xs
xsm
sm
md
lg

อีกก้าวคนไทยส่งหุ่นยนต์ดูแลคนแก่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทาเคชิ คิมูระ , นายศุภชัย หล่อโลหการ. ผอ.สนช., เฉลิมพล ปุณโณทก และ นพ.วาทานาเบ พร้อมหุ่นยนต์ดินสอมินิ
จากสถานการณ์ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แม้แต่การแพทย์ที่ก้าวหน้ายังตามดูแลผู้ป่วยเรื้อรังได้ไม่ครอบคลุม จึงเป็นโอกาสของหุ่นยนต์ไทยที่จะเข้าไปเติมช่องว่างการดูแลผู้สูงวัยในต่างแดน

คนไทยอาจคุ้นเคยกับหุ่นยนต์เสิรฟสุกี้มาระยะหนึ่ง ถึงวันนี้ “ดินสอ” พัฒนาไปเป็น “ดินสอมินิ” หุ่นยนต์เด็กชายที่มีหน้าตาคล้ายคลึงรุ่นพี่แต่มีขนาดเล็กกว่า และถูกพัฒนาให้เป็นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวได้น้อย และมีอายุ 80 ปีขึ้นไป

ดินสอมินิเป็นผลงานการพัฒนาของ ซีที เอเชีย โรโบติกส์ บริษัทของคนไทย มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกและต้องนอนเตียง โดยจอรับภาพจะเฝ้าดูผู้ป่วยตลอดเวลา หากหกล้มหรือคลาดสายตาของหุ่นยนต์ จะส่งสัญญาณเตือนไปไปยังแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของญาติหรือบุคลากรการแพทย์ โดยใช้ได้ทั้งแอนดรอยด์และไอโอเอส

เฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ก่อตั้งซีที เอเชีย โรโบติกส์ อธิบายว่านอกจากเฝ้าจับตาผู้ป่วยแทนบุตรหลานหรือแพทย์แล้ว ยังตั้งเวลาเตือนเพื่อกินยา เชื่อมต่อเครื่องวัดความดันโลหิตไร้สายได้ และเก็บบันทึกประวัติสุขภาพให้แพทย์หรือบุตรหลานตรวจดูย้อนหลังตามต้องการ รวมถึงการเปิดระบบวิดีโอคอลล์แบบอัตโนมัติ และสามารถโทร. ออกได้โดยแตะภาพบุคคลในจอ

ทั้งนี้ ซีที เอเชีย โรโบติกส์ มีความร่วมมือกับสมาคมดูแลผู้สูงวัยเวลเอจจิงญี่ปุ่น (Well Aging Japan) นำหุ่นยนต์ดินสอมินิไปทดสอบใช้งานจริงในโรงพยาบาลโอวากิของญี่ปุ่น จำนวน 10 ตัว ในเดือน พ.ค. 57 นี้ ขณะเดียวกันก็มีการทดสอบในไทยที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทควบคู่ไปด้วย

ในการทดสอบดังกล่าว ทาเคชิ คิมูระ ตัวแทนจากเวลเอจจิงญี่ปุ่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ดินสอมินิจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณชีพของทางสมาคมที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อเสริมการงานของหุ่นยนต์ที่ไม่สามารถเคลื่อนได้ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถติดตัวกับผู้ป่วยได้

ในขณะที่ญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์มากมาย ทำไมทางสมาคมจึงเลือกหุ่นยนต์จากไทย? เป็นคำถามที่ชาวญี่ปุ่นสงสัย ซึ่งคิมูระอธิบายว่า เพราะสามารถปรับเปลี่ยนหุ่นยนต์ของไทยให้สอดคล้องกับการทำงานได้ และยังมีราคาถูก ขณะที่หุ่นยนต์จากญี่ปุ่นถูกตั้งค่ามาแล้วไม่สามารถดัดแปลงได้

ด้าน นพ.มิกิฮิโกะ วาทานาเบ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลโอากิ กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องใช้หุ่นยนต์และการแพทย์ทางไกลเพื่อดูแลผู้ป่วยว่า ขณะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่นให้ดีขึ้น โดยภายในปี 2025 จะลดจำนวผู้ป่วยนอนเตียงจาก 1,000,000 เตียง ให้เหลือ 400,000 เตียง

“เรื่องดังกล่าวทำได้โดยแยกผู้ป่วยเรื้อรังซึ่งมักเป็นผู้สูงวัย ออกจากผู้ป่วยฉับพลันคือผู้มะเร็ง แล้วให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งการมี “ดินสอ” และอุปกรณ์จากเวลเอจจิงจะช่วยได้มาก เพราะปกติคุณหมอต้องออกตรวจผู้ป่วย 2 สัปดาห์ต่อครั้ง แต่เทคโนโลยีนี้จะติดตามสุขภาพผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาล แต่ก็เหมือนได้ไปโรงพยาบาล” นพ.วาทานาเบ กล่าว

ข้อมูลจาก นพ.วาทานาเบ ระบุว่า นับแต่ปี 2503 ญี่ปุ่นให้ประชาชนทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวขึ้น และนับเป็นชาติต้นๆ ที่มีประชากรมีอายุเฉลี่ยสูง แต่ก็เริ่มมีปัญหา โดยปัจจุบันผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง 25% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2593 จะเพิ่มขึ้นเป็น 40% โดยโรคอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นเสียชีวิตคือ โรคหัวใจ โรคสมอง และมะเร็ง

ทั้งราคาของหุ่นยนต์ดินสอมินิอยู่ที่ 100,000-200,000 บาท แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเมื่อจำหน่ายใยเชิงพาณิชย์แล้วจะจำหน่ายในราคาเท่าไร เนื่องจากยังมีค่าบริหารจัดการและค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งต้องรอผลจากการทดลองใช้งานอีก 3 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี นพ.วาทานาเบ ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ก็มีปัญหาและไม่ได้มีแต่ส่วนดีทั้งหมด อย่างแรกคือเรื่องความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี ตามมาด้วยความปลอดภัย ความแข็งแกร่ง รวมถึงต้นทุนและราคา ซึ่งหวังว่าทั้งสององค์กรจากไทยและญี่ปุ่นจะช่วยกันพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น
นพ.มิกิฮิโกะ วาทานาเบ
ทาเคชิ คิมูระ
อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณชีพของทางสมาคมเวลเอจจิงเจแปน
สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบบริการดูแลผู้สูงวัยนี้ทางซีที เอเชีย โรโบติกส์ ได้รับทุนอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) 1.52 ล้านบาท







กำลังโหลดความคิดเห็น