xs
xsm
sm
md
lg

แนะใช้จุลินทรีย์ปลูกผัก ปลอดภัยทั้งคนกินคนปลูก ช่วยอัปราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสมาคมตลาดสดห่วงสารปนเปื้อนในผักสด ระบุตลาดเป็นปลายทาง ต้องแก้ไขตั้งแต่ตอนปลูก ตัวแทนธุรกิจตลาดเสนอเกษตรกรใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคและแมลง ยันไม่มีสารตกค้าง ปลอดภัยทั้งคนกินและคนปลูก แถมต้นทุนถูกรวมกลุ่มซื้อเหลือลิตรละ 12 บาท สมาคมค้าปลีกชี้อาหารปลอดภัยช่วยอัปราคาได้

วันนี้ (27 มี.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว นายปริญญา ธรรมวัฒนะ นายกสมาคมตลาดสดไทย กล่าวในการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาสถานที่จำหน่ายผักสดปลอดภัย ก้าวต่อไปของตลาดผักปลอดภัย” ในโครงการตลาดสดปลอดภัยส่งเสริมคนไทยสุขภาพดี ภายใต้ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (สายสืบผักสดรีเทิร์น)” จัดโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า อาหารปลอดภัยเป็นจุดมุ่งหมายของสมาคม แต่สิ่งที่หนักใจที่สุดคือ ผักสด เพราะตลาดเป็นปลายน้ำ การตรวจสอบสารเคมีเป็นไปได้ยาก ต่างจากอาหารอื่นที่หากมีการใส่สารปลอมปน เช่น บอแร็กซ์ สารฟอกขาว สารเร่งเนื้อแดง จะมีชุดตรวจและรู้ได้ทันทีว่ามีการปลอมปนและใครเป็นคนเติม การแก้ไขต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ กระบวนการที่จะทำให้อาหารปลอดภัยก็ต้องทำทั้งระบบ ผู้บริโภคต้องตื่นตัวในการเรื่องการบริโภคเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองให้ได้รับอาหารปลอดภัยมาตรฐานเดียวกับการส่งออก ภาครัฐต้องสร้างมาตรฐานและสนับสนุนเกษตรกร

น.ส.จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้แทนสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่า การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรไทยจำเป็นต้องตื่นตัวและปรับปรุงคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัย จะทำให้ประชาชนได้บริโภคของที่มีคุณภาพและยกระดับราคาสินค้าตนเองได้ เพราะการเปิดเออีซีทำให้การไหลเข้าของสินค้าราคาถูกเกิดขึ้นจำนวนมาก การปลูกแบบมีคุณภาพจะทำให้ผู้บริโภคที่ห่วงความปลอดภัยหันมาซื้อสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งจะต้องทำไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคให้ใส่ใจสุขภาพของตนเองเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้ค้าปลีกได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น

ด้าน นายธนะพล พัฒนา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการผลิต ตลาดศรีเมือง (แม็คโคร) กล่าวว่า ธุรกิจได้ทำตลาดกลางค้าผัก ผลไม้ มาเป็นเวลานาน มีผักผลไม้ผ่านเข้ามา 3,500-4,000 ตันต่อวัน โดยจะมีศูนย์ตรวจสอบเป็นของตัวเอง เพื่อสุ่มตรวจสอบสินค้า และรับบริการพ่อค้าแม่ค้าที่จะตรวจก่อนนำส่ง โดยจะสุ่มตรวจตัวอย่าง 80 ตัวอย่างต่อวัน ประมาณหมื่นตัวอย่างต่อปี พบสินค้าที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 1% โดยเมื่อพบสินค้าไม่ปลอดภัยก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยให้หาสาเหตุและให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังมีการให้การอบรมผู้ประกอบการเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรมีทางเลือกในการทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีได้มาก ทั้งการควบคุมโรค ควบคุมแมลง โดยใช้จุลินทรีย์​ ซึ่งทำให้ไม่มีสารตกค้างในสินค้าและตัวเกษตรกร เมื่อสุ่มตรวจและติดตามพบว่า ใน จ.ราชบุรี ที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน พบว่าผลผลิตใน จ.ราชบุรี ตรวจพบสินค้าไม่ปลอดภัยไม่เกิน 1%

วิธีการใช้จุลินทรีย์ปัจจุบันมีความสะดวกมากขึ้น ต้นทุนของการใช้สารเคมีอยู่ที่ 6,000-10,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่การใช้เชื้อจุลินทรีย์จะอยู่ที่ราคาลิตรละ 400 บาท แต่หากมีการรวมกลุ่มกันจะทำให้เหลือเพียงลิตรละ 12 บาทได้ และยังพบว่ามีผู้ประผลิตเชื้อจุลินทรีย์มากขึ้นในราคาที่ถูกลง โดยการใช้จุลินทรีย์จะได้ผลดีเมื่อทำการเกษตรในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ และต้องหาความรู้ในการใช้เพื่อให้ได้ผลดี” นายธนะพล กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น