ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อนุมัติแล้วงบประมาณ 80 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาค คาดแล้วเสร็จปลายปี 58 ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านอาเซียน หวังพัฒนาเป็นหอสังเกตดวงจันทร์เพื่อประโยชน์ทางศาสนกิจของศาสนาอิสลาม
วันนี้ (17 เม.ย.) รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนจังหวัดสงขลา ว่า จากการที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ดำเนินโครงการดังกล่าว ขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับดำเนินการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคแล้ว จำนวน 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯ ผูกพัน เริ่มก่อสร้างได้เลย และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2558 เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ชาวสงขลา และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
ซึ่งหอดูดาวภูมิภาคแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านดาราศาสตร์ ในเรื่องเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมภาคใต้ การเชื่อมโยงความร่วมมือด้านอาเซียนกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และการศึกษาด้านดาราศาสตร์อิสลาม โดยจะใช้ในการดูดวงจันทร์ และอาจจะพัฒนาเป็นหอสังเกตดวงจันทร์ เพื่อประโยชน์ในทางศาสนกิจของศาสนาอิสลาม และรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับปฏิทินภูมิปัญญาในพื้นที่
นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง อาจารย์โปรแกรมวิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัย ราชภัฏสงขลา ในฐานะผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาค สำหรับประชาชนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เมื่อ ปี 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้รับเกียรติจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้เข้าร่วมโครงการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน โครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระราชทานนามหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา
โดยจังหวัดสงขลา เป็น 1 ใน 5 ของเครือข่ายหอดูดาวภูมิภาคทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลกล้องดูดาว 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกล้องดูดาวที่ใหญ่ที่สุดทันสมัยที่สุด และอยู่ในระดับความสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเชื่อมโยงกับกล้องดูดาว PROMPT8 ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ณ CerroTololo ประเทศชิลี
ตลอดจนกระจายโอกาสการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ และอวกาศให้ทั่วถึงในทุกภูมิภาคของประเทศไทย สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ และอวกาศในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา รวมทั้งบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์ และอวกาศสำหรับเยาวชน และประชาชนผู้สนใจ เพื่อเป็นศูนย์กลางทำวิจัยด้านดาราศาสตร์และอวกาศทั้งระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการด้านดาราศาสตร์และอวกาศรองรับประชาคมอาเซียนได้อีกด้วย