คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยวรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง
GDP ไทยไตรมาส 2 ที่ประกาศเมื่อเช้าวันที่ 19 สิงหาคม เรียกว่าหักปากกาเซียนนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ทุกราย ยกเว้นรายเดียวคือ ทิสโก้ ที่แหกคอกเพื่อนฝูงไปคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.3% ในขณะที่โบรกเกอร์ทุกเจ้าโดยเฉลี่ยคาดว่าจะขยายตัว 3.3% ในขณะที่ของจริงออกมา +2.8%
เอาน่า ยังไงมันก็ยังขยายตัวอยู่ดี แม้จะไม่มาก
แต่ ภัทร บอกว่า เมื่อเทียบเป็นไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ปรับด้วยปัจจัยตามฤดูกาลแล้วพบว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าไตรมาสแรกปี 2556 นี้ออกมาติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน และไตรมาสสองปีนี้ที่เพิ่งประกาศออกมาก็ติดลบอีก 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งปีนี้ (ปัจจัยตามฤดูกาล หลักๆ คือ adjust จำนวนวันทำงานและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกปีที่มีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสแตกต่างกันออกไป เช่น ช่วงไตรมาส 2 มีวันทำงานน้อยกว่าไตรมาสอื่นๆ เนื่องจากมีช่วงหยุดยาวสงกรานต์ หรือช่วงปลายปีมีการใช้จ่ายเยอะเนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวและฉลองสิ้นปี เป็นต้น ซึ่งเมื่อปรับปัจจัยเหล่านี้ออกแล้วเราจะสามารถเปรียบเทียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่เกิดขึ้นในแต่ละไตรมาสได้ดีขี้น โดยวิธีการปรับคร่าวๆ จะใช้ econometric techniques เพื่อสร้าง seasonal factors ขึ้นในแต่ละไตรมาสเพื่อเป็นตัวปรับ)
ตามทฤษฎีนั้น เมื่อ GDP ไตรมาสนี้เทียบไตรมาสก่อนหน้าแล้วติดลบ 2 ครั้งติดกัน 2 ไตรมาส เขาเรียกว่าเศรษฐกิจมีอาการถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งกรณีของไทยไม่เคยเจอมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อกว่า 4 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าแรงผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้นั้นอ่อนแอลงมาก
หากจำกันได้ กองทุนบัวหลวงเคยบอกไว้แล้วว่าเราจะพบกับการปรับฐานระยะสั้น และระยะสั้นรอบนี้จะยาวกว่าที่คิด คือสั้นสุดก็ 2 เดือน และอาจไปถึง 6 เดือน 8 เดือน (ซึ่งก็โดนเพื่อนฝูงโห่ฮากันเพียบเลยในตอนนั้น) ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครจำได้บ้างไหม และในตอนนั้นเราก็ได้ยืนยันด้วยว่าในภาพยาวๆ Theme Asian, Theme Urbanization ยังไปได้ดีอยู่ แต่ปีนี้ให้ Lighten Up Your Life กับ Protect Your Assets โดยอย่าคาดหวังว่าจะดีเลิศเลอเหมือนปีก่อน
ก็จะดีได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อองค์ประกอบของ GDP คือ ...
GDP = G+C+I+(X-M)
G คือการใช้จ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐ : ตอนนี้ยังไปไม่ถึงไหน พึ่งพาได้ลำบาก
C คือการใช้จ่ายภาคครัวเรือน : กำลังซื้อหดหาย
I คือการลงทุนของภาคธุรกิจ : ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง ไม่ได้ลงทุนเพิ่ม
X คือส่งออก : หดตัวมาก
M คือนำเข้า : ยังไม่มีประเด็นสำคัญมากนัก
เดิมทีความหวังใหญ่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของเรานั้นอยู่ที่งบโครงสร้างพื้นฐาน (ในหมวด G) ฝรั่งก็หวังแบบนี้ แต่ปรากฏว่าล่าช้า และไม่ว่าผลการอนุมัติร่าง พ.ร.บ.นี้จะออกมาอย่างไรก็ไม่ทันได้ใช้เงินในปีนี้อยู่ดี อย่างเก่งก็ใช้เงินได้ในครึ่งหลังของปีหน้า
แล้ว GDP เราจะแย่ไปกว่านี้ไหม?
ก็เป็นได้ เพราะคาดว่า GDP เราจะกระทบมากขึ้นในไตรมาส 3 (ซึ่งจะประกาศตัวเลขในไตรมาส 4) ก่อนที่น่าจะดีขึ้นจากการที่ EU ขยับดีขึ้น กับ US ที่ค่อยๆ กระเตื้องขึ้น ซึ่งถ้า 2 รายนี้ดีขึ้นจีนก็จะขายของได้มากขึ้น อาเซียนรวมทั้งไทยก็จะได้ผลพลอยได้ไปด้วย โดยน่าจะเป็นปีหน้าแล้วถึงจะเห็นผล แต่โดยปกติตลาดหุ้นจะสนองตอบก่อนล่วงหน้า
ความจริงก็ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวในย่านนี้ที่กำลังพบอุปสรรค โดยอุปสรรคของเอเชียมาจากการขาดดุลเพิ่มมากขึ้น ทั้งดุลงบประมาณ (รัฐบาลใช้มากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้) และดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้เงินไหลออกไปไม่น้อย อีกส่วนก็เป็นผลกระทบจากจีนที่โตชะลอลง และอีกส่วนก็มาจากข่าวที่จะเลิก QE
แล้วเศรษฐกิจไทยจะลงไปถึงไหน จะ Bottom เมื่อไหร่?
อาจจะสิ้นปีก็ได้ แต่ตลาดหุ้นอาจจะ Bottom out ก่อนเศรษฐกิจ
เมื่อไหร่เงินต่างชาติจะกลับเข้าไทย?
ปีหน้ามีโอกาสที่เงินจะเข้า โดยจุดสำคัญก็คือ EU, US ที่น่าจะดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมการส่งออกของจีน พอจีนดีขึ้นเราก็ได้ด้วย
เราจะทำอะไรได้บ้างในปีนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้?
เคยบอกไปแล้วว่าขอให้รัฐบาลและพวกเราช่วยกันสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพราะในขณะที่เครื่องยนต์อื่นข้างต้นไม่ทำงาน การท่องเที่ยวจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง แต่มาโชคร้ายที่มีเรื่องน้ำมันรั่ว ซึ่งก็ได้ขอให้เร่งแก้ไขกันก่อน อย่าเพิ่งโทษกัน ส่วนจะเอาผิดใครก็ค่อยมาว่ากันอีกที เพราะคู่แข่งประเทศอื่นเขาจะนำข่าวร้ายไปขยายผลเพื่อโจมตีการท่องเที่ยวของเราเพิ่ม
นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว เรายังทำอะไรได้อีกไหม?
อยากให้รัฐบาลและเอกชนมองเรื่อง FDI (Foreign Direct Investment … การลงทุนของต่างชาติในไทยโดยลงทุนตรงในโรงงานผลิตต่างๆ) โดยเน้นไปที่ญี่ปุ่น
เพราะจะอย่างไรญี่ปุ่นก็มาไทยแน่ๆ อย่าไปกลัวว่าจะหนีไปอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์หมด เพราะทั้งสองประเทศนั้นมีปัญหาที่ญี่ปุ่นต้องการหนีจากประเทศตนเอง ซึ่งก็คือแผ่นดินไหวกับสึนามิ
จึงเชื่อว่าญี่ปุ่นจะย้ายฐานผลิตมาไทยเพื่อรับโอกาสของประชาคม ASEAN แน่ เพราะเราได้เปรียบหลายอย่าง
ก็ขอให้กลับไปอ่านนวนิยายเรื่อง คู่กรรม แล้วอย่าแสนงอนอย่างแม่อังศุมาลิน หรือแอบปันใจไปมีหนุ่มชาติอื่น เดี๋ยวพ่อโกโบริเขาจะเบื่อหน่ายซะก่อนนะเธอ