เคยเพาะถั่วเขียวส่งคุณครูในวิชาวิทยาศาสตร์ไหม? จำได้ไหมว่าได้ความรู้อะไรจากถั่วเขียวบ้าง? การเพาะถั่วเขียวอาจจะน่าเบื่อ เพราะขาดการเชื่อมโยงความรู้อื่นมาเติมเต็ม แต่ถ้าลองมองการเพาะถั่วเขียวในมุมใหม่ๆ เราอาจได้อะไรมากกว่าเคยคิด
วันก่อนรุ่นพี่ส่งข้อความมาหานายปรี๊ดว่า “พี่อยากให้ลูกฝึกปลูกต้นไม้ ปลูกอะไรที่ง่ายๆ เร็วๆ แล้วเราจะสอนอะไรเด็กได้บ้าง แนะนำพี่หน่อยนะจ๊ะ” นายปรี๊ดตอบกลับแบบฟันธงว่า “ถ้างั้น...พี่ให้หลานปลูกถั่วเขียวเถอะครับ” ปลายทางถึงกับร้องโอ้ย “เอาจริงสิ...ปลูกถั่วเขียวอีกแล้วเหรอ? ที่โรงเรียนก็เคยทำแล้ว ไม่เห็นจะได้อะไรเลย”
นายปรี๊ดไม่รู้ที่มาของกิจกรรม “ปลูกถั่วเขียว” ในหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ว่าเริ่มต้นมาจากไหน แต่ทุกช่วงชั้นที่เรียนหัวข้อเกี่ยวกับพืชคุณครูก็มักจะสั่งให้นักเรียนปลูก พวกเราปลูกถั่วเขียวกันมาหลายสิบปี ปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ จนลูกโตก็ยังปลูกกันมาเรื่อยๆ ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยที่หลายคนอาจไม่เคยมีคำถามว่า “ปลูกไปทำไม?” “ปลูกไปเพื่ออะไร?” “ปลูกเสร็จแล้วยังไงต่อ?”
นักเรียนไทยอาจต้องปลูกถั่วถึง 3 ครั้ง ตามกิจกรรมที่แนะนำในหลักสูตรปัจจุบัน ครั้งแรกช่วงประถมปลาย ครั้งต่อมาคือช่วงม.ต้น และถ้าเรียนสายวิทย์จะไปปลูกกันอีกทีช่วงม.ปลาย การปลูกถั่วทั้ง 3 ครั้ง ทำเพื่อเรียนรู้การจำแนกพืชใบเลี้ยงคู่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยว ส่วนประกอบของต้นอ่อน การเติบโตของพืช และการคำนวนเปอร์เซนต์การงอก ซึ่งเป็นการเรียนหัวข้อเดิมซ้ำๆ แต่มีรายละเอียดให้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็จำกัดและถูกแยกส่วนแค่ในกรอบของวิชาวิทยาศาสตร์ และชีววิทยา
พวกเราจะออกจากวัฏจักรการปลูกถั่วเขียวแสนซ้ำซากนี้ไปได้ยังไง? นายปรี๊ดไม่ได้ต่อต้านการปลูกถั่วเขียว ข้อดีของการปลูกถั่วเขียวมีมาก ถั่วเขียวคือร่างแรกของถั่วงอกอันแสนคุ้นเคย เมล็ดถั่วเขียวหาง่ายตามท้องตลาด ที่สำคัญที่สุดถั่วเขียวงอกเร็วไม่ต้องรอนาน ใช้เวลา 5-6 วัน ก็โตเป็นต้นถั่วให้ศึกษาส่วนประกอบอย่างชัดเจน ดังนั้น “ถั่วเขียว” ไม่มีความผิด แต่เราอาจจะต้องมองสื่อการสอนดีๆ ชิ้นนี้ในมุมมองใหม่ๆ บ้าง
ก่อนเขียนเรื่องนี้นายปรี๊ดลงมือเพาะถั่วเขียว แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นถั่วเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ และแล้วก็ค้นพบว่ายังมีการทดลองอีกมากมายที่สามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาในหนังสือเรียน ซึ่งคุณครูหรือผู้ปกครองอาจจะลองนำไปปรับใช้เพื่อสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีเขียนไว้ในกิจกรรมท้ายบทของรายวิชาต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้การเพาะถั่วเขียว
“คลอโรฟิลล์กับเมล็ดถั่วเขียว” นายปรี๊ดสังเกตว่าใบอ่อนของถั่วเขียว เริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเพาะได้ 2-3 วัน และคิดว่าคงมาจากกระบวนการสร้าง คลอโรฟิลล์แน่ๆ เราท่องจำโครงสร้าง การทำงาน วัฏจักรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงตามตำรากันเป็นปึกๆ แต่มีใครสักกี่คนที่สนใจว่าคลอโรฟิลล์ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการดึงอาหารที่สะสมไว้ในใบเลี้ยงตั้งแต่เมื่อไหร่? สร้างอย่างไร? ปริมาณคลอโรฟิลล์ในแต่ละวันของการงอกมีอัตราการเพิ่มไหม? มีปัจจัยใดเกี่ยวข้องบ้าง? ถ้าพืชสร้างคลอโรฟิลล์ไม่ได้จะงอกงามเติบโตเป็นปกติได้ไหม? การเรียนรู้ชีววิทยาผ่านเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
“ฟิสิกส์กับการงอก” ฮอร์โมนและแรงโน้มถ่วง บังคับให้รากของพืชงอกลงหาศูนย์กลางโลก และปลายยอดอ่อนพุ่งขึ้นหาแสงเสมอ จะเกิดอะไรขึ้นหากถั่วงอกถูกหลอกให้งอกในวงล้อที่หมุนจนมีแรงสู่ศูนย์กลางเพิ่มขึ้นมาอีกทิศทางหนึ่ง? หรือถ้าต้องงอกในสภาวะไร้น้ำหนัก รากของพืชจะเติบโตไปในทิศทางไหน? คำถามเพื่อเรียนรู้ฟิสิกส์ผ่านเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
“เคมีกับเมล็ดถั่วเขียว” ในวิชาเคมี มีการทดสอบสารอาหารต่างๆ เช่น การทดสอบ แป้ง น้ำตาล โปรตีน และไขมัน ด้วยสารเคมีจำเพาะชนิด แต่การทดสอบแป้งด้วยทิงเจอร์ ไอโอดีนนั้นทำได้ง่ายและชัดเจนที่สุด เพราะเมื่อหยดสารละลายลงบนแป้ง ก็จะเปลี่ยนจากของเหลวสีน้ำตาลเป็นสีม่วงดำ เรื่องน่าสนใจก็คือ พืชเก็บอาหารในเมล็ดไว้ในรูปแป้งเพื่อเป็นพลังงานให้ต้นอ่อน แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อนำทิงเจอร์ไอโอดีนมาหยดบนส่วนต่างๆ ของของเมล็ดที่กำลังงอก แป้งที่สะสมในเมล็ดถูกนำไปใช้จริงๆ หรือไม่? มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร? การทดสอบทางเคมีกับเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
“คณิตศาสตร์กับปริมาตรถั่วเขียว” มีใครรู้บ้างว่าถั่วเขียว 1 เมล็ดมีปริมาตรเท่าไหร่? เราต้องใช้สูตรคณิตศาสตร์อะไรเพื่อคำนวนปริมาตรของเมล็ดถั่วเขียว 1เมล็ด? ถ้ามีกระป๋อง กล่อง หรือซอง ซึ่งมีรูปทรงและขนาดต่างๆ กัน เราจะคำนวนปริมาตรของบรรจุภัณฑ์พวกนั้นอย่างไร? แล้วจะนำถั่วเขียใส่วลงไปได้กี่เมล็ด? การเรียนรู้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันผ่านเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
“วิศกรน้อยพลังถั่วงอก” เกือบทุกชุมชนมีแหล่งเพาะถั่วงอกด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างกันไป หลายชุมชนมีนวัตกรรมและเครื่องเพาะถั่วงอกในระดับอุตสาหกรรมตามบริบทของทรัพยากร เด็กหลายคนที่เริ่มต้นสร้างสิ่งประดิษฐ์และวิศกรรม หลังจากได้เห็นวิธีเพาะถั่วงอกในระดับอุตสาหกรรม เช่น เครื่องเพาะถั่วอแบบกังหันน้ำที่เด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งออกแบบให้เหมาะสมกับชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ การเรียนรู้เพื่ออกกแบบทางวิศกรรมผ่านเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
“วุ้นเส้นจากถั่วเขียว” ในปัจจุบันคนสนใจอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น วุ้นเส้นถั่วเขียวเป็นอาหารที่คนส่วนมากเชื่อว่ากินแล้วไม่อ้วน ทั้งๆ ที่ขั้นตอนการทำวุ้นเส้นมีการปั่นแยกโปรตีนออกไป แล้วนำแป้งที่เหลือมาทำวุ้นเส้น แล้วทำไมคนทั่วไปจึงเข้าใจว่าวุ้นเส้นให้พลังงานน้อยกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยว? คำถามนี้สามารถเชื่อมโยงความสนใจในห้องเรียนได้ด้วยการเทียบปริมาณแป้งระหว่างถั่วเขียวไม่แปรรูป เส้นก๋วยเตี๋ยว และวุ้นเส้น หรือการคำนวนพลังงานในอาหาร และเป็นประเด็นใกล้ตัวเป้นประโยชนืกับหนุ่มสาววัยรักสวยรักงาม การเรียนรู้โภชนาการผ่านเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ก็ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
“ภาษาอังกฤษจากเมล็ดถั่วเขียว” กว่าที่จะเพาะให้ถั่วเขียวงอก เราต้องใช้วัสดุอุปกรณ์หลายอย่าง ยิ่งถ้ามีการทดลองปัจจัยต่างๆ ก็มีองคืประกอบที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก แม้แต่ชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกส่วนต่างๆ ของพืชที่กำลังงอกก็สามารถเรียนรู้คำศัพท์ได้มากมายทั้งคำศัพท์ทั่วไป และคำศัพท์วิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเมล็ดถั่วเขียวแบบนี้ “ไม่มีในหนังสือเรียน”
ที่นายปรี๊ดยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่คิดคุณครู หรือผู้ปกครองสามารถใช้สร้างกิจกรรมง่ายๆ ที่เชื่อมโยงกับบทเรียนและความสนใจของเด็กๆ ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ถั่วเขียวได้แสดงบทบาทอื่นๆ นอกห้องเรียนชีววิทยาบ้าง หากมีโอกาสก็ลองนำไปปรับใช้กันได้ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์