นักวิชาการเผยผลประเมินเบื้องต้น หากแผ่นดินไหวใหญ่จะทำให้ตึกสูงใน กทม. ถล่มกว่า 10 ตึก ระบุแจ้งเตือนมาตลอด รวมถึงกรณีที่ภาคเหนือ ซึ่งพบความเสียหายตามที่คาดไว้
รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากสถาบันเทคโนโลยีเอเชีย เผยว่า จากการประเมินพบว่า หากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดที่ในรอบ 2,500 ปี เกิดสักครั้งจะมีตึกสูง 20-40 ชั้นในกรุงเทพฯ ถล่ม 4-17 ตึก ทั้งนี้เป็นผลจากการประเมินตึกสูงประมาณ 200 ตึก และทำแบบจำลองตึกสูงกว่า 100 ตึก เพื่อทดสอบแผ่นดินไหวกว่า 100 รูปแบบ โดยกรุงเทพฯ มีตึกสูงประมาณ 1,400 ตึก
“เมื่อประเมินแผ่นดินไหวที่มีความแรงระดับ 500 ปีมาครั้ง จะมีอาคารสูงสุด 9 ตึก แต่แผ่นดินไหวทุกๆ 50 ปี ไม่มีอาคารพัง โดยแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์เป็นแผ่นดินไหวที่มาทุก 50 ปี ส่วน 7 ริกเตอร์มาทุก 200-300 ปี และแผ่นดินไหวที่เกิด 500 ปีขึ้นไป คือ แผ่นดินไหวตรงรอยเลื่อนในอันดามัน รอยเลื่อนสะแกงที่มีโอกาสเกิดถึง 8 ริกเตอร์ และรอยเลื่อนที่กาญจนบุรีที่มีโอกาสแผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์” รศ.ดร.เป็นหนึ่งให้ข้อมูล
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างแถลงข่าว เรื่อง วิเคราะห์แผ่นดินไหวภาคเหนือและการสร้างมาตรการป้องกัน และตั้งรับในระดับภาพรวมของประเทศ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 57 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่ง รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. และคณะได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อ 5 พ.ค. 57 ที่ผ่านมา
ผลจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทีมวิจัยพบโครงสร้างอาคารสาธารณะและบ้านเรือนหลายแห่งเสียหาย โดยพบความเสียหายใน อ.แม่ลาว มากที่สุด และพบว่าอาคารที่ต่ำกว่า 15 เมตร ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกฎกระทรวง และไม่ได้ออกแบบโดยวิศวกรมีความเสียหายจำนวนมาก บางส่วนถล่มตามหลังเหตุแผ่นดินไหว เนื่องจากโครงสร้างเสียหาย
ทางด้าน รศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้วย กล่าวว่า ได้เตือนถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภาคเหนือ ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง และแผ่นดินไหวนี้ยังรู้สึกได้ถึงกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่บนดินอ่อน ซึ่งน่าห่วงว่าหากเกิดแผ่นดินไหวที่แรงกว่านี้และใกล้กว่าจะส่งผลเสียมากกว่านี้ โดยมีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 200-300 กิโลเมตร
ข้อมูลจาก รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ระบุว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นดินอ่อนที่ขยายแรงแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่า และมีการศึกษาพบด้วยว่าพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำปิงใน จ.เชียงใหม่ นั้น ตั้งอยู่บนดินอ่อนที่ขยายแรงแผ่นดินไหวได้มากเช่นกัน ซึ่งพบว่าบริเวณดังกล่าวมีสิ่งก่อสร้างและโรงแรมตั้งอยู่จำนวนมาก
ด้าน รศ.ดร.อมร กล่าวว่า สำหรับอาคารใหม่ที่สร้างขึ้นตามกฎกระทรวงปี 2550 ที่ต้องออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวนั้นไม่น่าห่วงเท่าไร แต่อาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ต้องตรวจสอบและประเมินอาคาร เพื่อเสริมแรงให้รับแผ่นดินไหวได้ ซึ่งแผ่นดินไหวทุกครั้งจะทำลาย “เสา” ซึ่งเป็นส่วนโครงสร้างก่อน
อาคารเก่าสามารถเสริมแรงให้เสาได้หลายวิธี ตามที่ รศ.ดร.อมร แนะนำ เช่น หุ้มด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ แต่เป็นวิธีที่มีราคาแพง มีค่าใช้จ่ายเสาต้นละ 8,000-10,000 บาท หรือใส่เหล็กปลอกรอบเสาแล้วหุ้มด้วยลวดโครงไก่แล้วฉาบปูน ซึ่งเป็นวิธีที่มีราคาถูก มีค่าใช้จ่ายเสาละ 1,000 บาท เป็นต้น
ทางด้าน รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เสริมว่า กฎกระทรวงบังคับการออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหวกับอาคารที่สูงกว่า 15 เมตรขึ้นไป แต่อาคารเตี้ยๆ ก็เสียหายจากแผ่นดินไหวได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยทราบมานานแล้ว และกำลังขอให้มีการแก้ไข
“อาคารที่เสียหายจำนวนมากไม่มีวิศวกรออกแบบ แต่อาคารที่มีวิศวกรออกแบบก็เสียหายเสียหายเหมือนกัน ตรงนี้เราต้องยดระดับมาตรฐานการออกแบบ และมาตรฐานวิศวกรไทย เพราะวิศวกรเราไม่ได้ศึกษาอาคารกันแผ่นดินไหวในระดับปริญญาตรี ดังนั้น ควรให้มีการศึกษาอาคารรับภัยพิบัติในระดับปริญญาตรีด้วย” รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าว รวมทั้งเสริมว่าควรมีมาตรการจูงใจในการเสริมแรงอาคารเพื่อต้านแผ่นดินไหว โดยอาจจะอยู่ในรูปภาษีและอาจเริ่มต้นจากอาคารโรงเรียนและโรงพยาบาลก่อน