xs
xsm
sm
md
lg

“ฟูเลโก” คืออมาดิลโลนะ...ไม่ใช่ตัวนิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงสร้างร่างกายของอมาดิลโลและตัวนิ่มแตกต่างกันมาก ที่เห็นได้ชัดคือ อมาดิลโลมีฟันแต่ตัวนิ่มไม่มีฟัน เกราะหนังเป็นแผ่นของอมาดิลโล่เชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังคล้ายโครงสร้างของเต่า แต่ตัวนิ่มมีเกราะเป็นเกล็ดแข็งที่พัฒนามาจากขน
“ฟูเลโก” มาสคอสของฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นตัวอมาดิลโล สัตว์พิเศษที่ม้วนตัวเป็นลูกบอลพร้อมเกราะหนังหนาเพื่อป้องกันตัว หลายคนเข้าใจผิดคิอว่ามันเป็นญาติของตัวนิ่มที่พบในบ้านเรา แต่ความจริงแล้วสัตว์ทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

“ฟูเลโก” เป็นสัญลักษณ์สร้างสีสรรให้กับฟุตบอลโลกปี 2014 ผู้ออกแบบระบุว่า ฟูเลโก คือ ตัวมาดิลโล 3 แถบ (tree-banded armadillo) สัตว์พื้นเมืองใกล้สูญพันธุ์ของประเทศบราซิล เมื่อพวกมันม้วนตัวจะมีลักษณะกลมดิกเหมือนลูกฟุตบอลที่มีเกราะแข็งลายตารางหุ้ม แม้อมาดิลโลตัวจริง0tมีเกราะแข็งสีน้ำตาลอ่อน แต่ฟูเลโกถูกออกแบบให้หัวสีฟ้าแทนแม่น้ำ ท้องทะเล และผืนฟ้าที่สดใสของบราซิล ส่วนลำตัวสีเหลืองสดแทนความเป็นมิตรและพลังเต็มเปี่ยมของชาวแซมบ้าผู้มีฟุตบอลอยู่ในสายเลือด

ชื่อของฟูเลโก้มีความหมายดี เพราะเป็นภาษาโปรตุเกสที่ผสมระหว่างคำว่า Ful มาจาก Futebol หรือ ฟุตบอล และ eco มาจาก Ecologia หรือระบบนิเวศ ชื่อนี้ชนะคะแนนโหวตจากชาวบราซิล เพราะเชื่อว่าฟุตบอลโลกปี 2014 จะเป็นต้นแบบ ของกิจกรรมระดับโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตัวอมาดิลโลเองก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความห่วงใยสัตว์ลักษณะพิเศษซึ่งใกล้สูญพันธุ์การรบกวนของมนุษย์

นายปรี๊ดพบว่าสื่อไทยจำนวนมากเรียกฟูเลโก้ว่า “ตัวนิ่ม” แม้รูปลักษณ์ภายนอกของ อมาดิลโลและตัวนิ่มจะดูคล้ายๆ กัน แต่พวกมันไม่ได้เป็นญาติใกล้ชิดกันเลย เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่แยกกันไกลคนละแผ่นทวีป จนมักถูกยกเป็นตัวอย่างของการวิวัฒนาการแบบเบนเข้า (Convergent evolution) ซึ่งหมายถึงลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่าง หน้าที่หรือพฤติกรรมที่เหมือนกัน แต่ไม่ได้มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมหรือมีสายวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษเดียวกัน

แม้ว่าสัตว์ที่แปลงตัวเป็นลูกบอลจำแลงได้แบบอมาดิลโล (Armadillo) และตัวนิ่ม (Pangolin) มีรูปลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมการขุดเจาะจอมปลวกทลายรังมด เพื่อเป็นอาหารเหมือนกัน แต่สัตว์ทั้งสองชนิดถูกจำแนกให้อยู่คนละตระกูล เพราะมีโครงสร้างร่างกายและแหล่งกำเนิดที่แตกต่างห่างไกลกันมาก จุดที่แตกต่างชัดเจนมี 4 ประการคือ ถิ่นกำเนิด ลักษณะฟัน ลักษณะเกราะหุ้มร่างกาย และพฤติกรรมการกินอยู่
อมาดิลโล เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะการม้วนเก็บอวัยวะจนเป็นทรงกลมอย่างมิดชิด รถยนต์ไฟฟ้า ชื่อ Armadillo-T สัญชาติเกาหลีจาก Korea Advanced Institute of Science and Technology ออกแบบให้พับเก็บตัวเองได้จากความยาวสามเมตรเหลือเพียงเมตรครึ่ง ประหยัดทั้งพลังงานและสถานที่จอด
อมาดิลโล (Armadillo) พบเฉพาะในดินแดนโลกใหม่ คือ ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มันถูกจัดให้อยู่สัตว์ในตระกูลเดียวกับตัวกินมด และตัวสลอท ในตระกูล คือ Order Xenarthra ซึ่งแปลว่า “มีข้อต่อกระดูกสันหลังแบบพิเศษ” อมาดิลโลมีทั้งหมดราว 20 ชนิด เอกลักษณ์ของพวกมัน คือ ผิวหนังชั้นนอกด้านหลัง พัฒนาเป็นชั้นหนาแข็งและเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลัง เรียกว่า คาราเพส (carapaces) คล้ายโครงสร้างของกระดองเต่า เกราะหนังของอมาดิลโลเชื่อมต่อเป็นแถบหลายแถบหุ้มรอบตัว เมื่อม้วนตัวแถบทั้งหมดจะซ้อนทับกันพอดีเพื่อป้องกันส่วนท้องที่มีเพียงขนแข็งๆ และท้องนุ่มนิ่ม แถมยังมีช่องว่างเพื่อหดหัวและหางเข้าล็อคได้แบบเป๊ะๆ พวกมันมีฟันซี่เล็กๆ พร้อมกรงเล็บแหลมคมเพื่อขุดอุโมงค์ หาอาหาร คือ มด ปลวก แมลง ตัวด้วง ไส้เดือนที่อยู่ใต้ดิน พวกมันออกหากินเวลากลางคืนและขุดโพรงนอนในเวลากลางวัน

อมาดิลโลถือเป็นสัตว์ที่มีลักษณะโบราณมากที่สุดตระกูลหนึ่ง ญาติของมันในยุคไมโอซีน คือ แกลปโตดอน (Glyptodon) เป็นอมาดิลโลยักษ์ที่สูญพันธุ์เมื่อปลายยุคน้ำแข็ง เช่นเดียวกับสัตว์แปลกประหลาดอีกหลายชนิดที่ทนความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกไม่ไหว ซากของมันถูกขุดพบในประเทศชิลีและปานามา มีรูปร่างป้อมกลมและขนาดตัวเท่ารถเต่าโฟล์คสวาเกน มีเกราะหนังหนาหุ้มตัว หางอวบอ้วน และมีเล็บแหลมคมใช้ขุดดิน นักบรรพชีวินเชื่อว่ามันใช้ชีวิตแบบกับญาติๆ ของมันที่เราพบในปัจจุบัน

ส่วนตัวนิ่ม หรือลิ่น (Pangolin) พบได้ในแค่ดินแดนโลกเก่า คือ ทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น ด้วยความพิเศษของตัวนิ่มจึงถูกจำแนกให้อยู่ในตระกูลเฉพาะตัว คือ Order Pholidota มีสมาชิกทั้งหมดเพียง 8 ชนิดเท่านั้น จากการศึกษาทางพันธุศาสตร์พบว่า ตัวนิ่มไม่มีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับอมาดิลโล ไม่เพียงเท่านั้นตัวนิ่มกลับมีลักษณะทางพันธุกรรมและสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับสัตว์กินเนื้อ เช่น แมว หมา มากกว่าด้วยซ้ำไป

ในบ้านเรามีนิ่ม 2 ชนิด คือ นิ่มจีน หรือ Chinese Pangolin (Manis pentadactyla) พบตั้งแต่เนปาลจนถึงภาคใต้ของจีน เกาะไหหลำ ไต้หวัน และตอนเหนือของภูมิภาคอินโดจีน และนิ่มชวา หรือ Malayan Pangolin (Manis javanica) พบใน ภาคกลางและใต้ของไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอร์เนียว และทางตะวันตกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์

ลักษณะพิเศษของตัวนิ่มคือเกล็ดแข็งหนารูปขนมเปียกปูนเป็นสารเคราติน เช่นเดียวกับเขาและเล็บของสัตว์อื่นๆ ที่พัฒนามาจากเส้นขน ข้อสำคัญคือตัวนิ่ม “ไม่มีฟัน” แต่มีลิ้นที่ยาวและยืดหยุ่นสูงมากเพื่อล้วงเข้าไปในรังมดหรือจอมปลวก หลังจากที่ใช้เล็บอันแหลมคมขุดเจาะ นอกจากนั้นพฤติกรรมและวิถีชีวิตของตัวนิ่มก็แตกต่างกับอมาดิลโลอย่างมาก ความสามารถพิเศษของตัวนิ่มคือเป็นนักปีนต้นไม้ มีหางอวบแบนทรงพลังใช้ทรงตัวและเกี่ยวพันกิ่งไม้ พวกมันหากินกลางคืนและส่วนมากมักจะม้วนตัวนอนตามที่รกๆ หรือเกาะพันตัวตามกิ่งไม้สูงเพื่อพักผ่อน
สัตว์หลายชนิดที่มีกลยุทธ์ป้องกันศัตรูด้วยการม้วนตัวเป็นทรงกลม เช่น กระสุนพระอินทร์ หรือกิ้งกือกระสุน ที่ม้วนตัวเป็นลูกบอลกลมดิก และกิ้งก่าอมาดิลโล่ซึ่งพบในแอฟริกา พวกมันใช้วิธีงับหางตัวเองไว้ด้วยปากเพื่อหันหนามแข็งที่หัว หลัง และหางออก ประกาศความน่ากลัวให้ศัตรูไม่อยากยุ่งด้วย
แม้สัตว์ทั้งสองชนิดจะมีเกราะแข้งหุ้มตัว แต่ก็ป้องกันตัวได้จากศัตรูตามธรรมชาติเท่านั้น เพราะสิ่งที่ทั้งอมาดิลโลและตัวนิ่มต้องเผชิญและทำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คือ “การล่าและถูกทำลายแหล่งอาศัย” คนพื้นเมืองชาวอเมริกาใต้ล่าอมาดิลโลเป็นอาหาร ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรด้วยอัตราเร็วเกือบสูงที่สุดในโลก และลักษณะเด่นน่าสนใจของพวกมันกลับเป็นภัยเพราะเป็นที่สนใจของนักสะสมและตลาดสัตว์เลี้ยงพิเศษ

ตัวนิ่มในธรรมชาติต้องหนีตายกันทุกนาทีเช่นกัน เนื่องจากร่างกายของมันเปลี่ยนเป็นเงินได้ทุกส่วน ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนส่งออกตัวนิ่มในรูปของเกล็ดและหนังมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเฉพาะเกล็ดของมันเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา ทั้งๆ ที่มีโครงสร้างไม่ต่างกับเล็บของคน นอกจากนั้นทั้งเนื้อ หนัง เลือด กระดูกและเครื่องในล้วนมีราคา ทำให้ตัวนิ่มหนึ่งตัวมีค่าตัวสูงหลายหมื่นบาทเมื่อเดินทางไปถึงปลายทาง เช่น จีนและเวียดนาม เป็นต้น

เรื่องเศร้าที่สุด คือ ตัวนิ่มเพาะเลี้ยงได้ยากมาก เพราtมันกินอาหารที่จำเพาะ และตื่นตกใจง่าย ในโลกนี้มีสวนสัตว์เพียงไม่กี่แห่งที่สามารถเลี้ยงตัวนิ่มให้รอดในกรงเลี้ยงได้ด้วยอาหารเหลวที่คิดค้นขึ้นมาเป็นพิเศษ

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงและคนเรายังถือประโยชน์ตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ว่าอมาดิลโลหรือตัวนิ่มจะมีเกราะหนาขนาดไหน มีดแหลมและความต้องการเงินของคนก็เจาะทะลุถึงหัวใจของพวกมันได้ง่ายดาย ฟูเลโก้จึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือนเราว่า ฟุตบอลโลกเป็นเทศกาลที่เราต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ต้องสร้างสนาม สาธรณูปโภค ผู้คนเดินทางมาดื่มกิน และใช้ไฟฟ้าเพื่อรับชมกีฬา แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างที่เราใช้มีผลกับธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม

การลดใช้พลังงาน และเลิกพฤติกรรมที่ทำลายธรรมชาติ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด และตรงกับความหมายของชื่อ “ฟูเลโก้” ที่หมายถึง “ฟุตบอลรักษ์โลก”

เกี่ยวกับผู้เขียน

“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว

ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์








****************************



****************************
กำลังโหลดความคิดเห็น