xs
xsm
sm
md
lg

2 กทค.ลั่นนโยบายปี 2557(Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.ในฐานะประธานกทค.
ในปี 2556 ที่ผ่านมา ผลงานเด่นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องการแจกใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ใบอนุญาต อีกทั้งยังเป็นแรง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม ตลอดจนการพัฒนาคอนเทนท์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ส่วนในปี 2557 นี้กทค.วางแผนที่จะผลักดันให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz พร้อมกันในช่วงปลายปีโดยจะเรียกเทคโนโลยีดังกล่าวว่า 4G LTE Advanced รวมไปถึงนโยบายในด้านต่างๆที่สำคัญ หรือเป็นการสานต่อก็ตาม อาทิ การนำความถี่ในย่านต่างๆมาใช้ประโยชน์ ,การเตรียมสะสางกฏระเบียบในกิจการดาวเทียมสื่อสาร และการเคลียร์ปมกรณีคลื่นความถี่ 700 MHz ให้แล้วเสร็จด้วย

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช.ในฐานะประธานกทค.ระบุว่าทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายในฝั่งกิจการโทรคมนาคมสำหรับปี 2557 มีอยู่หลายเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการเตรียมแผนจัดทำโรดแมปการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมหรือ 5 Years Spectrum Roadmap Thailand เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการคลื่นความถี่วิทยุของประเทศ

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งทางคณะกรรมการได้ให้นโยบายกับคณะผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียในการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งในรูปแบบการจัดประมูลแยก หรือจัดประมูลพร้อมกันทั้ง 2 คลื่นความถี่ หรือจัดประมูลในรูปแบบอื่นๆ มาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และจัดทำหลักหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ เพื่อตอบสนองเทคโนโลยี LTE และ LTE Advanced ต่อไป รวมไปถึงการประเมินการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อรองรับบรอดแบนด์ไร้สายในอนาคต

ทั้งนี้ในเบื้องต้นกทค.คาดว่าจะเลือกใช้เทคโนโลยี LTE Advanced เนื่องจากปัจจุบันปัญหาใหญ่ของการก้าวไปสู่ 4G LTE นั้นจะต้องมีคลื่นความถี่ที่ติดกันในย่านเดียวกันถึงจะมีศักยภาพการให้บริการที่เต็มประสิทธิภาพ แต่พอมาในยุคหลังจาก LTE มาเป็น LTE Advanced (4.5G) และ LTE B, LTE C เทคโนโลยีเริ่มเปิดให้สามารถนำคลื่นความถี่หลายความถี่ เช่น ความถี่ 900 MHz, 1800 MHz, 2.1 GHz และ 2.3 GHz มาหลอมรวมกันได้ภายใต้เทคโนโลยีเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องเป็นความถี่ติดกัน หรือย่านความถี่เดียวกันนำมาหลอมรวมกันได้ภายใต้เทคโนโลยีเดียวได้ และยังสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดเหนือกว่า 1Gbps เทคโนโลยีดังกล่าวจึงเหมาะสมต่อประเทศไทยมากที่สุด

*** นำความถี่ย่านต่างๆมาใช้ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้อีกนโยบายหนึ่งที่ต้องผลักดันคือการนำเอาความถี่ย่าน E-Band (70 - 80 GHz) และความถี่ย่าน V-Band (60 GHz) เพื่อนำมาใช้งานเป็น Fixed Link สำหรับเป็น Back Haul ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ ใช้งานเป็นเครือข่ายภายในองค์กรต่างๆ และนอกจากกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่จะต้องใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการแล้ว ในกิจการประเภทอื่นๆ ก็จำเป็นจะต้องใช้คลื่นความถี่เข้ามาช่วยสนับสนุนในกิจการเช่นเดียวกัน อย่างเช่น การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยการใช้คลื่นความถี่สำหรับควบคุมการจราจร และรักษาความปลอดภัยของระบบราง หรือ GSM-R ทั้งนี้การทำระบบรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศจำเป็นต้องวางระบบ GSM-R โดย ใช้ความถี่ย่านเดียวกัน เพื่อให้สามารถทำงานกันได้อย่างต่อเนื่องกัน เนื่องจากปัจจุบันการสื่อสารระบบรางของประเทศไทยมีใช้หลายระบบปนกันอยู่

อีกทั้งระบบการขนส่งอัจฉริยะ ITS (Intelligent Transport System) ซึ่งเป็น ระบบที่หลอมรวมเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคม มาผสมผสานให้เกิดการประยุกต์ใช้งาน และ การกำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่ด้านภารกิจเพื่อการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ตามกรอบแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ส่งผลให้ กทค. ต้องพิจารณาเตรียมคลื่นความถี่วิทยุเพื่อรองรับระบบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย
สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
***สานต่อนโยบายที่ค้างคาใน กทค.

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่าขณะที่นโยบายอื่นๆที่ กทค. กำลังจะดำเนินงานอยู่ในตอนนี้ ได้แก่ การทำแผนของกิจการโทรคมนาคมสำหรับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, แนวทางการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม, แนวทางการกำกับดูแลกิจการเคเบิลระหว่างประเทศทั้งภาคพื้นดินและภาคใต้ทะเล, แนวทางการปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลราคาค่าบริการ (Price Regulation) จากแนวทาง Rate of Return (ROR) ไปสู่แนวทาง Price Cap, การเตรียมพร้อมรองรับการกำกับดูแลเพื่อรองรับเทคโนโลยี NFV(Network Function Virtualization), นโยบายการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ประเทศไทยเป็น Hub ของภูมิภาค และการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอินเทอร์เน็ตชุมชน (Community Broadband) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพัฒนา และดูแลรักษาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยตนเอง รวมถึงนโยบายการตรวจสอบคุณภาพการให้บริการที่ กทค. ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการรักษาระดับคุณภาพในการให้บริการ

ขณะเดียวกันในปี 2557 นี้ กทค. จะให้ความสำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสำนักงาน กสทช.ได้ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านกิจการโทรคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริม และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เข้าใจในบริบทการบริหารคลื่นความถี่ การใช้ประโยชน์คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม จะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนด้านโทรคมนาคมของ ประเทศไทย

รวมไปถึงการสนับสนุนส่งเสริมสิทธิในการติดต่อสื่อสาร และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งทาง กทค.โดยคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะได้ลงไปในพื้นที่จริงเพื่อรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อจะได้นำเอาข้อมูลสารสนเทศมาปรับปรุงในการทำงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของชาติให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

'เราเน้นหนักในเรื่องการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งในห้วงปีที่ผ่านมาได้เกิดสิ่งเริ่มต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการสื่อสารของประเทศ โดยการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานเข้าสู่ระบบใบอนุญาต โดยมี กสทช. เป็น หน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด และเกิดการพัฒนากิจการโทรคมนาคมสื่อสารของประเทศไทยให้มีความทันสมัยสอด คล้องกับวิวัฒนาการของโลกท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในระดับสากลต่อไปใน อนาคต'

ด้านสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย ในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆที่ประธานบอร์ดกทค.ให้ไว้เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญรอบด้านในเรื่องข้อกฏหมายโทรคมนาคม และกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่าในปี 2557 นี้จะเดินหน้าสร้างความชัดเจนประเด็นข้อกฎหมายด้านดาวเทียมสื่อสาร ในทางปฏิบัติที่จะต้องเร่งสะสางปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในตอนนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553กำหนดให้กิจการดาวเทียมสื่อสารอยู่ในคำจำกัดความของกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีบทบัญญัติในส่วนรายละเอียดว่าจะกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารอย่างไร ทำให้การพิจารณาอนุญาตกิจการดาวเทียมสื่อสารต้องไปอิงกับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งไม่ได้บัญญัติครอบคลุมกิจการดาวเทียมสื่อสาร แม้แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือการให้คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ ดาวเทียมสื่อสาร ยกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตกิจการดาวเทียมสื่อสาร ก็เป็นเพียงมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวย่อมมีข้อจำกัดที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ไม่ได้รองรับกิจการดาวเทียมสื่อสารส่งผลให้รัฐไม่สามารถเข้ามากำกับดูแล โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม และการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารในกรณีที่ไม่มีการใช้คลื่นความถี่ว่าจะกำกับดูแลในส่วนของการประกอบกิจการอย่างไรจึงจะเหมาะสม และทำให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดอ่อนในเรื่องนี้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยอาศัยการออกประกาศ ที่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่าพระราชบัญญัติ

โดยในระยะยาวต้องพิจารณาว่า จำเป็นจะต้องยกร่าง พ.ร.บ.ดาวเทียม เพื่อบังคับใช้เป็นการเฉพาะ หรือสมควรจะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อทำให้การกำกับดูแลกิจการดาวเทียมมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

*** เร่งเคลียร์ปมความถี่ 700MHz

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่กทค.ต้องเร่งสร้างความชัดเจนคือการใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ให้มีความสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ได้ปรับตารางการใช้คลื่นความถี่ย่านนี้ตามกติกาสากลเพื่อใช้กับกิจการโทรคมนาคม ขณะที่ไทยยังใช้กับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นจะต้องทบทวนตารางคลื่นความถี่เพื่อให้เป็นไปตาม กฎ กติกา สากล และป้องกันมิให้เกิดข้อพิพาทเรื่องปัญหาคลื่นรบกวนประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ตลอดจนเพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ จากการใช้ประโยชน์มหาศาลจากคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่เวที AEC ที่จะมีขึ้นในปี 2558 นั้นชาติสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องร่วมมือกำหนดนโยบายโทรคมนาคมอาเซียนที่ เป็นระบบ เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาระบบโทรคมนาคมและการสื่อสารของอาเซียนเป็นไปในทิศทาง ที่สอดคล้องกัน ทั้งยังจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อรองรับข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการที่อยู่คนละประเทศ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การตั้งศูนย์ระงับข้อพิพาททางด้านโทรคมนาคมในอาเซียนต่อไป

Company Related Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น