xs
xsm
sm
md
lg

Gaspard Monge นักปฏิรูปการศึกษาวิทย์-คณิต

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

รูปปั้นของ Gaspard Monge ใน Beaune ()
Gaspard Monge เกิดที่เมือง Beaune ในฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1746 (ตรงกับรัชสมัยพระบรมโกศ) บิดา Jacques Monge เป็นพ่อค้า มารดา Jeanne มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี ทั้งพ่อและแม่ของ Monge มีความมุ่งมั่นจะให้ลูกทั้งสามคนมีการศึกษาดี จึงทำงานหนักและ Monge ก็ตระหนักในความรักนี้

Monge เริ่มการศึกษาที่ Oratorians College แห่งเมือง Beaune และเมื่ออายุ 16 ปี ได้ไปเรียนต่อที่ College de la Trinite ในเมือง Lyons ทั้งๆ ที่มีอายุยังน้อย และได้เรียนวิชาฟิสิกส์ไม่มาก แต่ Monge ก็ได้รับการขอร้องให้ช่วยอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่วิทยาลัย ในฤดูร้อนของปี ค.ศ.1764 เมื่อ Monge เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติ เขาได้แสดงความสามารถในการออกแบบผังเมือง Beaune ซึ่งเป็นงานที่ Monge ตั้งใจจะทำเล่นๆ ในช่วงปิดภาคเรียน แต่เมื่อรองผู้อำนวยการสถาบัน Ecole Royale du Genie Millitaire แห่งเมือง Mezieres เห็นแผนผัง ท่านรองฯ รู้สึกประทับใจมาก จึงนำไปเก็บในห้องสมุดของโรงเรียนเป็นเอกสารอ้างอิง และเชิญ Monge ไปช่วยสอนที่โรงเรียนช่างซึ่งรับนิสิตเข้าศึกษาในหลักสูตร 2 ปี ปีละ 10 คน และได้แต่งตั้งให้ Monge เป็นวิศวกรประจำที่โรงเรียนผู้มีหน้าที่สอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ รวมถึงเป็นช่างเขียนแบบที่มีหน้าที่ออกแบบป้อมปราการไม่ให้ข้าศึกสามารถโจมตีได้ Monge ทำงานที่ได้รับมอบหมายทุกเรื่องอย่างทุ่มเท งานจึงลุล่วงเร็ว จนผู้ว่าจ้างที่ตอนแรกคิดจะไม่เซ็นต์รับงาน แต่เมื่อได้เห็นรายละเอียดของงานก็ยอมรับว่ามันเป็นงานที่ดีเด่น ที่ใช้วิชา Descriptive Geometry แสดงวัตถุใน 3 มิติ และ 2 มิติได้อย่างน่าทึ่งสำหรับเด็กหนุ่มวัย 19 ปี ความสำเร็จนี้ช่วยให้ Monge ได้เลื่อนตำแหน่งวิชาการขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ และในเวลาต่อมาก็ได้ย้ายไปสอนที่ Ecole du Genie ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ กับฟิสิกส์ Monge มีวิญญาณและจิตสำนึกของความเป็นครูสูงมาก มหาวิทยาลัย Mezieres จึงเสนอตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ให้ ทั้งนี้เพราะ Monge สอนดี และศิษย์ที่เขาสอนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้งานดี หลังจากนั้น Monge ได้เบนความสนใจไปทำงานวิจัยด้าน Descriptive Geometry มากขึ้น และได้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เรื่อง Graphs มาเรียบเรียง จนเขียนเป็นตำรา Geometrie Descriptive ได้ แล้วนำผลงานนี้เสนอต่อที่ประชุมของ Paris Academy

ขณะทำงานอยู่ที่ Ecole du Genie ศาสตราจารย์ Monge ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Paris Academy ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมากจึงต้องเดินทางไปประชุมที่ Paris บ่อย

ในปี ค.ศ. 1789 ได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ถึง Monge จะสนิทสนมกับ Antoine Lavoisier และได้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยของ Lavoisier ในห้องปฏิบัติการ แต่คณะปฏิวัติก็ไม่ทำร้าย Monge ส่วน Lavoisier นั้นถูกตัดศรีษะด้วยกีโยติน ทั้งนี้เพราะ Monge เห็นด้วยกับฝ่ายปฏิวัติ ที่จะปฏิรูปสังคมฝรั่งเศส จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม Freemason ที่สมาชิกทุกคนมีความเป็นอิสระในการเดินทางไปช่วยสังคมใดๆ ก็ได้ภายในประเทศ เมื่อสถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสถูกโค่นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1792 Monge ได้เข้าทำงานการเมืองมากขึ้น โดยได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีนาวีแห่งชาติ แต่ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เพราะถูกฝ่ายค้านโจมตีหนัก Monge จึงลาออก หลังจากที่เป็นรัฐมนตรีได้นาน 2 เดือน

Monge ได้หวนกลับไปเป็นครูอีก เมื่อฝรั่งเศสต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ประจำกองทัพ Monge ได้ไปทำงานสังกัดกรรมาธิการทหารซึ่งมีหน้าที่ผลิตเหล็กกล้าสำหรับสร้างปืนใหญ่ ผลิตดินปืน และสร้างบอลลูนเพื่อใช้ในสงครามด้วย

ในช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1794 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1795 เป็นเวลาที่เสถียรภาพของรัฐบาลฝรั่งเศสคลอนแคลน ทำให้เกิดรัฐประหารอีกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1799 Napoleon Bonaparte ได้หวนกลับมามีอำนาจ และพระองค์ทรงต้องการให้ฝรั่งเศสปฏิรูปการศึกษา จึงทรงมอบให้ Monge เป็นคนรับผิดชอบ เพราะ Napoleon ทรงตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการเมือง อุตสาหกรรม พาณิชย์ และทหาร พระองค์ทรงดำริจะสร้างนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากให้เข้าทำงานประจำองค์การต่างๆ ของรัฐ นอกจาก Monge แล้ว Napoleon ยังทรงแต่งตั้งให้ Lazare Carnot นักคณิตศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญกลศาสตร์ จัดระเบียบโครงสร้างของกองทัพบกใหม่ด้วย เพราะก่อนการปฏิวัติ มหาวิทยาลัยของฝรั่งเศสทั้ง 22 แห่ง ต่างสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่โบราณ การกำหนดวาระแห่งชาติเช่นนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปฏิรูปการเรียนการสอน Napoleon ทรงจัดให้ ชาวฝรั่งเศสทุกคนได้เรียนระดับประถามศึกษาฟรี และให้กรรมการสภาการศึกษาที่มี Monge เป็นสมาชิกคนหนึ่งตั้งเป้าผลิตคนที่เก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยใช้เวลาน้อยที่สุด โดยให้ทุนเรียนที่ School of Public Works ซึ่งในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Ecole Polytechnique สถาบันนี้มีเป้าหมายจะฝึกวิศวกรให้มีความรู้วิทยาศาสตร์มากแน่นและดี เพื่อทำงานรับใช้ชาติ รวมถึงจัดการให้โรงเรียนต่างๆ ได้เผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์สู่สังคมด้วย

คณะกรรมการที่มี Monge เป็นสมาชิกจึงต้องสร้างข้อสอบเข้าสำหรับนักเรียนใน 22 จังหวัด เพื่อคัดเด็กหนุ่ม 400 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 16-20 และมีความประสงค์จะรับใช้ชาติอย่างจริงจังมาเรียนแคลคูลัส เรขาคณิต วิชาออกแบบ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ กลศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี หลักสูตร 3 ปีถูกเปิดสอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1794 โดยมีอาจารย์สอนชื่อ Lagrange, Monge, Laplace, Le Peletier, Bertholet และ Neveaux ส่วนนักเรียนที่รับเข้าเรียนก็โด่งดังไม่แพ้กัน (ในเวลาต่อมา) เช่น Biot, Poinsot, Malus และ De Chezy
ภาพ Antoine Lavoisier โดย Louis Jean Desire Delaistre, Julien Leopold Boilly
Monge อุทิศตนเพื่องานสอนมาก เช่น สร้างหลักสูตรด้วยตนเองและสอนเอง และลูกศิษย์มักชื่นชม Monge มากว่าสอนเก่ง ไม่ว่าจะเรื่องการออกเสียง ท่าทาง และเนื้อหา นอกจากนี้เวลาสอน Monge มักดูที่แววตาของศิษย์ก็จะรู้ทันทีว่าศิษย์คนนั้นเข้าใจในระดับใด และทุกครั้งที่จบการสอน Monge ก็จะนั่งสนทนากับศิษย์ต่อ เพื่อทบทวนเนื้อหาให้ศิษย์เข้าใจบทเรียนยิ่งขึ้น สำหรับศิษย์ที่เก่งมากๆ Monge จะแสดงความชื่นชมให้ทุกคนประจักษ์ เมื่อเรียนไปได้หนึ่งปี นิสิตก็แยกย้ายไปเรียนสาขาต่างๆ เช่น โยธา เหมืองแร่ หรือทหาร ตามลำดับคะแนนที่ทำได้ คือคนเก่งสามารถเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้ ส่วนคนที่ไม่เก่งจะมีตัวเลือกน้อย ตัวอย่างข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกเข้าเรียนที่สถาบันนี้ ได้แก่ การพิสูจน์ว่าสามเหลี่ยมใดๆ ที่มีเส้นแบ่งครึ่งมุมยาวเท่ากันสองเส้น สามเหลี่ยมนั้นคือสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และให้สร้างสามเหลี่ยม ถ้ากำหนดมุมให้หนึ่งมุม กำหนดความยาวเส้นรอบรูปและพื้นที่ของสามเหลี่ยมมาให้ ตามธรรมดาธรรมเนียมปฏิบัติของโรงเรียน Ecole Polytechnique คือศาสตราจารย์มีหน้าที่สอน อาจารย์มีหน้าที่อธิบายคำสอนของศาสตราจารย์ และดูแลห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้โรงเรียนก็มีอาจารย์สอบซึ่งทำหน้าที่ออกและตรวจข้อสอบโดยเฉพาะ ในการเรียนแต่ละสัปดาห์หนึ่ง นิสิตต้องเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากถึง 20 ชั่วโมง นอกจากนี้กฎหมายยังบังคับให้อาจารย์เขียนตำราและจัดพิมพ์เอกสารให้นักเรียนอ่านด้วย ซึ่งตำราเหล่านี้บางเล่มได้กลายเป็นตำรามาตรฐานที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฝรั่งเศสนำไปใช้สอนกันทั้งประเทศ

ในปี ค.ศ. 1799 Napoleon ได้ปฏิวัติอีก และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสถาบัน Institute de France เมื่อ Napoleon ทรงต้องการให้นิสิตของสถาบัน Ecole Polytechnique สนับสนุนตน จึงได้มอบตำแหน่งวุฒิสมาชิกให้ Laplace, Monge และ Bertholet ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Ecole Polytechnique แล้วให้กองทัพเข้ามาควบคุมการดำเนินงานของ Ecole นักเรียนที่นี่จึงมีสภาพเสมือนนักเรียนนายร้อยทันที

ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1804 โรงเรียน Ecole Polytechnique ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นโรงเรียนทหารอย่างสมบูรณ์ และนิสิตที่นี่ทุกคนต่างได้เงินเดือน และได้รับการยกย่องชื่นชมจากสังคมมาก จนกระทั่งศิษย์เก่าของสถาบันทุกคน เช่น Cauchy, Hermite, Jordan, Poincare, Arago, Fresnel, Becquerel, Le Verrier, Guy-Lussac, Comte, Sorel, Joffre และ Foch เวลาเซ็นชื่อจะวงเล็บหลังชื่อว่าเป็นศิษย์เก่าของ Ecole Polytechnique ส่วนคำขวัญประจำสถาบันคือ For the fatherland, sciences and fame.

นอกจากจะสอนที่ Ecole Polytechnique แล้ว Monge ยังเป็นอาจารย์ประจำอีกหลายสถาบันด้วย เช่น Academie des Sciences, Societe Philomatique de Paris, Commission on Arts และ Commission des Sciences et Arts in Italie สำหรับสถาบันหลังสุดนี้ถือกำเนิดเพราะ Napoleon ต้องการนำศิลปะ หนังสือวรรณคดีและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จากอิตาลีมาฝรั่งเศส Monge จึงถูกส่งไปเยือนเมืองต่างๆ ในอิตาลี เพื่อเก็บรวบรวมวัตถุวัฒนธรรม

เมื่อเดินทางกลับถึง Paris Monge ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของ Ecole Polytechnique ทันที แต่แทนที่จะได้อยู่ติดบ้าน Napoleon กลับให้ Monge เดินทางไป Egypt และเป็นนายกของสถาบัน Institute d’ Egypte ซึ่งมีหน้าที่สำรวจ และศึกษาวัฒนธรรมอียิปต์ Monge จึงติดตาม Napoleon ไป Suez, Syria และทำงานอยู่ในอียิปต์นานถึง 3.5 ปี นอกจากจะได้บันทึกการเห็นภาพลวงตาในทะเลทรายเป็นครั้งแรกแล้ว Monge ยังได้เรียนรู้อารยธรรมอียิปต์โบราณด้วย

เพราะ Monge มีความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีมาก ดังนั้น Napoleon จึงทรงปูนบำเหน็จให้มากมาย เช่น ให้เป็นวุฒิสมาชิกในปี ค.ศ.1804 เป็นประธานของวุฒิสภาในอีก 2 ปีต่อมา อีกทั้งให้ดำรงตำแหน่ง Count of Peluse ในปี ค.ศ. 1807 Monge แบ่งเวลาทำงานเป็น 3 ส่วน คือ ที่ Ecole Polytechnique ที่ Institut de France และวุฒิสภา จนกระทั่งอายุ 60 ปี เมื่อ Napoleon ทรงยกกองทัพบุกรัสเซีย Monge มิได้ติดตามไปด้วย เพราะมีอายุมากแล้ว ครั้นเมื่อ Napoleon แพ้สงคราม ทำให้ต้องทรงสละราชบัลลังก์ Monge รู้ดีว่าการสนิทสนมกับ Napoleon มากจะทำให้ถูกจับ จึงหลบหนีออกจากฝรั่งเศส ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1804 ไปอยู่ที่อิตาลีนานหลายเดือน ถูกถอดยศและตำแหน่งต่างๆ หมด แต่ก็ได้หวนกลับมาปารีส เมื่อป่วยหนัก Monge เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1818 สิริอายุ 72 ปี

ในปี 1849 ได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของ Monge ที่เมือง Beaune ณ วันนี้ นักคณิตศาสตร์รู้จัก Monge ในฐานะผู้คิด Monge’s theorem, Monge-Ampere’s equation และ Monge array รวมถึงได้อ่านบทความที่ Monge เขียนลงใน Annales de Chimie, Traite elementaire de la statique และ Description de l’art de fabiquer les cannons แต่ที่สำคัญที่สุด คือ รู้จัก Monge ในฐานะนักปฏิรูปการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผู้จัดตั้ง Ecole Polytechnique ที่เป็นต้นแบบของ Massachusetts Institute of Technology ในอเมริกา และ Federal Technisch Hochschule ในสวิสเซอร์แลนด์

อ่านเพิ่มเติมจาก A Short Account of the History of Mathematics โดย W.W. Rouseball ปี 1908

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น