สดร. เผยออกแบบกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวแห่งชาติรองรับเหตุแผ่นดินไหว มั่นใจแผ่นดินไหว เมื่อ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไม่กระทบการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ จับมือจุฬาฯ ศึกษาผลกระทบ พร้อมวางแผนการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหว
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “กล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ได้ออกแบบให้รองรับเหตุแผ่นดินไหวตามมาตรฐาน Seismic Survival ของสหรัฐอเมริกา ที่ระดับ UBC (Uniform Building Code) Zone 2 สามารถรองรับการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมามีศูนย์กลาง ณ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากหอดูดาวแห่งชาติค่อนข้างมาก จึงมีผลกระทบค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ บริเวณดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้อยู่ในแนวรอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนในประเทศไทยจึงมีน้อยมาก
“ถึงแม้ว่าเราได้มีการออกแบบกล้องโทรทรรศน์ให้รองรับเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวแล้ว แต่ทาง สดร. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาผลกระทบจากแผ่นดินไหว และประเมินความเสี่ยง เพื่อวางแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากเหตุแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อพื้นที่ อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสรุปผลการศึกษาดังกล่าว” ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติม
หอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตั้งอยู่ ณ สถานีทวนสัญญาทีโอที (กม. 44.4) อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร อาคารหอดูดาว มีลักษณะเป็นอาคารทรงกระบอก ฝังฐานรากลึก 21 เมตร ผนังอาคารเป็นผนังวงแหวน (Ring Wall) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.4 เมตร ส่วนบนติดตั้งโดม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร สูง 5.5 เมตร ความสูงรวมทั้งหมด 19 เมตร