xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดันเอกชนผลิต “จุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ” ในระดับอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สวทช. - มหิดล โชว์ความสำเร็จนำนวัตกรรมจุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ บ่อเกิดโรคร้าย อาทิ โรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น พร้อมผลักดันให้เอกชนผลิตในระดับอุตสาหกรรม จำหน่ายในต้นทุนที่ต่ำ หวังช่วยประชาชนป้องกันโรคร้ายที่เกิดจากยุงและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. สนับสนุน มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตและทดสอบเชื้อจุลินทรีย์ กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ สูตรน้ำภายใต้ ความมร่วมมือในการดำเนินงานกับภาคเอกชน กรมควบคุมโรคและกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อปี 2554 สวทช.ได้ร่วมฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัย และดำเนินการร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ทดสอบจุลินทรีย์ Bs สูตรน้ำ ในระดับห้องปฏิบัติการ และ ภาคสนามในพื้นที่ประสบภัยยและพื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัดทั้งในจังหวัดปทุมธานี , พระนครศรีอยุธยา และ กรุงเทพมหานคร

“จากผลการทดสอบด้วยการฉีดพ่นจุลินทรีย์หลังจากนั้น พบว่าภายในพื้นที่น้ำขังไม่เกิน 10 ตารางเมตร เมื่อผสมจุลินทรีย์ Bs ร่วมกับจุลินทรีย์ Bti ที่มีฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงลาย ในอัตราส่วนที่เท่ากันปริมาณ 1 ลิตร ช่วยกำจัดลูกน้ำยุงได้ทั้งหมดภายใน 2 วัน และมีประสิทธิภาพในการควบคุมจำนวนลูกน้ำได้มากกว่า 2 สัปดาห์ และจากระยะการทดลองและทดสอบกว่า 2 ปี จึงได้ผลการทดสอบมีประสิทธิภาพอย่างมากและพร้อมถ่ายทอดนวัตกรรมจุลินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงรำคาญให้ภาคเอกชนนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สวทช.และ ม.มหิดล เห็นชอบร่วมกันที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่ บริษัท ทีเอฟไอกรีน ไบโอเทค ที่มีเทคโนโลยีการผลิตเชื้อแบคทีเรีย Bti อยู่แต่เดิม ได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมลูกน้ำยุงรำคาญ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดย สวทช.และ มหาวิทยาลัยมหิดล จะสนับสนุนข้อมูลทางด้านเทคนิคและความช่วยเหลือในด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ ต่อไป

ในส่วนของ นายชาลี ชินธรรมมิตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีเอฟไอ.กรีนไบโอเทค กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความสำคัญของงานวิจัยจากหน่วยงานของรัฐสู่เอกชน ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในการถ่ายทอดเทคโนโลยีในหลาย ๆ หน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล, สวทช., ไบโอเทค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

“บริษัทมีความพร้อมในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยมีกำลังการผลิตสูงสุด 10,000 ลิตรต่อสัปดาห์ รวมทั้งมีการพัฒนาสูตรผสมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการใช้งาน ราคาถูก และมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต” นายชาลีกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น