ในช่วงนี้ผมยังคงวนอยู่กับการถ่ายภาพดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เนื่องจากสภาพอากาศในเดือนพฤษภาคม ยังคงมีพายุฤดูร้อนกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากกับการออกไปถ่ายภาพดวงดาว เพราะจะมีเมฆอยู่เต็มท้องฟ้ากันจนเกือบทั้งเดือนเลยทีเดียว หลังจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ผมชวนไปถ่ายภาพดวงอาทิตย์ตกหลังวัดพระธาตุดอยสุเทพ มาคราวนี้ผมก็จะมาชวนกันอีก แต่จะเป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์กับวัตถุบนพื้นโลกที่เป็นฉากหน้าไว้ด้วยกัน โดยจะยังเก็บรายละเอียดของดวงจันทร์ที่จะยังไม่สว่างโอเวอร์ และมีรายละเอียดของฉากหน้าที่ไม่มืดสนิท
สำหรับช่วงที่ผมคิดว่า ดวงจันทร์ช่วงข้างขึ้น 2-3 ค่ำ ทางทิศตะวันตก หรืออาจเป็นดวงจันทร์ช่วงข้างแรม 12-13 ค่ำ ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการถ่ายภาพดวงจันทร์กับวิวทิวทัศน์/สถานที่ที่สามารถถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดของผิวดวงจันทร์ที่ไม่โอเวอร์ และแสงฉากหน้า หรือวิวทิวทัศน์ไม่มืดจนเกินไป แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า ดวงจันทร์ของเรามีอะไรให้น่าสนใจกันบ้างครับ
ดวงจันทร์ของเรามีอะไรมากกว่าที่เราคิด
ดวงจันทร์เป็นบริวารของโลก นอกจากจะหมุนรอบตัวเองแล้ว ขณะเดียวกันก็หมุนรอบแกนตัวเองในเวลาที่เท่ากันด้วย ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ด้านเดียวเมื่อมองจากโลก ถ้าอยากเห็นอีกด้านคงต้องนั่งยานอวกาศไปดูอีกด้านของมัน พื้นผิวบนดวงจันทร์เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต ภูเขา ที่ราบ ร่องเขา ทะเลที่ไม่มีน้ำ และอาจมีน้ำแข็งที่ขั้วของดวงจันทร์ คนไทยเราเห็นพื้นผิวที่หลากหลายเป็นกระต่าย หรือบางคนก็เห็นเป็นกระต่ายตำข้าว
ดวงจันทร์อยู่ห่างจากเราโดยเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร แสงจากดวงจันทร์มาถึงโลกเราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 วินาที และโคจรรอบโลกเรา 1 รอบใช้เวลา 27.3 วัน แต่ที่เราเห็นดวงจันทร์กลับมาอยู่ที่เดิมบนท้องฟ้านั้นจะใช้เวลา 29.5 วัน
เราจะเห็นดวงจันทร์สว่างเป็นเสี้ยวทางขอบฟ้าตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นสูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตก ไปทางทิศตะวันออก พร้อมกับมีเสี้ยวสว่างมากขึ้น พอถึงช่วงวันขึ้น 7-8 ค่ำ ดวงจันทร์จะสว่างครึ่งซีกอยู่ตรงกลางท้องฟ้าพอดี วันต่อมาจะเพิ่มเสี้ยวสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันขึ้น 14-15 ค่ำ ดวงจันทร์จะมาอยู่ตรงเส้น ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก ทำให้ดวงจันทร์เกิดสว่างเต็มดวง (Full moon) หลังจากนั้น ดวงจันทร์ก็จะกลายเป็นข้างแรม โดยดวงจันทร์จะขึ้นช้าไปเรื่อยๆ จนหายไปในท้องฟ้า จะเห็นเดือนดับ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
การที่เราเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยว ก็เพราะว่าดวงจันทร์โคจรรอบโลก ในระนาบเดียวกับที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น ส่วนเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ที่มนุษย์เห็นบนโลกจึงเป็นส่วนของดวงจันทร์ที่ได้รับแสงอาทิตย์ โดยส่วนของดวงจันทร์ที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ก็จะไม่สว่าง คือเป็นเงามืดของดวงจันทร์เอง
ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกจากตะวันตกไปตะวันออก โดยเคลื่อนไปทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวของโลก ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลก 1 รอบในเวลา 27.3 วัน นั่นคือในเวลา 27.3 วัน ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกได้เป็นมุม 360 องศา หรือในเวลา 1 วัน ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกได้เป็นมุม 360/27.3 หรือประมาณ 13 องศา
ดังนั้น เมื่อดูจากโลกจะเห็นดวงจันทร์อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดเดิมวันละประมาณ 13 องศา ซึ่งเทียบเท่ากับเวลาที่โลกหมุนประมาณ 52 นาที ดังนั้น ดวงจันทร์จะขึ้นช้าวันละประมาณ 52 นาที เราจึงเห็นดวงจันทร์มาปรากฏ ณ ตำแหน่งเดิมช้าลงทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันข้างขึ้น หรือข้างแรมก็ตาม เราจะพบว่าดวงจันทร์จะหันด้านสว่างเข้าหาดวงอาทิตย์เสมอ เมื่อสังเกตดวงจันทร์บนโลก จะพบว่าในวันข้างขึ้น ดวงจันทร์ด้านสว่างหันไปทางทิศตะวันตก ดังนั้นเมื่อเราสังเกตดวงจันทร์เราจะสามารถบอกได้ว่าดวงจันทร์วันนี้เป็น ข้างขึ้น หรือข้างแรม
ดวงจันทร์จะกลับมาอยู่ที่เดิมบนท้องฟ้านั้นใช้เวลา 29.5 วัน เนื่องจากว่าระหว่างที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกนั้น โลกเราก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย ทำให้กว่าที่ดวงจันทร์จะกลับมาอยู่ที่เดิมต้องใช้เวลาเกือบเดือน
เทคนิคและวิธีการ
จากภาพตัวอย่างข้างต้นนั้น อาจมีคนสงสัยว่าทำไมผมถึงชวนหลายๆ คนมาถ่ายภาพดวงจันทร์ในช่วงข้างขึ้น 2 ค่ำกัน เหตุผลง่ายๆ คือ “มันสวย”ครับ แต่นอกจากความสวยแล้วนั้น ยังมีเหตุผลอีก 2 ข้อ คือ
1. ถ้าจะถ่ายภาพให้ได้รายละเอียดทั้งแสงจากดวงจันทร์และแสงไฟของวัดพระธาตุที่มีความสว่างใกล้เคียงกัน ดวงจันทร์ไม่ควรสว่างมากเกินไป ซึ่งก็คือช่วงประมาณ 2-3 ค่ำ เพราะไม่อย่างนั้นแสงของดวงจันทร์ตั้งแต่ช่วง 4 ค่ำ จะสว่างกว่าตัวฉากหน้า พอกล้องวัดแสงที่ดวงจันทร์พอดี ฉากหน้าก็จะอันเดอร์ จนกลายเป็นภาพ silhouette ไป (ภาพคงไม่สวยแน่ถ้าเป็นอย่างนั้น)
2. โดยส่วนใหญ่สถานที่ต่างๆ ที่สวยงาม เรามักจะเห็นมีการเปิดไฟในช่วงหัวค่ำ ซึ่งตำแหน่งดวงจันทร์ ช่วง 2 ค่ำ ก็อยู่ในมุมที่ไม่สูงจากขอบฟ้ามากนัก
***จากตัวอย่างภาพถ่ายข้างต้น ผมเลือกถ่ายดวงจันทร์ 2 ค่ำกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ ก็เพราะวัดจะปิดไฟตอนประมาณสองทุ่มครึ่ง และดวงจันทร์ 2 ค่ำ ก็ตกประมาณ 19.45 น. ซึ่งหมายถึงเราจะยังถ่ายวัดพระธาตุตอนเปิดไฟและเห็นรายละเอียดของวัดได้พร้อมกับดวงจันทร์***
การตั้งค่าการถ่ายภาพ
สำหรับการตั้งค่าการถ่ายภาพนั้น ไม่ได้มีสูตรตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าอีกด้วย ซึ่งการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น ก็ต้องบอกว่า ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของเทคนิคอุปกรณ์และประสบการณ์ เอาหล่ะครับเรามาเรียนรู้กับ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เราควรรู้กันก่อนดีกว่าครับ
1. ควรศึกษาเวลา สถานที่ ก่อนการถ่ายภาพก่อนเสมอ เรียกง่ายๆว่าเราต้องรู้กาลเทศะ (เวลา+สถานที่) กันก่อนเพราะหากหาสถานที่ได้แล้วแต่ พอถึงเวลาจะถ่ายภาพเค้ากลับปิดไฟจนสถานที่นั้นมืดไปหมด เราก็อดได้แสงฉากหน้า หรือหากดูมุมขึ้น-ตก ของดวงจันทร์ผิด แล้วคิดว่าจะมาถ่ายใหม่ในอีกวันข้างหน้า แสงดวงจันทร์ก็อาจสว่างกว่าฉากหน้าจนทำให้กลายเป็นภาพ silhouette หากวัดแสงที่ดวงจันทร์ หรือผิวดวงจันทร์อาจสว่างโอเวอร์ หากวัดแสงที่ฉากหน้า >>>ซึ่งนั้นหมายถึงเราจะกลับมาถ่ายใหม่ได้อีกครั้งก็ นับไปอีก 1 เดือนเลยทีเดียว
2. ใช้เทคนิคสูตรการถ่ายดาว 400/600 มาใช้ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าที่เคลื่อนที่เสมอ ...ซึ่งครั้งนี้ผมใช้กล้อง FF กับเลนส์ 1200 mm. ดังนั้นจากสูตร 600 ผมหารได้เวลาที่นานที่สุดที่สามารถถ่ายได้คือ 1/2 วินาที ซึ่งมันก็ใช้ได้จริง....(ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000154287)
3. ทดสอบถ่ายภาพก่อน ซึ่งหลังจากการคำนวณเวลาการถ่ายภาพจากสูตรการถ่ายดาว 400/600 แล้ว ให้ทดสอบถ่ายภาพที่ค่าการเปิดหน้ากล้องดังกล่าว แล้วจึงปรับชดเชยค่าความไวแสงขึ้น จนได้ค่าความสว่างของภาพที่พอดี โดยการทดลองถ่ายภาพของฉากหน้า และดวงจันทร์ไว้ล่วงหน้าเสมอ เพื่อเป็นการตรวจเช็กดูว่าค่าในการถ่ายภาพทั้งดวงจันทร์และฉากหน้าใช้ค่าการถ่ายภาพที่ใกล้เคียงกันหรือไม่
4. ปรับโฟกัสไว้ล่วงหน้า สำหรับการถ่ายภาพลักษณะนี้ ส่วนใหญ่เรามักใช้เลนส์เทเล ที่มีทางยาวโฟกัสสูง ซึ่งฉากหน้าที่เราเลือกก็มักจะเป็นสถานที่ที่อยู่ไกลๆ เพื่อต้องการให้ดวงจันทร์กับฉากหน้ามีการเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เราจึงมักจะเลือกโฟกัสที่ฉากหน้าให้คมชัดไว้ก่อนเสมอ เพราะเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ใกล้กับขอบฟ้าเรามักจะพบกับปัญหามวลอากาศที่หนาแน่น ทำให้การโฟกัสที่ดวงจันทร์ค่อนข้างยากมาก เพราะภาพที่เรามองเห็นจะเป็นภาพที่วูบวาบๆ จะชัดก็ไม่ชัด จะคมก็ไม่คม ดังนั้นเพื่อให้ได้ภาพที่ดี ส่วนตัวผมคิดว่าต้องให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งคมชัดไว้ก่อน ซึ่งหากเลือกเลือกที่จะโฟกัสที่ดวงจันทร์ขณะอยู่ใกล้ขอบฟ้า โอกาสพลาดจะสูงมาก จนอาจทำให้เราได้ภาพที่เบลอทั่วทั้งภาพ
5. ดวงจันทร์มาก่อนเสมอ เราควรคำนึงถึงแสงและรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ไว้ก่อน เพราะพระเอกของเราในภาพก็คือ ดวงจันทร์ หากดวงจันทร์สว่างโอเวอร์จนขาดรายละเอียดของหลุมต่างๆ ภาพที่ได้ก็คงเป็นภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไป ไม่ได้สื่อถึงความเป็นภาพถ่ายดาราศาสตร์ “ซึ่งนั้นไม่ใช้ทางของเรา”
6. RAW File ถ่ายภาพด้วย Raw File เสมอ เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภายในภายหลัง เนื่องจากการ Process ภาพเราอาจจำเป็นต้องปรับดึงรายละเอียดในส่วน Shadow ขึ้นเพื่อให้มีรายละเอียดของฉากหน้ามากขึ้นในภายหลัง เพราะจากประสบการณ์ของผม ในการถ่ายภาพเพื่อให้ได้รายละเอียดครบถ้วนทั้งดวงจันทร์และฉากหน้า ผมจะถ่ายภาพโดยให้เห็นรายละเอียดของผิวดวงจันทร์อยู่ โดยไม่สว่างโอเวอร์จนขาดรายละเอียด เพราะหากนำภาพมาปรับในภายหลังภาพที่สว่างโอเวอร์จะไม่สามารถดึงรายละเอียดกลับมาได้แล้ว
7. คำนวณมุมรับภาพก่อนการวางแผนถ่ายภาพเสมอ เนื่องจากเราต้องการให้ได้ภาพที่เห็นดวงจันทร์ กับฉากหน้า ซึ่งหากเราใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสน้อยๆ ก็จะได้ภาพที่มีดวงจันทร์เล็กๆ แต่หากถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสมากเกินไป มุมรับภาพก็อาจจะเห็นดวงจันทร์ล้นเฟรมภาพได้
โดยเราสามารถคำนวณมุมรับภาพผ่านทางเว็บไซต์ http://www.howardedin.com/articles/fov.html ได้โดยสามารถเลือกกล้องที่ใช้ในการถ่ายภาพ กับทางยาวโฟกัสที่เราจะใช้ ก็จะแสดงค่ามุมรับภาพออกมาเป็นมุมองศา ให้สะดวกต่อการวางแผนถ่ายภาพ
สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ในลักษณะนี้ เราสามารถถ่ายภาพได้บ่อยๆ ตลอดทั้งปี ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าที่เป็นตัวกำหนดให้เราจะสามารถถ่ายภาพได้หรือไม่ ซึ่งหากฟ้าเป็นใจเมื่อไหร่ก็ลองหาโอกาสลองฝึกถ่ายภาพดวงจันทร์ลักษณะนี้กันได้ครับ “เพราะโอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ”
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน