การสร้างดาวเทียมดวงใหญ่ๆ อาจจะไกลเกินเอื้อมสำหรับคนไทย แต่ด้วยราคาที่ทดลองเล่นได้มหาวิทยาลัย “ดาวเทียมกระป๋อง” น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาไทยขึ้นสู่อวกาศด้วยศักยภาพของเราเองได้อีกครั้ง
ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เอ่ยถึงภาพรวมเทคโนโลยีอวกาศไทยว่า ดาวเทียมของไทยทั้งดาวเทียมสื่อสารของเอกชน และดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของภาครัฐ ล้วนเป็นดาวเทียมที่ออกแบบ สร้าง และส่งขึ้นอวกาศที่ต่างประเทศทั้งหมด และยังมีดาวเทียมดวงเล็กๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครที่สร้างขึ้นเองแต่ส่งที่ต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก
“ดาวเทียมไทย สร้างหรือส่งก็อยู่ที่ต่างประเทศ ในการสร้างดาวเทียมแต่ละดวงจะมีทีมออกแบบประมาณ 20 คน มีทีมสร้างต่างหาก มีทีมทดสอบอีกทีม หลังจากสร้างเสร็จก็มีทีมทดสอบ จากนั้นก็มีทีมส่ง เมื่อส่งขึ้นไปแล้วก็มีทีมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงานเชื่อมต่อกับดาวเทียมอีก” ดร.สวัสดิ์กล่าว
ยังมีโอกาสที่คนไทยจะสร้างและออกแบบดาวเทียมขึ้นเองได้ โดย ดร.สวัสดิ์ ได้กล่าวถึง ดาวเทียมกระป๋อง (Cansat) ซึ่งเป็นดาวเทียมเล็กขนาดเท่ากระป๋อง แต่มีความสามารถในการทำงานทุกอย่างเหมือนดาวเทียมขนาดใหญ่ แต่ในการสร้างดาวเทียมเพื่อส่งขึ้นไปนั้นต้องมั่นใจว่าดาวเทียมสามารถใช้งานได้ เพราะค่าขนส่งขึ้นไปอวกาศอยู่ที่กิโลกรัมละ 20,000 บาท และเมื่อส่งขึ้นไปแล้วไม่สามารถเอากลับลงมาได้ หรือถ้าเอากลับลงมาอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าตอนนำส่ง
“การส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรก็เหมือน “เอาไปโยนทิ้ง” คือปล่อยแล้วปล่อยเลย แต่ยังไม่เคยมีดาวเทียมกระป๋องถูกส่งขึ้นไปในอวกาศ เนื่องจากดาวเทียมขนาดเล็กนี้ส่วนใหญ่เป็นใช้เพื่อการเรียนรู้ เอาไว้สอนเด็ก จำลองแบบดาวเทียมขนาดใหญ่ เหมือนทำรถเด็กเล่น แต่เป็นรถเก๋งจริงๆ ซึ่งดาวเทียมเทียมกระป๋องนี้ก็มีชิ้นส่วนสำคัญของดาวเทียม แต่ทำงานได้เหมือนกัน ตอนนี้เขาทำเล่นกัน ถ้าเราไม่ทำ รอบบ้านก็จะทำ สิงคโปร์ใกล้ๆ เราก็ทำแล้ว” ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการการวิจัย สวทช.กล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ที่ระบุว่า ดาวเทียมกระป๋องนั้นเป็นการจำลองดาวเทียมของจริง ซึ่งมีการแข่งขันสร้างดาวเทียมประเภทนี้ครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 1999 จากนั้นก็มีการแข่งขันกระจายไปทั่วโลก โดยผู้แข่งขันนั้นจะต้องใส่อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของดาวเทียมลงในกระป๋องบรรจุเครื่องดื่มโซาขนาด 350 มิลลิลิตร และหลังจากปล่อยออจากบอลลูนแล้ว ดาวเทียมต้องแสดงภารกิจได้อย่างมั่นคง และลงจอดยังภาคพื้นได้อย่างปลอดภัย
พร้อมกันนี้ ดร.สวัสดิ์ยังยกตัวอย่างดาวเทียมประเภทต่างๆ ที่แบ่งตามขนาด ซึ่งใหญ่กว่าดาวเทียมกระป๋องคือ “คิวบ์แซท” (Cubesat) เป็นดาวเทียมขนาด 10x10x10 เซ็นติเมตร ซึ่งมีส่งขึ้นไปอวกาศแล้ว อย่างเวียดนามประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็เคยส่งดาวเทียมประเภทนี้ที่สร้างขึ้นเองโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้นไปเมื่อปี 2556 และเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามีจรวดของบริษัทออร์บิทัลไซน์ (Orbital Science) ที่นำส่งดาวเทียมคิวบ์แซท 33 ลูก และหนึ่งในนั้นเป็นดาวเทียมของนักเรียนในโรงเรียนที่วอชิงตัน ดีซี
“ถ้าเด็กทำได้ เราก็น่าจะทำได้” ดร.สวัสดิ์ อดีตพนักงานออร์บิทัลไซน์ให้ความเห็น พร้อมยกตัวอย่างดาวเทียมอีกประเภทที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก นั่นคือดาวเทียมไมโครแซท (Microsat) ขนาด 10x10x10 เซ็นติเมตร ซึ่งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน สามารถติดตั้งกล้องที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่ไทยมีอยู่ และหากตั้งใจทำสามารถทำได้ภายใน 5 ปี และยังมีวิธีให้ญี่ปุ่นมอบวงโคจรให้โดยเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ทางด้าน ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เผยว่าได้มีความร่วมมือกับ สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจและสารสนเทศภูมิศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในการพัฒนาดาวเทียมกระป๋อง ละมีการทดสอบที่ไร่สุวรรณในพื้นที่ของ มก.
“ก่อนหน้านี้มีการแข่งขันยิงจรวดข้ามทวีปมานานแล้ว แต่ปัจจุบันมีการจำกัดจำนวนการครอบครอง ทางรัสเซียซึ่งมีจรวดประเภทนี้อยู่มาก จึงนำมาปรับเอาหัวรบออก แล้วเอามาใช้งานด้านการขนส่งอวกาศ ทำให้โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถจัดส่งดาวเทียมสู่วงโคจรต่ำได้ง่ายขึ้น” ดร.สว่างทิตย์กล่าว
ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือยังมีความร่วมมือกับ สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจและสารสนเทศภูมิศาสตร์ มก.ในการวางแผนพัฒนาดาวเทียมคิวบ์แซท ซึ่ง ดร.สว่างทิตยระบุว่า ดาวเทียมดังกล่าวจะเป็นดาวเทียมที่มีอายุการใช้งาน 1 ปี ซึ่งจะถูกส่งขึ้นไปที่วงโคจรระดับ 600-800 กิโลเมตร ส่วนภารกิจนั้นอยู่ในขั้นศึกษาว่าชิ้นส่วนที่จัดหาได้ในไทยนั้นเพียงพอหรือไม่ ส่วนจะติดตั้งกล้องถ่ายภาพด้วยเหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา
ดร.สว่างทิตย์กล่าวด้วยว่า การเข้าถึงอวกาศเป็นเรื่องง่ายขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาคิวบ์แซทที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีเครื่องมือพร้อม ซึ่งในเมืองไทยก็มีความพร้อมในหลายๆ ด้านเกือบครบ ขาดเพียงห้องปฏิบัติการทดสอบอุณหภูมิ เนื่องจากดาวเทียมต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่แตกต่างกันสุดขั้ว เมื่ออยู่ซีกโลกกลางวันจะได้รับอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส แต่เมื่อไปอยู่ด้านกลางคืนหลังเงาโลก จะเผชิญอุณหภูมิต่ำถึง -80 องศาเซลเซียส
ในการสร้างดาวเทียมนั้นต้องใช้ความรู้เชิงวิศวกรรมอยู่ไม่น้อย และการเริ่มต้นจากการสร้างดาวเทียมกระป๋องน่าจะเป็นใบเบิกทางให้เทคโนโลยีขึ้นสู่อวกาศได้ไม่ยาก เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยมี “ดาวเทียมไทยพัฒ” ผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ที่พูดได้เต็มปากว่าคือเทคโนโลยีของคนไทย