xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโรงเลี้ยงแมลงวันผลไม้ต้อนรับนักวิชาการเกษตรทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สทน.เปิดโรงเลี้ยงแมลงวันผลไม้ต้อนรับนักวิชาการเกษตรทั่วโลก ยืนยันเทคโนโลยีการทำหมันแมลงของ สทน. ได้ผลดี ขึ้นแท่น 1 ใน 3 งานจัดการแมลงของเอเซีย

จากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับนานาชาติ “การประชุมวิชาการนานาชาติแมลงวันผลไม้เศรษฐกิจ ครั้ง 9” (International Symposium on Fruit Flies of Economic Importance :ISFFEI) 2014 เพื่อหารือ การแก้ไขปัญหาของแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกระดับโลก โดยกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปในประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ทั้งในแถบยุโรป อเมริกา และในเอเชีย ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

วัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีทั้งจากภายในและต่างประเทศ สร้างเครือข่ายและเปลี่ยนความร่วมมือทางการวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยและต่างประเทศ และในระดับองค์กรของชาติ โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพด้วยการแสดงบทบาทหลักในการกำหนดหัวข้อและแนวคิดการประชุม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่จะสื่อถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของไทยในการบริหารจัดการแมลงวันผลไม้ อันจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือในด้านการควบคุมแมลงวันผลไม้ในระดับมาตรฐานนานาชาติ

ทั้งนี้ เกษตรกรไทยมีปัญหาผลผลิตถูกทำลายจากแมลงวันผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะเฟือง มะม่วง มะไฟ มะปราง มะละกอ กล้วย กระท้อน เงาะ ลองกอง พุทรานมสด ทุเรียน มังคุด ลำไย เป็นต้น ทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือขายไม่ได้ราคา

การจัดการแมลงวันผลไม้ที่ง่ายที่สุด คือ การใช้ยาฆ่าแมลง แต่นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับต้นตอของปัญหาได้แล้ว ยังทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในผลผลิต และอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกับเกษตรกรด้วย

ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ทำหมันแมลงเพื่อให้เป็นหมัน แล้วนำแมลงเหล่านั้นปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อลดอัตราการขยายพันธุ์ในธรรมชาติของแมลงวันผลไม้

​ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า สทน.เป็นหน่วยงานวิจัยที่ทำงานด้านนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ได้ทำโครงการทำหมันแมลงวันผลไม้ ด้วยการฉายรังสีแกมมา มากว่า 20 ปี แล้ว ถึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยังเป็นโครงการต่อเนื่อง เพราะได้ผลตอบรับที่ชัดเจน โดยมีการให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการกำจัดแมลงวันผลไม้ที่คอยรบกวนพืชสวนทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยได้ให้บริการในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดนครนายก แพร่ จันทบุรี ระยอง ตราด นั้น เกษตรกรให้ความสนใจและมีความต้องการใช้บริการมากขึ้นทุกปี

​"จากการทำงานวิจัยในจุดเริ่มต้น ซึ่งได้ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับองค์กรท้องถิ่น และระดับกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงทำให้โครงการทำหมันแมลงวันผลไม้ของไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งจัดการประชุมนานาชาติด้านแมลงวันผลไม้เศรษฐกิจ จึงนำนักวิชาการเกษตรจากนานาประเทศเข้าชม ศูนย์เพาะเลี้ยงแมลงวันผลไม้ของ สทน. ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์แมลงวันผลไม้หลังขาวที่หายากในธรรมชาติ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการผสมพันธุ์" ดร.สมพรกล่าว

ประเทศที่เข้าชม ศูนย์เพาะเลี้ยงแมลงวันผลไม้ของ สทน. ได้แก่ เม็กซิโก สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แอฟริกาใต้ เคนยา ออสเตรีย นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องแมลงวันผลไม้เช่นกัน และให้ความสำคัญกับการจัดการอย่างเป็นระบบ และเป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ เพราะแมลงวันผลไม้นั้น เป็นปัญหาระดับต้นๆ ที่มีการทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้าให้ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

​ดร.สมพร กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยนั้น โครงการทำหมันแมลงวันผลไม้ ด้วยการฉายรังสีแกมมานี้ เป็นโครงการติดอันดับ 1 ใน 3 ในภูมิภาคเอเชีย และได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จากการลงพื้นที่ในการจัดการแมลงวันผลไม้ ผลดำเนินการของโครงการสามารถลดอัตราแมลงวันผลไม้ได้เกือบเป็นศูนย์ และเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้กว่า 80% ของรายได้เดิมก่อนดำเนินการจัดการ แนวทางการจัดการแมลงวันผลไม้โดยใช้แมลงที่เป็นหมัน จึงได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซียนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น