กลายเป็นเรื่องร้อนอีกวาระหนึ่งของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในการออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสาร หลังคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสาร ที่มีธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ เป็นประธานสรุปร่างหลักเกณฑ์เบื้องต้น โดยเฉพาะในประเด็นดาวเทียมไทยคม 8 ที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลวงโคจร หรือ ประมูลคลื่นความถี่
คำถามที่ตามมา หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาว่า 1.เป็นการเอื้อให้เกิดการผูกขาดให้บริการดาวเทียมสื่อสารของบริษัท ไทยคมเพียงรายเดียวหรือไม่ เพราะไทยคมทำหนังสือถึงกสทช.ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2556เพื่อเพิ่มบริการโครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3หรือการยิงดาวเทียมไทยคม 8 ในปี 2558และ2.ทำไมถึงไม่เปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมที่ปัจจุบันไทยได้รับการจัดสรรจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) 6 ตำแหน่ง เพราะการเปิดประมูลวงโคจรดังกล่าวยังจะเป็นการเปิดเสรีกิจการดาวเทียม โดยเป็นการให้เอกชนรายอื่นๆสามารถให้บริการดาวเทียมได้ นอกเหนือจากไทยคม นอกจากนี้ 3.การใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นไปเพื่อการสื่อสารซึ่งมีการใช้คลื่นความถี่ ดังนั้น ต้องเปิดประมูลตามมาตรา 45 พ.ร.บ. กสทช.2553 ที่กำหนดให้คลื่นความถี่ต้องจัดสรรด้วยการเปิดประมูลเท่านั้น
คำตอบของ ธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ประธานอนุกรรมการฯ ชี้แจงว่า แม้ไทยจะได้รับสิทธิ์ในวงโคจรดาวเทียมจากไอทียู แต่วงโคจรดาวเทียมเป็นเรื่องของการประสานงานคลื่นความถี่ระหว่างประเทศ ดังนั้นอย่ายึดติดกับ พ.ร.บ.กสทช. ที่กำหนดว่าคลื่นความถี่ทั้งหมดต้องเปิดประมูลเท่านั้น
'ต้องเข้าใจว่าวงโคจรไม่ใช่ทะเบียนบ้านที่จะมีสิทธิแจก หรือว่าทำอะไรได้ง่ายๆ ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่าไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการแข่งขันเสรี '
ทั้งนี้กสทช. อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประชาพิจารณ์ ร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. ... โดยจะเชิญไอทียูมาอธิบายและทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆทั้งหมดด้วย
สำหรับเรื่องวงโคจรนั้นปัจจุบันไทยมีสิทธิ์ในวงโคจร 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 50.5 ,78.5 ,119.5 ,120 ,126 และ 142 องศาตะวันออก โดยไทยคมมีสิทธิ์ใช้วงโคจร 4 ตำแหน่ง คือ 50.5 ,78.5 ,119.5 และ 120 องศาตะวันออกขณะที่อีก 2 ตำแหน่งที่เหลือยังไม่เคยมีการใช้งานดาวเทียม เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ครอบคลุมบริเวณมหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก จึงต้องใช้งบลงทุนสูงในการสร้างสถานีรับส่งภาคพื้นดินในบริเวณกลางทะเล
หากจะขยายความสิ่งที่ประธานอนุกรรมการฯชี้แจงว่าทำไมวิธีการประมูลวงโคจรหรือประมูลความถี่ไม่เหมาะจะนำมาใช้กับธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไทย สามารถอธิบายได้ดังนี้ 1.ตำแหน่งวงโคจร ไม่ได้เป็นสิทธิเด็ดขาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องไปประสานงานในไอทียูกับประเทศอื่นๆ ที่มีความต้องการใช้วงโคจรนั้นๆ โดยประเทศที่ต้องการใช้ตำแหน่งวงโคจรใดๆ ผู้ประกอบการโดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบจะต้องส่งเอกสาร หรือ Filing แจ้งความต้องการไปยังไอทียู สำหรับในไทยจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ส่ง Filing ซึ่งถ้าหากประสานงานสำเร็จ จึงจะใช้ตำแหน่งวงโคจรนั้นๆได้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถใช้การประมูลได้ในทางปฎิบัติจริง
ที่สำคัญวงโคจรเป็นลักษณะ Make Available หรือ หมายถึง สิทธิในวงโคจรยังไม่มี แต่ต้องไปทำให้มันมีขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันไทยไม่มีวงโคจรเหลือแล้วที่มีตามสัมปทานเดิมก็ใช้ไปแล้ว ประเทศไทยไม่ได้มีวงโคจรเป็นทรัพยากรที่จะเอามาประมูลกันได้ ดังนั้นวงโคจรเป็นสิ่งที่ต้อง Make Available โดยรีบไปจองเพิ่มที่ไอทียู แล้วประสานงานกับต่างประเทศตามกระบวนการ ซึ่งในเรื่องการประมูลนั้นบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามประมูลวงโคจรด้วยซ้ำ
2.ในกิจการดาวเทียมต้องประมูลความถี่ตามมาตรา 45 หรือไม่ หากพิจารณาตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บอกว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีอำนาจอยู่ภายใต้ของเขตอธิปไตยของประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นทรัพยกรของชาติและประเทศไทยมีสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่วงโคจรและคลื่นความถี่ในอวกาศ ไม่ได้เป็นสิทธิขาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นทรัพยากรร่วมของทุกประเทศที่มีสิทธิใช้งานเท่าเทียมกันตามธรรมนูญของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU Constitution) และกฎข้อบังคับวิทยุ (ITU Radio Regulations) ข้อ 0.3 (Preamble) ทำให้อำนาจกสทช.ตามกฎหมายนั้น ไม่ครอบคลุมถึงการจัดสรรวงโคจร
'ดังนั้นวงโคจรกับคลื่นความถี่ในอวกาศจึงอยู่นอกเหนืออำนาจของกสทช.ตามมาตรา 45 ไม่สามารถนำมาใช้บังคับเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ในอวกาศด้วยวิธีการประมูลได้'
ส่วนที่จะถูกบังคับให้ต้องมีการประมูลความถี่ตามมาตรา 45 คือ ผู้ประกอบการอัปลิงค์และดาวน์ลิงค์ ที่ภาคพื้นดินในประเทศไทยแต่ก็มีปัญหาในทางปฎิบัติเพราะความถี่ดาวเทียมเป็นความถี่มาตรฐานใช้ซ้ำกันทุกราย ไม่สามารถจัดสรรสิทธิขาดได้ ต่างจากความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่กสทช.จัดประมูลก่อนหน้านี้ เพราะเป็นความถี่ที่แยกสิทธิเด็ดขาดในการใช้งานของโอเปอเรเตอร์แต่ละราย
ในเรื่องประเด็นที่มักถูกกล่าวหาว่าธุรกิจดาวเทียมสื่อสารนั้นเป็นธุรกิจผูกขาดโดยบริษัท ไทยคมแต่เพียงผู้เดียวนั้น ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากในช่วงแรกไทยคมได้รับสัมปทานผูกขาดให้บริการรายเดียวเพียง 8 ปี ซึ่งความคุ้มครองดังกล่าวสิ้นสุดไปนานแล้ว ปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาต หากใครสนใจที่จะให้บริการดาวเทียมสื่อสารเพื่อแข่งกับไทยคม ก็สามารถไปขอใบอนุญาตจากกสทช.ได้ทันที
แต่ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ เป็นเพราะดาวเทียมสื่อสารเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูง ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหากประสานงานวงโคจรไม่สำเร็จ ก็ไม่สามารถยิงดาวเทียมได้ และยังมีความเสี่ยงจากการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วย อย่างไรก็ตามใช่ว่าไทยคมจะไร้คู่แข่ง เพราะทุกวันนี้ไทยคมต้องแข่งกับดาวเทียมต่างประเทศที่มีฟุตพรินท์หรือพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทับซ้อนกับไทยคม
ส่วนเหตุผลที่กสทช.ควรอนุญาตให้จัดส่งไทยคม 8 ในตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก โดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูลวงโคจรนั้น เป็นเพราะตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออกนั้นปัจจุบันที่ดาวเทียมไทยคม 5 กับไทยคม 6 ใช้งานอยู่แล้ว การจัดส่งดาวเทียมอีกดวงเพื่อไปใช้วงโคจรร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคอย่างสูง เพื่อให้ดาวเทียม 3 ดวงอยู่ในตำแหน่งวงโคจรเดียวกัน
อีกทั้งทุกวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีสิทธิใช้ดาวเทียมไทยคม 8 ที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก เพราะต้องไปประสานงานวงโคจรกับประเทศอื่นๆให้สำเร็จจึงจะใช้งานได้ เพราะไทยไม่เคยมีสิทธิอยู่แต่เดิม ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของไทยคมในการประสานงานกับวงโคจรประเทศอื่นให้สำเร็จ เนื่องจากสิทธิในวงโคจร เป็นสิทธิเฉพาะสำหรับดาวเทียมแต่ละดวงที่ประสานงานวงโคจรสำเร็จ อย่าง ไทยคม 5 กับไทยคม 6 ก็ประสานงานที่ตำแหน่าง 78.5 องศาตะวันออกสำเร็จแล้ว แต่ถ้าจะมีไทยคม 8 ก็ต้องเริ่มประสานงานใหม่ ไม่สามารถใช้ได้ทันที
ทั้งนี้ไทยคมได้ส่งหนังสือลงวันที่ 21 มกราคม 2557 ไปยังกสทช.เพื่อขอให้เร่งรัดพิจารณาอนุญาตไทยคม 8 โดยอ้างเหตุผลสำคัญว่าไทยคม 8 จะทำให้ประเทศไทยมีช่องสัญญาณของดาวเทียมของไทยใช้งานเพียงพอ เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ต่ออุตสาหกรรมบรอดคาสต์ ต่อประชาชนผู้ใช้งาน และต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของ กสทช. เกี่ยวกับ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must carry) ในการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการมีช่องสัญญาณเพียงพอจะส่งผลให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ผู้ประกอบการสื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงประชาชนทั่วประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากช่องสัญญาณดาวเทียม
หากไม่สามารถดำเนินโครงการไทยคม 8 หรือถูกชะลอให้ล่าช้าออกไป ประเทศไทยก็จะไม่มีช่องสัญญาณดาวเทียมของไทยเองเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการให้บริการในกิจการโทรทัศน์ในระบบภาพความละเอียดสูง (High Definition) ซึ่งต้องใช้ แบนด์วิธมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ทั้งในส่วนของช่องโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินและช่องรายการอื่นๆ ในระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมบรอดคาสต์ของประเทศ
นอกจากนั้นการที่ไม่มีช่องสัญญานดาวเทียมของไทยเพียงพอ ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการในประเทศ เช่น ช่องโทรทัศน์ดาวเทียมต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องหันไปใช้บริการจากดาวเทียมต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีผู้ประกอบการไทยบางส่วนหันไปใช้ดาวเทียมต่างประเทศบ้างแล้ว โดยผู้ประกอบการดาวเทียมต่างประเทศเหล่านั้น ไม่ได้เป็นบริษัทไทย ไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ไม่ต้องจ่ายภาษี หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยไม่สามารถกำกับดูแลได้ ส่งผลกระทบและเป็นความเสียหายต่อประเทศอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ไทยคมมีแผนจะจัดส่งดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นให้บริการภายในปลายปี 2558 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในประเทศให้ทันท่วงที ดาวเทียมแต่ละดวงใช้เวลาในการจัดสร้างและจัดส่งอย่างน้อย 2 ปี และในกรณีของดาวเทียมไทยคม 8 นี้มีข้อจำกัดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่สามารถจะจองกำหนดการยิงดาวเทียมจากบริษัทผู้จัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร (Launcher) หากพลาดกำหนดการยิงดาวเทียมในช่วงปลายปี 2558 ไปแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเลื่อนกำหนดการยิงออกไปอีกโดยยังไม่มีกำหนดแน่นอน ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศโดยภาพรวมอย่างยิ่ง
'ขณะนี้มีประเทศที่ส่งเอกสารจองวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก (หรือใกล้เคียง) แล้วหลายประเทศ เช่น รัสเซีย จีน อินเดีย มาเลเซีย หากประเทศไทยดำเนินการไทยคม 8 ช้า ก็มีโอกาสที่ไทยจะถูกประเทศอื่นแย่งสิทธิการใช้งานไป'
ส่วนกรณีหากอยากให้มีผู้ประกอบการรายใหม่นอกจากไทยคม กระทรวงไอซีทีและกสทช.ต้องช่วยกันทำให้กระบวนการต่างๆเป็นไปอย่างสะดวก ออกใบอนุญาตอย่างรวดเร็ว สนับสนุนให้มีการส่ง Filing จำนวนมากเพื่อประเทศจะได้มีวงโคจรเพิ่ม และมีดาวเทียมมากขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศต่อไป
Company Related Link :
ไทยคม