอนี วัย 37 ปี เกิดที่กรุงเตหะราน และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนกระทั่งได้มาเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอเล่าว่าสมัยเด็กๆ เคยฝันอยากจะเป็นนักเขียน แต่แล้วก็เลือกที่จะเดินตามความชอบส่วนตัวในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ยากๆ มากกว่า

“มันเป็นเรื่องสนุกมาก เหมือนได้ไขปริศนาหรือปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ เพื่อสืบคดีอย่างไรอย่างนั้น ดิฉันรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ดี และอยากเดินมาทางนี้”

ข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า มีร์ซาคอนีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากผลงานว่าด้วยความเข้าใจกฎความสมมาตรของพื้นผิวโค้ง

รางวัลฟิลด์ส เมดัล นี้จะแจกทุกๆ 4 ปี โดยปีนี้ผู้ที่ทำหน้าที่มอบรางวัลคือประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ ผู้นำหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์แดนโสมขาวด้วย

สำหรับนักคณิตศาสตร์อีก 3 คนที่ได้รับรางวัลเดียวกัน ได้แก่ อาร์เทอร์ อาวิลา จากศูนย์เพื่อการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส และสถาบันเพื่อคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์แห่งชาติบราซิล, มันจูล ภาร์กาวา จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และ มาร์ติน แฮร์เรอร์ จากมหาวิทยาลัยวอร์ริค สหราชอาณาจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น