xs
xsm
sm
md
lg

คาดร่างประกาศฯ ดาวเทียมมีผลบังคับใช้เดือน พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะอนุกรรมการฯ ดาวเทียมคาดออกร่างประกาศฯ ดาวเทียมได้เดือน พ.ค.นี้ พร้อมโต้นักวิชาการ “ไทยคม” ไม่ต้องประมูลวงโคจรและคลื่นความถี่

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร กล่าวว่า หลังจากได้เปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร เมื่อเดือน ม.ค. 2557 ที่ผ่านมานั้น เบื้องต้นคาดว่าร่างประกาศฯ ดังกล่าวจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ภายในเดือน พ.ค. 2557 นี้ และจะสามารถประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาได้ในปลายเดือน พ.ค.เพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ในการประชุมโฟกัสกรุ๊ปในเรื่องหลักการต่างๆ ที่ผ่านมาไม่มีอะไรติดขัด แต่เรื่องที่จะต้องมาหารือกันคือเรื่องวงโครจร และคลื่นความถี่จะต้องมีการประมูลหรือไม่ ซึ่งยังมีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับองค์ประกอบวงโคจร และคลื่นความถี่ที่ได้มาเนื่องจากวงโครจร และคลื่นความถี่ไม่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย แต่วงโคจรและคลื่นความถี่นี้อยู่ภายใต้กติกาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างประเทศ

ส่วนความเห็นของนักวิชาการในงานเสวนาเรื่อง ข้อพิจารณาด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2557 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย ได้แก่ 1. เรื่องการให้บริการดาวเทียมสื่อสารมีการใช้คลื่นความถี่ และเรื่องคลื่นความถี่กับตำแหน่งวงโครจรที่เป็นสิ่งควบคู่กัน โดยในมุมมองทางกฎหมายของไอทียูให้น้ำหนักกับคลื่นความถี่ และเป็นผู้ให้การรับรองสิทธิในการตกลงแบ่งสรรการใช้คลื่นความถี่ของประเทศต่างๆ 2. ผู้ให้บริการที่สถานีภาคพื้นดินไม่ควรเป็นผู้มีหน้าที่ประมูลคลื่นความถี่ที่กำหนดในมาตรา 45 ภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) 3. การออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมควรออกเป็นรายฉบับสำหรับดาวเทียมแต่ละตำแหน่ง

ทั้งนี้ นายธานีรัตน์กล่าวว่า กสทช.มีหน้าที่คือ 1. พิจารณาออกใบอนญาตและกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่ครอบคลุมถึงการใช้คลื่นความถี่ สื่อสารผ่านดาวเทียมภายในประเทศ ตามมาตรา 27 (4) พ.ร.บ.กสทช. 2. ประสานงานคลื่นความถี่ทั้งในและนอกประเทศตามข้อบังคับไอทียู มาตรา 27 (14) พ.ร.บ.กสทช.

ดังนั้น การใช้งานวงโครจรและคลื่นความถี่ในอวกาศไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้ประกอบการดาวเทียมไม่ได้ขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ภายในประเทศจาก กสทช. จึงไม่ต้องดำเนินการประมูลตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.กสทช.

ขณะที่การใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการในภาคพื้นดิน จะถูกดำเนินการโดยผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสาร หรือ Satellite Provider ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีภาคพื้นดินและเป็นผู้ให้บริการอัปลิงก์ (Uplink) และดาวน์ลิงก์ (Down Link) ซึ่งหากไม่มีการส่งสัญญาณอัปลิงก์จากสถานีภาคพื้นดินแล้ว การใช้งานคลื่นความถี่ในการให้บริการจะไม่เกิด ดังนั้น ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารที่เป็นเจ้าของสถานีภาคพื้นดินถือเป็นผู้ใช้คลื่นความถี่โดยตรงในการให้บริการ และจะต้องดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.กสทช.

นอกจากนี้ กิจการที่ใช้คลื่นความถี่ของสถานีภาคพื้นดินจะต้องประมูลคลื่นความถี่เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันผู้ที่ให้บริการอัปลิงก์ผ่านดาวเทียมสื่อสาร เช่น บริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม และรถส่งสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดินเคลื่อนที่ (โอบี), การให้บริการจัดเรียงช่อง (OTA) ที่ปัจจุบัน บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้บริการอยู่

“ปัจจุบันคลื่นความถี่ภาคพื้นดินในหลายประเทศไม่ได้นำมาประมูล แต่เนื่องจากกฎหมายไทยกำหนดไว้ว่าคลื่นความถี่ทุกคลื่นจะต้องนำมาจัดประมูลตาม พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งในตอนนี้คณะอนุฯ เตรียมที่จะเสนอแนวคิดการจัดทำกฎหมายเฉพาะ หรือ พ.ร.บ.กิจการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ....”

Company Relate Link :
ThaiCom
กำลังโหลดความคิดเห็น