xs
xsm
sm
md
lg

นักบินอวกาศไทยคนแรกชวนเด็กไทยไปแตะอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิรดา เตชะวิจิตร์ วิศวกรดาวเทียม สทอภ. ว่าที่นักบินอวกาศคนแรกของไทย
“พิรดา เตชะวิจิตร์” ว่าที่นักบินอวกาศคนแรกของไทย ชวนเยาวชนไทยร่วมส่งโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นบอลลูนไปแตะขอบอวกาศ คัดเลือกทีมผู้ชนะไปร่วมฝึกบนเที่ยวบินไร้น้ำหนัก เตรียมพร้อมก่อนเจ้าตัวขึ้นยานไปสัมผัสอวกาศ

“อยากเห็นโลกจากมุมมองพระเจ้า คือเห็นโลกทั้งใบจากนอกโลก” ความฝันของ น.ส.พิรดา เตชะวิจิตร์ วิศวกรดาวเทียมประจำสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ที่ใกล้จะเป็นจริง ในฐานะที่เธอ คือว่าที่นักบินอวกาศคนแรกของไทยในโครงการแอ็กซ์ อพอลโล สเปซ อคาเดมี (AXE Apollo Space Academy)

พิรดาจะขึ้นยานลิงซ์มาร์คทู (LYNX MARK II) ในโครงการแอ็กซ์ อพอลโล เพื่อขึ้นไปสัมผัสอวกาศในปลายปี 2558 แต่ก่อนจะได้สัมผัสประสบการณ์ที่หาได้ยากในชีวิต เธอต้องเตรียมความพร้อมด้วยการฝึกบนเที่ยวบินไร้น้ำหนัก 3 รอบและการทดสอบอื่นๆอีกมากมาย โดยในการฝึกรอบสุดท้ายที่สหรัฐฯ เธอได้รับสิทธิพิเศษจากบริษัทผู้สร้างยานพาผู้อื่นไปร่วมฝึกในเที่ยวบินได้ด้วย

สิทธิพิเศษดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้พิรดา ริเริ่มโครงการทาร์ซา (THASA : Thai Youth Space Ambassador Contest) เพื่อส่งโอกาสและจุดประกายความฝันแก่เยาวชนไทย โดยเฟ้นหาเยาวชนที่พร้อมไปร่วมฝึกบินในเที่ยวบินไร้น้ำหนัก ร่วมกับเธอในเดือน มี.ค.58 จากการคัดเลือกทีมที่ร่วมส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าประกวด

"ทีมที่ชนะเลิศจากการแข่งขันจะได้ขึ้นบินกับเครื่องบินซีโรจี (ZERO-G Flight) เที่ยวบินไร้น้ำหนักที่ให้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในความรู้สึกเช่นเดียวกับนักบินอวกาศ เครื่องบินซีโรจี เป็นเครื่องบินที่บินเป็นแนวไฮเปอร์โบลิก ทำมุม 45 องศากับพื้นโลก ผู้ที่ขึ้นบินจะลอยเคว้งในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง นับเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่มีบนพื้นโลก ซึ่งมีคนไทยไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์นี้” พิรดา ให้รายละเอียดโครงการแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

สำหรับการประกวดในโครงการทาร์ซานั้น เป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับทดลองบนบอลลูนฮีเลียมที่จะถูกปล่อยขึ้นไปยังความสูง 30 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลเพื่อทำการทดลอง นับเป็นโครงการทางอวกาศที่ต้นทุนต่ำ ที่จะช่วยให้การศึกษาวิจัยทางอวกาศเกิดขึ้นได้ โดยการประกวดดังกล่าวได้ตั้งโจทย์ไว้ในหัวข้อ “อยากทำอะไรในอวกาศ”

"แม้บ้านเราจะไม่มียานอวกาศหรือเทคโนโลยีทางอากาศที่โดดเด่นเหมือนกับประเทศมหาอำนาจ แต่การส่งบอลลูนขึ้นสู่อวกาศพร้อมการทดลองของเยาวชนในครั้งนี้ จะเป็นการฝึกกระบวนการทางความคิด และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศ ที่ไม่เหมือนบนพื้นโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความสนใจทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้ทราบด้วยว่าเรามีการศึกษาทดลองด้านนี้อยู่" พิรดากล่าว

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น 3 รอบ ในการแข่งขันรอบแรกคณะกรรมการจะพิจารณาข้อเสนอโครงการของเยาวชน โครงการที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนวิจัย 10,000 บาท เพื่อพัฒนาชิ้นงาน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาในแต่ละโครงงานอย่างถูกต้อง จากนั้นจะคัดเลือกทีมผู้สมัคร 20 ทีม เพื่อเข้าสู่การแข่งขันในรอบที่ 2 ซึ่งทีมที่ได้รับการคัดเลือกจากรอบแรกจะต้องเดินทางไปเข้าค่ายสัมนาเชิงปฏิบัติการ ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

"แต่ละทีมที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้การทำงานของวิศวกรดาวเทียม เนื่องจากที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอากาศ เป็นสถานีควบคุมดาวเทียมของ สทอภ.อยู่แล้ว จะมีการให้ความรู้ การบรรยายจากผู้มีประสบการณ์ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ กิจกรรมดูดาว ซึ่งแต่ละทีมต้องจัดทำโครงการให้เสร็จสิ้นภายในค่าย ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำของพี่ๆ วิศวกรจาก สทอภ." พิรดาเล่าขั้นตอนและรายละเอียดการประกวด

จากนั้นแต่ละทีมจะนำเสนอผลงานให้แก่คณะกรรมการถึงแนวคิด วิธีการ ผลที่คาดว่าจะได้รับ และประโยชน์ที่สามารถนำไปต่อยอดการวิจัย ภายในงานประชุมจีโออินโฟเทค 57 (Geoinfotech) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12-14 พ.ย. 57 พร้อมประกาศผลการคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 8 ทีมสุดท้าย

"8 ทีมสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือก จะได้ทดลองปล่อยบอลลูนที่บรรจุก๊าซฮีเลียมขึ้นไปที่ 30 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล หรือที่ชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์เพื่อทำการทดสอบ เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง เมื่อบอลลูนตกจะต้องติดตามเก็บกู้เพื่อนำผลงานมาวิเคราะห์และสรุปผล เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง โดยจะปล่อยบอลลูนที่ จ.ราชบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณกึ่งกลางของประเทศ"

"ที่ความสูงกว่า 30 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลนี้เป็นความสูงที่มีสภาวะใกล้เคียงกับอวกาศ โดยจะมีอุณหภูมิต่ำสุดถึง -60 องศาเซลเซียส แทบจะไม่มีความดันบรรยากาศและอากาศอยู่ มีความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์สูง มีการแผ่รังสีที่มากกว่าบนพื้นโลก บอลลูนที่ถูกปล่อยจะมีสถานะคล้ายกับดาวเทียม เพียงแค่ยังคงอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงโลก" พีรดาเผย

โครงการประกวดนี้เปิดโอกาสแก่เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่สนใจ โดยต้องมีสมาชิกในทีมเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา 2 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 1 คน สามารถส่งโครงงานวิทยาศาสตร์ทางเอกสาร หรือทำเป็นคลิปวีดิโอ ตามหัวข้อที่กำหนดในรูปแบบสาขาวิชาใดก็ได้ ทั้งฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยาที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือทฤษฎีมารองรับ

ส่งผลงานประกวดที่ thasacontest@gmail.com ภายในวันที่ 31 ส.ค.57 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://thasa.gistda.or.th





Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น