xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...จิงโจ้ใช้หางเป็นขาที่ 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิงโจ้ที่ได้รับการฝึกให้เดินผ่านทางเดินที่ติดเซนเซอร์วัดแรง
นอกจากมีกระเป๋าหน้าท้องเป็นลักษณะพิเศษแล้วจิงโจ้ยังมีความพิเศษอีก เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่า สัตว์ประจำถิ่นของออสเตรเลียนี้ใช้หางทำหน้าที่เสมือนขาที่ 5 อันทรงพลัง








งานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากหลายสถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยโคโลราโดในโบลเดอร์ (University of Colorado Boulder) สหรัฐฯ, มหาวิทยาลัยไซมอนฟราเซอร์ (Simon Fraser University in Burnaby) ในเบอร์นาบี แคนาดา, และมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยผลการศึกษาในจิงโจ้แดง นักวิจัยพบว่า พวกมันใช้หางช่วยในการผลักตัวไปข้างหน้าเสมือนเป็นขาอีกข้าง

“เราพบว่าเมื่อจิงโจ้เดิน พวกมันใช้หางเป็นเหมือนข้างหนึ่ง พวกมันใช้หางช่วยผยุง ช่วยผลักและสร้างกำลังในการเคลื่อนไหว ในความจริงพวกมันแสดงการทำงานเชิงกลศาสตร์ด้วยหางเหมือนกับที่เราใช้ขาของเรา” ผศ.แม็กซ์เวลล์ ดันแลน (Maxwell Donelan) จากมหาวิทยาลัยไซมอนฟราเซอร์ หนึ่งในทีมวิจัยระบุ

ด้าน ผศ.ดร.รอดเจอร์ คราม (Rodger Kram) จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดในโบลเดอร์ เสริมว่า พวกเขาต้องการทราบว่า จิงโจ้ใช้หางเพื่อวางท่าในการเดิน หรือเพื่อใช้เป็นแกนค้ำยัน หรือ ใช้นั่งพัก ทว่าพวกเขาค้นพบสิ่งที่ไม่คาดคิดคือหางจิงโจ้สร้างพลังอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นที่พวกเขาค่อนข้างประหลาดใจ

ข้อมูลประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยโคโลราโดในโบลเดอร์ ระบุว่าโจ้แดงนั้นเป็นจิงโจ้สปีชีส์ที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย โดยขณะลิมหญ้าพวกมันก็เคลื่อนขาหลังไปข้างหน้าพร้อมกัน ในขณะที่ขาหน้าและหางจะช่วยพยุงร่างกายพวกมันไว้ เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของคน เท้าหลังของเราเปรียบเสมือนคันถีบ ขณะที่เท้าหน้าที่หน้าที่เบรค ซึ่ง ดร.ครามกล่าวว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใด เขายังเปรียบเทียบหางจิงโจ้กับผู้เล่นสเก็ตบอร์ดที่ใช้เท้าอีกข้างเตะพื้นเพื่อสร้างแรงส่ง ซึ่งหางจิงโจ้ก็ใช้ในการกดพื้นหลังเพื่อเพิ่มแรงส่งไปข้างหน้าเช่นกัน

ดันแลนซึ่งเป็นอดีตลูกศิษย์ของ ดร.ครามกล่าวอีกว่า ไม่มีสัตว์อื่นนอกจากจิงโจ้ที่ใช้หางทำงานเหมือนขา โดยหางของพวกมันมีกระดูกถึง 20 ชิ้น และทำหน้าที่เหมือนกับเท้า น่องและต้นขาของคนเรา และหางของจิงโจ้ยังมีพลัง ยืดหยุ่น และสรางสมดุลระหว่างการกระโดด และเสริมสมดุลเมื่อจิงโจ้ตัวผู้ต่อสู้กันเพือแย่งตัวเมียผสมพันธุ์ โดยการดึงกันโดยใช้หน้าอกและไหล่ประชิดกัน ก่อนตั้งหลังตรงแล้วเตะกันที่ท้อง

ในการศึกษาครั้งนี้ทีมวิจัยได้บันทึกภาพวิดีโอการเดินของจิงโจ้แดง 5 ตัว ภายในห้องปฏิบัติการที่ซิดนีย์ โดยจิงโจ้เหล่านั้นได้รับการฝึกมาอย่างดีให้เดินตรงไปข้างหน้าบนแถบที่ใช้วัดแรง ซึ่งมีเซนเซอร์ที่ใช้วัดแรงกด แรงที่ผลักไปข้างหน้าและแรงที่ผลักไปข้างหลัง ทั้งจากขาและหางของจิงโจ้ จิงโจ้ที่เดินตรงไปข้างหน้าจะได้รับรางวัลเป็นขนมหวาน

นอกจากจิงโจ้แล้วตลอดชีวิตการทำงานของคราม เขายังได้ศึกษาการเดินของสัตว์อื่นๆ อาทิ เต่า ช้าง ลามะ นกกระจอกเทศไปจนถึงแมลงปีกแข็ง ส่วนงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารไบโอโลจีเลตเตอร์ส และได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของแคนาดา, รวมถึงสภาวิจัยออสเตรเลีย และทุนสมทบในความร่วมมือวิจัยระดับนานาชาติจากสมาคมชีวกลศาสตร์นานาชาติ รวมถึงวารสารวิชาการเจอร์นัลออฟเอกซ์เพอริเมนทัลไบโอโลจี


Instagram







กำลังโหลดความคิดเห็น