จากสภาะการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ สภาวะของสังคมที่มีผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 12 ของประชากรทั้งประเทศ และมีจำนวนประชากรกว่า 5 แสนคนเข้าสู่เกณฑ์การเป็นผู้สูงอายุในทุกปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งประเทศ
เป็นประเด็นที่สังคมควรจะต้องให้ความสนใจและหยิบยกไปเป็นหัวข้อที่ต้องหารือกันในมิติที่หลากหลาย เพื่อหาแนวทางที่เป็นแบบแผนที่จะเป็นกุญแจสู่การก้าวผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยมีสถาบันครอบครัวเป็นแกนหลักในการสร้างเกราะของความสัมพันธ์ที่แข็งแรง มีสมาชิกที่เก่ง แกร่ง ดีและมีความสุข
สถาบันรักลูกเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพของครอบครัวและสังคมไทยมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาในเรื่องนี้จะเป็นการจุดประกายของคนทำงานภาคสื่อสารมวลชน สังคม ชุมชน และครอบครัว ให้ได้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เพื่อที่จะร่วมกันคิดร่วมกันทำ และหาแนวทางในการขยายองค์ความรู้ที่ได้ต่อไปเพื่อผลักดันขับเคลื่อนกลไกทางสังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนทุกช่วงวัยที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ไว้เป็นแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์ในการรับมือกับภาวะสังคมสูงวัย แต่การเปลี่ยนผ่านของสังคมกำลังรุดหน้าเกินกว่าระบบการพัฒนาที่รัฐวางแผนไว้จะตามได้ทัน ทำให้สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับอนาคตที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้นั่นก็คือการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยสุดยอด
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้ให้ความเห็นไว้ว่าสังคมและสมาชิกในสังคมทุกคนจะต้องเตรียมความพร้อม ทั้งการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ และการเตรียมตนเองเพื่อวางแผนสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน สิ่งที่สำคัญคือคนวัยทำงาน และวัยรุ่น และเยาวชนควรมีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุเองก็ต้องเข้าใจตนเองและคนรอบข้าง เพื่อปรับค่านิยมของตนเองให้ช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด อย่าหวังเพียงการพึ่งพาจากสวัสดิการของรัฐ
พญ.ลัดดา เน้นย้ำเรื่องของการเตรียมความพร้อมสู่การที่ประชากรทุกคนจะต้องรับมือกับภาวะสังคมสูงวัยสูงสุดที่จะใกล้เข้ามา
ในขณะที่ ดร.อุทัย ดุลยเกษม นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมและการศึกษาได้เสริมแนวคิดเรื่องความหลากหลายบนความสูงวัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีความหลากหลายและมีมิติทางสังคมที่แตกต่างกัน อันที่จริงไม่ต่างกับคนอื่นๆในสังคมที่มีความต้องการตามพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี
ดังนั้น การปฏิบัติต่อผู้สูงวัยในครอบครัวและในสังคมต้องพิจารณาถึงความละเอียดอ่อนทางความรู้สึก และประเด็นที่สำคัญคืออยากให้สังคมมองว่าผู้สูงอายุคือแหล่งของความรู้ฝังลึก (Implicit Knowledge) หรือความรู้จากประสบการณ์ชีวิต รวมไปผู้สูงอายุคือแก่นของระบบคุณค่าแบบไทยที่เป็นพื้นฐานรากเหง้าของขนบธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติ พ่อแม่และเด็กควรหันมาให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุว่าเป็นแหล่งข้อมูลความรู้และมองถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ใกล้ตัว
แนวทางการเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีเกราะป้องกันที่เข้มแข็งในสังคมที่มีความผันแปรสูงเช่นนี้ ย่อมต้องการการเปิดใจระหว่างกันเพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางของการสร้างเด็กที่มีคุณภาพที่ต้องมีทักษะการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับสังคม และรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อที่เด็กจะสามารถทำความเข้าใจและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข ซึ่งการเรียนรู้ของเด็กจะต้องเกิดจากการถ่ายทอดทางสังคมของรุ่นพ่อแม่ และรวมถึงรุ่นปู่ย่าตายายที่จะเป็นแรงกำลัง และแหล่งความรู้ที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้
ทั้งนี้ นพ.สุริยเดวยังได้เพิ่มเติมเรื่องของอิทธิพลสื่อและเครื่องมือการสื่อสารว่าครอบครัวต้องใช้ให้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์มากกว่าเครื่องมือขัดขวางการสานสัมพันธ์
จากบทเรียนในต่างประเทศที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสุดยอดอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น คุณอรรถ บุนนาค ผู้อำนวยการบริหาร Women Business กลุ่มบริษัทอาร์แอลจี สะท้อนแนวคิดจากประสบการณ์ที่เคยไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ว่าประเด็นที่สังคมไทยต้องตระหนักและก้าวข้ามไปให้ได้คือประเด็นของการเหยียดวัย (Ageism) ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมีมโนทัศน์เชิงลบต่อความแตกต่างในอายุของคน หมายรวมถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกับทุกวัยไม่ใช่แต่กับผู้สูงอายุเท่านั้น
ดังนั้นสังคมไทยต้องใส่ใจในประเด็นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดใจยอมรับความแตกต่างของคนหลากวัย ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นเรื่องของการเสริมสร้างกิจกรรมโดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้มีกิจกรรมร่วมกันกับคนวัยอื่นๆ อาทิ เทศกาลระบำโยซาโกย ที่คนทุกวัยมาร่วมกันแข่งขันระหว่างชุมชน เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ทุกวัยล้วนได้เชื่อมสัมพันธ์กัน และส่งผลทำให้ลูกหลานกลับมายังเมืองในชนบทเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวแทนที่จะอพยพเข้าเมืองใหญ่เพื่อทำงานและปล่อยให้เมืองชนบทมีแต่ผู้สูงวัย
คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันรักลูก สรุปแนวคิดที่วิทยากรทุกท่านว่า สังคมต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนมโนทัศน์ (Paradigm) จากเดิมที่เคยมองว่าผู้สูงอายุคือภาระที่ต้องดูแล มาเป็นสังคมต้องเกื้อกูลผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่หยิบยื่นการสงเคราะห์ให้อย่างเดียว สามารถสรุปแนวคิดหลักที่ส่งผลทางบวกต่อการสร้างสัมพันธ์ครอบครัว 3 ประการ คือ
- กระบวนการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองและเข้าใจคนรอบข้างในสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
- การมีส่วนร่วม สมาชิกในครอบครัว และคนในสังคมต้องช่วยกันคิดและช่วยกันทำ เปิดกว้าง และยอมรับซึ่งกันและกัน ทั้งเด็กและผู้สูงอายุเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เกิดกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกัน
- การบูรณาการ การบริหารจัดการอย่าลงตัว จัดสรรเวลาและความสัมพันธ์ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวและในสังคมให้ลงตัวอย่างเท่าเทียม และมีความสำคัญเหมือนกันหมด
แนวทางที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านที่มีความหมายคงไม่พ้นการเริ่มต้นที่ตัวเอง ตระหนักรู้ในความสำคัญของสมาชิกสูงวัยในครอบครัว การให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกัน เพราะผู้สูงวัยก็คือผู้ใหญ่ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เปรียบดั่งศูนย์กลางและเป็นพลังของครอบครัว ส่วนเด็กคืออนาคตที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เสมือนต้นกล้าที่ต้องการการรดน้ำพรวนดินอย่างถูกวิธี ท้ายสุดคือพ่อแม่ที่จะเป็นจุดเชื่อมกลางของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ดังนั้นการจะปลดล็อคกุญแจของความสัมพันธ์ของคนหลากวัยต้องอาศัยการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการบูรณาการ เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการดำเนินการ
ทั้งนี้ กิจกรรมการเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดของงานรักลูก แฟมิลี่ เฟสติวัล 2014 ในชื่องาน Generations Unlock ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2557 ฮอลล์ 7-8 อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งองค์ความรู้จากการเสวนานี้จะนำไปถ่ายทอด สอดแทรกอยู่ในนิทรรศการเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนหลากวัยภายในงานด้วย
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!