คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ปรากฏการณ์ที่ประชาชนทุกหมู่เหล่า และทุกเพศทุกวัยได้ลุกขึ้นมาคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดคนโกงอย่างกว้างขวางในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญมากในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของประเทศเรา นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวสังคมได้ออกมาอธิบายกันมากแล้ว
ผมในฐานะนักวิทยาศาสตร์จะขอเสนอคำอธิบายบ้างนะครับ โดยหยิบเอาทฤษฎีฟิสิกส์เบื้องต้นมาอธิบาย คือ ทฤษฎีเกี่ยวกับ โมเมนต์ความเฉื่อย (Moment of Inertia) ที่ผมคิดว่ามีปัญหาในคำแปลภาษาไทย กล่าวคือ เมื่อแปลแล้วทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่แท้จริง จนถึงขั้นผมมีประเด็นที่จะกล่าวถึงรวมทั้งเสริมบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน ดังนี้
หนึ่ง เรื่องคนส่วนน้อยเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลง
สถานการณ์บ้านเมืองไทยในขณะนี้มีความคล้ายคลึงกันมากกับเหตุการณ์บนเรือสปีดโบต หรือเรือความเร็วสูงซึ่งผมโดยสารเมื่อไม่นานมานี้
ในเรือลำนั้นมีผู้โดยสารประมาณ 20 คน แต่ละคนกระจายกันนั่งบนที่นั่งแถวนั่งยาวๆ ตามลำเรือ แต่เมื่อมีผู้โดยสารเพียง 2 คนเท่านั้นเปลี่ยนที่นั่งเพื่อไปชมวิวอีกฝั่งหนึ่ง คนขับเรือจึงรีบตะโกนขอให้กลับไปนั่งที่เดิมในทันที เพราะว่าเรือมันเอียงซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ปกติแล้ว ผมก็อธิบายในหมู่เพื่อนร่วมเดินทางทันทีเช่นกันว่า
“นี่ไง ปรากฏการณ์ที่คนส่วนน้อยเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง”
เรือสปีดโบต เมื่อมันแล่นด้วยความเร็วสูง ท้องเรือจะสัมผัสน้ำทะเลเพียงนิดเดียว ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กๆ น้อยๆ ทั้งจากภายใน (คน 2 คนเปลี่ยนข้าง) หรือจากภายนอกด้วยคลื่นจากเรือลำอื่นหรืออื่นๆ โอกาสที่จะพลิกคว่ำ หรือ “พลิกผัน” จึงเป็นไปได้สูงมาก ในขณะที่เมื่อวานนี้ เหตุการณ์เดียวกันในเรือหัวโทง (เรือประมงพื้นบ้านฝั่งอันดามัน) ไม่เป็นอย่างเรือสปีดโบตครับ
ในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ชื่อ “ประเทศไทยได้มาถึงจุด “พลิกผัน” ที่สำคัญแล้ว!” ผมได้นำเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์นั้นมีหลัก 3 ประการ คือ หนึ่ง เริ่มต้นจากคนส่วนน้อยที่มีการจัดตั้งของคน 3 กลุ่ม คือ ผู้ประสานงาน นักวิชาการ และนักการตลาด สอง ความหนักแน่นของประเด็นและ สาม ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางสังคม
สอง เรื่องโมเมนต์ความเฉื่อย (Moment of Inertia)
ย้อนหลังไปไม่นานมานี้ เรามักจะได้ยินคำว่า “ไทยเฉย” จากเวทีชุมนุมทางการเมืองกันอยู่บ่อยๆ เพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนน้อย มีแต่คนแก่ หาคนหนุ่มคนสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบันการศึกษาแทบไม่ค่อยได้
ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะผ่านร่างดังกล่าวในลักษณะที่เรียกกันว่า “ลักหลับ” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 อาการของคนไทยก็ยังคงเป็นไทยเฉยอยู่ ตรงนี้แหละครับที่เกี่ยวกับทฤษฎีเรื่องโมเมนต์ความเฉื่อย ซึ่งผมจะขออธิบายด้วยการทดลองดังนี้
นำไข่ไก่ 2 ฟอง ฟองหนึ่งเป็นไข่ดิบ อีกฟองหนึ่งเป็นไข่ต้ม มาวางบนโต๊ะที่มีความลื่นพอสมควร เริ่มต้นให้ไข่หยุดนิ่ง จากนั้นลองเอาปลายนิ้วแหย่เบาๆ ไข่แต่ละใบในทิศทางที่ขนานกับพื้นโต๊ะ
เราจะพบว่า ถ้าเป็นไข่ดิบ เมื่อเราแหย่เบามากๆ ไข่จะไม่ขยับ แต่เมื่อเพิ่มแรงแหย่ขึ้นมาอีกนิด (แต่อย่าให้แรงมากนะ) ไข่จะขยับเล็กน้อย แต่จะขยับกลับมาอยู่ที่เดิม ในขณะที่ไข่สุกจะไม่กลับมาที่เดิม
การทดลองดังกล่าวอาจจะยังจำแนกความแตกต่างไม่ชัดเจนนัก คราวนี้ลองใหม่ ลองจับไข่มาหมุน (เบาๆ ทีละใบ) เมื่อหมุนแล้วใช้ฝ่ามือแต่ไข่ให้หยุด จากนั้นก็ยกมือออกในทันที เราจะพบความแตกต่างอย่างชัดเจน
ถ้าเป็นไข่ดิบ เมื่อเราเอามือออกแล้ว (หลังจากหมุนแล้วนะ) ไข่ดิบจะหมุนต่อไป ในขณะที่ไข่ต้มสุกแล้วจะหยุดอยู่กับที่ครับ ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องของโมเมนต์ความเฉื่อยครับ
ในตอนเริ่มต้นที่เราเอามือแหย่ไข่ ไข่ดิบจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คือ มันเฉื่อยที่จะเคลื่อนที่ เราต้องออกแรงเยอะๆ มันจึงจะเคลื่อน แต่เมื่อมันเคลื่อนที่แล้ว เมื่อเราสั่งให้หยุด (หลังจากยกฝ่ามือออก) มันจะไม่ยอมหยุด หรือขี้เกียจจะหยุด จึงขอเคลื่อนที่ต่อไป ในขณะที่ไข่สุกจะหยุดเลย
ดังที่ผมกล่าวตั้งแต่ต้นว่า คำว่า “โมเมนต์ความเฉื่อย” เราแปลผิดจึงทำให้เข้าใจผิด เพราะคำว่าเฉื่อยเรามักจะเข้าใจว่าเฉยๆ เย็นชา ไม่ทุกข์ไม่ร้อน หรือไม่ขยับ
ความจริงแล้ว คำว่า inertia มาจากภาษาละติน แปลว่า “ขี้เกียจ” ซึ่งมีความหมายสองด้าน คือ ถ้าหยุดอยู่ก็ขี้เกียจจะเคลื่อนที่ แต่ถ้าเคลื่อนที่อยู่แล้วก็ขี้เกียจจะหยุด
ครั้นเรามาแปลเป็น “เฉื่อย” จึงทำให้เข้าใจผิด เพราะในสภาวะที่กำลังเคลื่อนที่อยู่แล้ว มันขี้เกียจจะหยุด นั่นก็คือ ขยันนั่นเอง
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในขณะนี้
ก็เพราะตอนแรก ประชาชนมีความเฉื่อย ขี้เกียจจะเคลื่อนที่ แต่เมื่อเจอรัฐบาล “ลักหลับ” ตลอดจนเจอเล่ห์กลที่รัฐบาลที่ใช้วุฒิสภาเป็นเครื่องมือพยายามหยุดการเคลื่อนไหว ประชาชนที่ตื่นแล้วก็ไม่ยอมหยุด เหมือนกับไข่ดิบที่ถูกกดให้หยุดไปชั่วขณะ ฉันใดก็ฉันนั้น
สาม ปรากฏการณ์เพาะถั่วงอก
คนที่เคยเพาะถั่วงอกจะทราบดีว่า หลังจากนำเม็ดถั่วไปแช่น้ำแล้ว ในช่วง 3-4 ชั่วโมงแรกแทบจะไม่เห็นผลอะไรเลย บางครั้งแม้วันแรกผ่านไปก็ไม่เห็น “หน่ออ่อน” แต่เมื่อวันที่ 2 วันที่ 3 ผ่านไป เมื่อหน่อโผล่แล้ว คราวนี้แหละมันจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
สังคมก็เช่นเดียวกันครับ ในช่วงฟักตัวเราแทบจะไม่เห็นดอกผลอะไรเลย แต่เมื่อเลยค่าหนึ่งซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Threshold Value หรือค่าที่น้อยที่สุดที่จะได้รับการตอบสนอง ผลของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันที
ผมวาดภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวมาให้ดูด้วยครับ
สรุป สิ่งที่สังคมนี้ต้องคิดให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิชาการ องค์กรของประชาชน รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่าจะใช้ประโยชน์จากการตื่นตัว และห่วงใยบ้านเมืองในขณะนี้ได้อย่างไร และทำอย่างไรอย่าให้มันฟุบลงมาอีก พร้อมๆ กับขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบรวมถึงเรื่องพลังงานที่ผมสนใจเป็นพิเศษมายาวนาน